xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนหมู่บ้านฯ โคราชกว่า 3,000 แห่งมากสุดในประเทศ พร้อมรับเงินอัดฉีด ศก. 6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิไลวรรณ ไกรโสดา พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กองทุนหมู่บ้านฯ โคราชกว่า 3,000 แห่ง เงินกองทุนรวมกว่า 8,000 ล้านมากสุดในประเทศ พร้อมรับเงินกู้ปลอดดอก 2 ปีกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล ผ่านเม็ดเงินอัดฉีด 6 หมื่นล้านบาท เผยเร่งเตรียมพร้อมระบบการบริหารจัดการกองทุนและการทำบัญชี ขณะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเห็นด้วย เชื่อช่วยระบบเศรษฐกิจฐานราก แนะรัฐส่งเสริมการออมเพื่อความยั่งยืนด้วย

วันนี้ (3 ก.ย.) นายวิไลวรรณ ไกรโสดา พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้โครงการให้สินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานกองทุน กำหนดวงเงิน 60,000 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย 2 ปี โดยผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า ในฐานะเลขานุการของคณะอนุกรรมการติดตามและสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการเตรียมความพร้อมในส่วนกองทุนฯ เนื่องจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองศักยภาพไม่เท่าเทียมกัน เพื่อให้สามารถรองรับโครงการดังกล่าวของรัฐบาลได้

โดยจะดูเรื่องการบริหารจัดการกองทุนเป็นหลัก เพราะบางกองทุนมีต้นทุนเรื่องความรู้ความสามารถคณะกรรมการกองทุนเพียงพอในการต่อยอด ซึ่งการบริหารเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย คณะกรรมการกองทุนต้องมีศักยภาพในการที่จะวิเคราะห์ ในส่วนของกลุ่มสมาชิกกองทุนหมู่บ้านในส่วนกลุ่มที่ด้อยโอกาส ขณะนี้ทางสำนักงานพัฒนาชุมชุนจังหวัดฯ ได้ประสานไปยังอำเภอทั้ง 32 อำเภอของ จ.นครราชสีมา ในการเตรียมความพร้อมคณะกรรมการในเรื่องการฝึกอบรมการทำบัญชีเพื่อเป็นตัวตอบโจทย์ที่แสดงถึงธรรมาภิบาลในกลุ่ม

ด้าน นางอัจฉรา เคียงวิมลรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวอีกว่า จ.นครราชสีมามีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั้งสิ้นจำนวน 3,873 แห่ง มากที่สุดในประเทศ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแล้วจำนวน 3,870 กองทุน ที่ยังไม่สามารถจดทะเบียนได้มีจำนวน 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนหมู่บ้านหนองสองห้องเหนือ หมู่ 10 ต.หัวทะเล อ.เมืองนครราชสีมา, กองทุนชุมชนบานสก ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา และกองทุนหมู่บ้านโคกพัฒนา หมู่ 12 ต.ด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด ซึ่งมีปัญหาการทุจริตของคณะกรรมการกองทุน ขณะนี้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่ในชั้นศาล

สำหรับเม็ดเงินที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลนั้น แบ่งเป็นกองทุนละ 1 ล้านบาท ในปี 2544 มีจำนวน 3,873 กองทุน รวมเป็นเงิน 3,873 ล้านบาท ต่อมาได้มีโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระยะที่ 1 (ผลการประเมินการบริหารจัดการ AAA) กองทุนหมู่บ้านที่ได้รับการประเมิน AAA จำนวน 548 กองทุน เป็นเงินประมาณ 54,800,000 บาท โครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระยะที่ 2 ซึ่งให้การสนับสนุนตามขนาดของหมู่บ้าน SML มีกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับการเพิ่มทุนระยะที่ 2 จำนวน 3,786 กองทุน มีกองทุนที่ไม่ขอรับการสนับสนุนการเพิ่มทุนจำนวน 33 กองทุน รวมเป็นเงิน 858,600,000 บาท

ส่วนโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระยะที่ 3 (หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท) ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีกองทุนที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ระดับจังหวัดจำนวน 3,663 กองทุน มีกองทุนที่ยังไม่ขอรับการเพิ่มทุนระยะที่ 3 จำนวน 162 กองทุน ทั้งนี้ มีกองทุนที่ได้รับการจัดสรรการโอนเงินเพิ่มทุนแล้วจำนวน 8 ครั้ง 3,477 กองทุน คงเหลือยังไม่ได้รับการโอนเงินเพิ่มทุนและให้ทบทวนแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานจำนวน 154 กองทุน เป็นเงิน 3,477,000,000 บาท

รวมเงินกองทุนหมู่บ้านที่ จ.นครราชสีมาได้รับการจัดสรรทั้งหมดจนถึงปัจจุบันจำนวน 8,263,400,000 บาท ปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากตัวคณะกรรมการกองทุนฯ เองที่อาจนำเงินไปใช้หมุนเวียนส่วนตัว ส่วนการชำระเงินมีปัญหาน้อยมาก

ด้าน นางอุไร กฤษฎาชาตรี พนักงานพัฒนากองทุนหมู่บ้าน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สาขา 7 กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้าน จ.นครราชสีมา ที่เข้าหลักเกณฑ์ของรัฐบาลมีจำนวน 3,828 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนหมู่บ้านระดับ A จำนวน 1,444 กองทุน ได้คะแนนประเมิน 54-60 คะแนน กองทุนหมู่บ้านระดับ B จำนวน 1,710 กองทุน ได้คะแนนประเมิน 45-543 คะแนน กองทุนหมู่บ้านระดับ C มีจำนวน 532 กองทุน ได้คะแนน 33-44 คะแนน และกองทุนหมู่บ้าน D มีจำนวน 142 กองทุนได้คะแนนต่ำกว่า 33 ต้องปรับปรุง

ฉะนั้น กองทุนที่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลส่งเสริมนั้นจะเป็นกองทุนระดับ A และ B รวมทั้งสิ้น 3,154 กองทุน

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ ครั้งนี้ ในฐานะผู้ปฏิบัติและคลุกคลีอยู่กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังมีฐานะยากจน บางรายอาจกู้ไปประกอบอาชีพเสริมจากฤดูทำนา เช่น ขายของชำ หรือซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตร แต่อยากฝากให้รัฐบาลส่งเสริมการออมของประชาชนด้วยเพราะจะสร้างความเข้มแข็งให้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นางอุไรกล่าว
นางอุไร กฤษฎาชาตรี พนักงานพัฒนากองทุนหมู่บ้าน สนง.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สาขา 7
กำลังโหลดความคิดเห็น