xs
xsm
sm
md
lg

“วุฒิสาร” มั่นใจร่าง รธน.ผ่าน สปช.แน่ เหตุเพื่อให้ประเทศมีกติกาเดินหน้าต่อไปได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วุฒิสาร ตันไชย (แฟ้มภาพ)
กมธ.ยกร่างฯ เชื่อร่าง รธน.ผ่าน สปช.แน่เพราะจะทำให้ประเทศมีกติกาสามารถเดินต่อไปได้ อย่ามองมีผลประโยชน์ทับซ้อนเหตุรับ-ไม่รับ สปช.ทั้ง 250 คนก็ต้องหมดวาระ บอกอยู่ต่อเพื่อร่างกฎหมายลูก รับเบี้ยเลียง 6 พัน เลิกประชุม 5 ทุ่มไม่คุ้ม

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในระหว่างปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิรูปท้องถิ่น : ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 การกระจายอำนาจไทย” โดยแสดงความมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะมีการลงมติในวันที่ 6 กันยายนนี้ ไม่อยากให้มองเรื่องการลงมติแลกกับผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะไม่ว่าผลการลงมติจะออกมาอย่างไร สปช.ทั้ง 250 คนก็จะต้องหมดวาระลง ไม่เหมือนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่หาก สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะได้อยู่ต่อไป แต่นี่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดไว้ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สปช.ก็พ้นไปอยู่ดี แล้วจะเรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างไร แต่เห็นว่าการที่ สปช.ต้องรับร่างรัฐธรรมนูญก็เพื่อจะทำให้ประเทศชาติมีกติกาและทำให้ประเทศสามารถเดินไปต่อได้

“จะวิจารณ์อย่างไรแล้วแต่ ที่บอกว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนไม่ควรโหวตเพราะมีประโยชน์ทับซ้อน อยากอยู่ยกร่างกฎหมายประกอบรับธรรมนูญต่อ รับเบี้ยประชุมครั้งละ 6 พัน เงิน 6 พันอย่ามาพูดกับผมเลย ไม่อยากได้เลย เพราะต้องประชุมถึง 5 ทุ่มทุกวันไม่คุ้ม”

นายวุฒิสารยังระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงเจตนารมณ์เรื่องของการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะเชื่อเป็นสิ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ แม้จะยอมรับว่านายก อปท.หวังคะแนนเสียง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเขียนให้นายก อปท.ทำงานบริหารโดยคิดถึงประชาชน ในลักษณะของนักบริหารเมือง ที่ผ่านมานักการเมืองเข้ามาเป็นนายกฯ ก็จะดูแลคนที่เลือกตัวเอง แต่นักบริหารเมืองจะเป็นนายกฯ ของคนทั้งเมือง ดังนั้นจึงไม่ต้องตกใจที่จะมีการเปลี่ยนชื่อจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็น “องค์การบริหารท้องถิ่น” เพราะในอนาคตจะทำให้องค์กรท้องถิ่นทำงานร่วมกับทุกฝ่ายในลักษณะแนวราบ ทำงานบริหารเชิงพื้นที่ แต่ประเด็นสำคัญคือจะยังคงเจตนารมณ์ให้องค์กรดังกล่าวบริหารโดยอิสระ ตัดสินแก้ปัญหาเอง ขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่เพื่อให้สามารถทำงานได้มากขึ้นไม่ใช่แค่เก็บขยะ ดูดส้วม

รวมทั้งให้มีประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อเป็นหลักประเด็นว่าทำแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ โดยสาระสำคัญที่เกี่ยวกับท้องถิ่นจะอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 199-204 และการบริหารท้องถิ่นจะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่จะต้องดูตามดุลยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่โดยไม่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาล ก็จะทำให้ท้องถิ่นสามารถบริการสาธารณะได้อย่างหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น