ป้อมพระสุเมรุ
ตั้งแต่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้เล่นจาก "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาเป็น "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ในตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดูเหมือนผลงานของรัฐบาลจะเริ่มมีชีวิตชีวามากขึ้น
ขณะที่ สมคิดก็ต้องแบกความคาดหวังมหาศาลจากประชาชนว่าจะเป็นผู้เล่นที่สามารถเปลี่ยนเกมของรัฐบาลให้กลับมาดูดีขึ้นได้ หลังก่อนหน้านี้ฟอร์มกระท่อนกระแท่น ผลงานด้านเศรษฐกิจ สำรวจทีไรติดลบ
พลันที่สมคิด รับตำแหน่ง วันแรกที่พาขุนพลทีมเศรษฐกิจเข้าทำงาน นำเครื่องถวาย ดอกไม้ ธูปเทียนสักการะเจ้าที่เจ้าทางในทำเนียบฯ แต่ดอกไม้ยังไม่ทันแห้งเหี่ยว ธูปเทียนยังไม่ทันดับ ก็ต้องเจอภาวะหุ้นร่วงกราวรูดเป็นประวัติศาสตร์ ฤกษ์ผานาทีที่ถือเคล็ดถือยาม แทบจะไม่มีความหมายอะไร
การเปิดใจครั้งแรกของสมคิด ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็โชว์วิสัยทัศน์เรื่องนโยบายทันที โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาให้“คนรากหญ้า” ซึ่งเป็นคำที่คุ้นหูมากสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พร้อมกับระบุด้วยว่า พร้อมจะปัดฝุ่นนโยบายเก่าที่เป็นของดี และพร้อมจะสานต่อนโยบายใหม่ ที่มีคุณภาพ
ความอหังการ์ของสมคิดในวันแรกของการทำงาน ส่งผลให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจและภาคประชาชน รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงได้ทันที
ต้องยอมรับว่า"บิ๊กตู่"ให้ความไว้วางใจกับสมคิด เป็นอย่างมาก ว่า จะเข้ามากู้วิกฤติด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลได้ เห็นได้จากการแบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีแต่ละคน ซึ่งเหมากระทรวงเศรษฐกิจไปให้หัวหอกด้านเศรษฐกิจคนใหม่ แบบเบ็ดเสร็จ
ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม แม้แต่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ กระทรวงการต่างประเทศ ที่ปกติมักจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง เป็นผู้กำกับดูแล แต่เที่ยวนี้ยกยอดไปให้อยู่กับสมคิดแบบเหมาเข่ง
มีเพียงกระทรวงพลังงาน และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) 2 กระทรวงสำคัญ ที่ “บิ๊กตู่”ขอเก็บเอาไว้ในความดูแลของทหาร โดยมอบหมายให้ “บิ๊กจิน”พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ดูแล เพื่อไม่ให้ไกลหูไกลตา
การมอบกระทรวงการต่างประเทศให้สมคิดกำกับ มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ ที่อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจยุครัฐบาล “นายใหญ่”พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความถนัด ตามยะพี่ห้อที่ร่ำลือกันว่า เป็น“นักการตลาด”ตัวยง
บิ๊กตู่ เปิดฟลอร์ให้สมคิดได้แสดงเต็มที่ และค่อนข้างให้อิสระในการตัดสินใจดำเนินการนโยบายต่างๆ พอสมควร เพราะเชื่อว่า น่าจะกอบกู้สถานการณ์ได้ เห็นได้จากการที่ให้สมคิดเป็นผู้เลือกทีมงานของตัวเองในด้านเศรษฐกิจทั้งหมด
ขณะที่ สมคิดเองก็รู้ว่า ตัวเองนั้นไม่มีเวลาฮันนีมูน การย่างท้าวลงเรือแป๊ะแบบเต็มตัว แบบไม่ต้องหลบอยู่หลังฉากเหมือนแต่ก่อน เป็นการเดิมพันที่สูงลิ่วกับชื่อเสียงที่ตัวเองสั่งสมมาตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย ที่ได้ชื่อว่า เป็นเสนาบดีที่มีผลงานลือลั่น ได้รับการยอมรับในแวดวงธุรกิจ จนถึงขั้นมีเสียงซุบซิบว่า“นายใหญ่”ยังแอบริษยา
ดูเหมือนสมคิด พยายามพา"จุดบอด" และ"ปัญหา" การบริหารงานด้านเศรษฐกิจในยุคหม่อมอุ๋ย ที่ทำให้คนรู้สึกว่า ไม่มีฝีมือ นั่นคือ รูปธรรมที่จับต้องได้ช้าเกินไปจนกลายเป็นไม่มีผลงาน มาประยุกต์ใหม่ ด้วยการเฟ้นนโยบายเฉพาะหน้า ที่เห็นผลได้รวดเร็ว
ตามคิวที่นัดทีมเศรษฐกิจเปิบ “โจ๊กคาร์บิเนต”กันตอนเช้า ที่ห้องทำงานตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อถกมาตรการในเช้าวันจันทร์ ก่อนที่วันอังคาร คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการ รวมวงเงิน 136,000 ล้านบาท
ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ด้วยการให้เงินกองทุนหมู่บ้านกู้จากรัฐบาล แล้วนำไปปล่อยกู้ต่อให้ผู้มีรายได้น้อย หรือเกษตรกรวงเงิน 60,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินมาจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คิดอัตราดอกเบี้ย 0% เป็นระยะเวลา 2 ปี
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชุน วงเงิน 36,000 ล้านบาท มีกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ โดยใช้จ่ายผ่านตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ อาทิ สร้างแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ดีขึ้น และมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบภาครัฐ โดยจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท ให้เร็วขึ้นภายในระยะเวลา 3 เดือนสุดท้าย ของปี 2558
ปัดฝุ่นโปรเจกต์กองทุนหมู่บ้านที่กระฉ่อนในยุค “ทักษิณ”กลับมาอีกครั้ง ภายใต้การบัญชาการจากอดีตขุนคลังคู่ใจ “นายใหญ่”จน “พิชัย นริพทะพันธุ์”อดีต รมว.พลังงาน หนึ่งในทีมงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ออกมาเหน็บแนมในทำนองลอกการบ้านประชานิยมแบบ“ทักษิโณมิกส์”
“รัฐบาลบิ๊กตู่”คงโดนค่อนขอดเหมือนกันว่า สุดท้ายก็ขว้างงูไม่พ้นคอ จากที่แอนตี้เข้าไส้ กับสารพัดนโยบายประชานิยม ที่มอมเมาประชาชนเพื่อคะแนนเสียง แถมมีเขียนไว้ในทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 และ ร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … ที่รอที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติว่า จะเห็นชอบหรือไม่ เพื่อกีดกัน แต่สุดท้ายตัวเองก็หยิบนำมาใช้
รัฐบาลเองก็รู้อยู่เต็มอกแต่แรกอยู่แล้วถึงเสียงตอบรับเหล่านี้ หากไปหยิบเอานโยบายประชานิยมมาปัดฝุ่น แต่เรื่องของเรื่องมันก็เลี่ยงไม่ได้ ในสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซากันทั่วโลก จึงต้องพึ่งอะไรที่ผลิดอก ออกผลได้เร็วมาใช้ไปก่อน เพื่อปั๊มผลงานด้านปากท้อง เรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมา
หลังจากเห็นมาแล้วว่า การหมางเมินนโยบายประชานิยมแบบสิ้นเชิง โดยใช้นโยบายที่มีประโยชน์ แต่เห็นผลในระยะยาวนั้น ไม่ทันใจ ไม่ถูกใจ ประชาชนในยุคนี้เท่าไหร่ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และเรื่องปากท้อง ไม่มีใครรอได้
กระนั้น “รัฐบาลบิ๊กตู่”ก็หัวหมอนิดๆ ด้วยการหา “จุดบอด”ของนโยบายประชานิยมเหล่านี้ ที่เคยเป็นช่องโหว่ในการคอร์รัปชัน มาหากลไกอุดเข้าไป โดยเฉพาะเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ที่ตีปี๊บกำชับว่า เงินที่ให้ไปจะต้องไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิดประสงค์ แต่ให้ใช้เพื่อสร้างตัวขึ้นมาใหม่ให้รอดพ้นจากช่วงเวลานี้ ตลอดจนไม่ได้ให้นำไปใช้ในสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ขณะเดียวกัน ยังสร้างกลไกตรวจสอบ ขันน็อต ให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านแต่ละแห่งทำงานอย่างเข้มข้น อย่าปล่อยให้มีการโกง
ปิดจุดอ่อนยุค “ทักษิณ”และรีแบนด์ใหม่ในยุค “บิ๊กตู่”ปรับโฉมนโยบายประชานิยม ให้เป็นมาตรการที่มีประโยชน์แบบไม่ต้องโกงกิน และยังรักษาระเบียบวินัยด้านการเงินการคลังได้มาใช้แก้วิกฤติให้ตัวเอง
เป็นเวอร์ชั่น “ประยุทธ์นิยม”โดย “สมคิด”ภูมิใจนำเสนอ
แต่จะไปรอดได้อย่างที่ตั้งใจเอาไว้หรือไม่ ยังต้องรอดู เพราะเริ่มมีหลายคนเป็นห่วงว่า จะคุมไม่อยู่ จนกลายเป็นการสร้างหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้นแทน