xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” ชู รธน.ใหม่เหมาะสถานการณ์ปฏิรูป “กอบศักดิ์” โวทำ 2 พรรคใหญ่ปรองดอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“สปช.อลงกรณ์” ชี้รัฐธรรมนูญปฏิรูปจะคิดแบบเดิมไม่ได้ ต้องขับเคลื่อนให้สำเร็จ ชู 3 กรอบดำเนินการ เข้าใจพรรคค้าน คปป.แต่โยนตอบคำถามทำไมจึงรักษาประชาธิปไตยไว้ไม่ได้ เกิดคอร์รัปชัน แบ่งแยกประชาชน แถมไม่ทำตัวเป็นสถาบันการเมือง แฉบางพรรคมีคุณตาคุณปู่คุมไม่ให้พัฒนา รับตอบลำบากประชาธิปไตยกว่าปี 40 แต่เหมาะกับสถานการณ์แน่ ด้าน “สปช.กอบศักดิ์” มั่นใจเข้าสู่ระบบปกติความขัดแย้งหวน ต้องมีคนมาดูแลระหว่างทาง ยัน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่ได้เพิ่งถูกชง แต่เป็นวิวัฒนาการ โอ่ทำ ปชป.-พท.ปรองดอง ชู 3 เรื่องดี ชาติแข่งขันได้-ลดเหลื่อมล้ำ-ส.ส.เพิ่มงบไม่ได้

วันนี้ (31 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.20 น. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดกิจกรรมสัปดาห์แห่งการเรียนรู้ซึ่งมีการเสวนาเรื่อง “ขับเคลื่อนวาระปฏิรูปประเทศ” โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมบรรยาย โดยนายอลงกรณ์กล่าวตอนหนึ่งว่า เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่มีการปฏิรูปจะคิดแบบเดิมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของการปฏิรูปผ่านมาหลายยุคสมัยแต่ทุกฝ่ายไม่ลงมือปฏิบัติ บทเรียนในอดีตจึงสอนว่าถ้าจะขับเคลื่อนการปฏิรูปให้สำเร็จ ต้องมีพิมพ์เขียวแผนแม่บทปฏิรูปประเทศส่งมอบให้รัฐบาล ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ต้องมีรัฐบาลปฏิรูป และต้องมีช่วงเวลาของการปฏิรูป ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการปฏิรูปมีอยู่ 3 กรอบ คือ 1. เรื่องที่ปฏิรูปได้ทันที 2. เรื่องที่ปฏิรูปเสร็จได้ภายในวาระของ สปช. และ 3. เรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปฏิรูป ดังนั้น ช่วงเวลาของการปฏิรูปจึงไม่สามารถเขียนในรัฐธรรมนูญแบบปลายเปิดได้ เพราะจะถูกกล่าวหาว่ารองรับอำนาจรัฐประหาร

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ตนเข้าใจความรู้สึกของพรรคการเมือง ว่าเหตุใดจึงไม่เห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งมองได้ 2 มุม คือ 1. มุมการเมือง เพราะการที่มีรัฐบาลมีสภาจากการเลือกตั้งแล้วยังมีองค์กรที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เหนือรัฐบาล รัฐสภา หากมองในระบอบประชาธิปไตยพรรคการเมืองก็สามารถรู้สึกได้ และ 2. พรรคการเมืองคุ้นเคยกับการมีรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา มีองค์กรอิสระ ซึ่งเขามองว่าภารกิจการปฏิรูปเป็นของรัฐบาล ถ้าพรรคการเมือง มีความเป็นประชาธิปไตยเพียงพอคงรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ หากมีความซื่อสัตย์คงไม่เกิดการรัฐประหาร หากไม่แบ่งแยกประชาชนคงไม่เกิดการยึดอำนาจหลายครั้งหลายหน วันนี้พรรคการเมืองต้องตอบคำถามว่าที่ผ่านมาทำไมรักษาประชาธิปไตยไว้ไม่ได้ เหตุใดจึงเกิดการคอร์รัปชัน และเหตุใดจึงแบ่งแยกประชาชน ส่วนการบริหารราชการเหตุใดจึงไม่เกิดการปฏิรูป ทั้งที่ผ่านมาทุกพรรคมีการพูดถึงเรื่องนี้ ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาประชาธิปไตยมา 83 ปีแล้ว แต่ตกอยู่ในระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทน เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองทั้งหมด พรรคการเมืองยังไม่ใช่สถาบันการเมืองอย่างแท้จริง

“บางพรรคที่ดูจะเป็นสถาบันการเมืองก็ยังมีคุณตาคุณปู่คอยควบคุมอยู่ตลอดไม่เกิดการพัฒนา บางพรรคยังยืนอยู่ภายใต้ทุนทางการเมือง นักการเมืองติดกับดักตัวเองตกเป็นทาสของระบบ ทำให้ตกอยู่ในอิทธิพลของทุนการเมือง เพราะต้องแข่งขันเพื่อช่วงชิงชัยชนะ ดังนั้น การปฏิรูปต้องพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม พิมพ์เขียวเรื่องการปฏิรูปพรรคการเมืองจะช่วยให้นักการเมืองปลดแอกจากสภาพที่เป็นอยู่” นายอลงกรณ์กล่าว

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ เนื้อหารัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์สถานการณ์ทางการเมืองที่จะตามมาหลังจากรัฐธรรมนูญ เพราะช่วงนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ หากถามว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยมากกว่าปี 40 หรือเปล่าก็เป็นเรื่องที่ตอบลำบาก แต่ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งแตกแยกมากกว่า เพราะปัจจุบันมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่ผู้สนับสนุนมากกว่า 20 ล้านคน ออกมาตั้งธงคัดค้านไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งปี 40 มีแค่พรรคการเมืองเดียวที่คัดค้านยังผ่านได้ยาก แต่คราวนี้มีถึง 2 พรรคที่คัดค้านย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

ด้านนายกอบศักดิ์กล่าวว่า ตนยอมรับว่าเป็นประเด็นร้อน ซึ่ง สปช.เห็นความจำเป็นของการมีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ปฏิรูป และช่วยขับเคลื่อนให้การปฏิรูปบรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ ระหว่างทางยังมีเรื่องของความปรองดอง วันนี้ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยยังทะเลาะกันอยู่ ตนมั่นใจว่าหลังจากเข้าสู่ระบบปกติความขัดแย้งจะกลับมาอีกรอบ จึงเป็นที่มาของการที่ระหว่างทางต้องมีคนดูแลเรื่องความปรองดองด้วย จึงมี คปป.ขึ้นมาเพื่อดูแลระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ยืนยันว่า คปป.ไม่ได้ถูกเสนอมาในนาทีสุดท้าย แต่เป็นวิวัฒนาการของแนวคิดโดยมาจากการรวบรวมความเห็นของทุกคน ประเด็นนี้เป็นการสร้างความปรองดองของประเทศ เพราะไม่เคยเห็นพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ปรองดองกันมานานมากแล้ว

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า การปฏิรูปจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 เรื่อง คือ 1. การแข่งขันของประเทศไทย จะมีการกำหนดเป้าหมายว่า 3 ปีแรกว่าจะพัฒนาสร้างความเป็นเลิศในแต่ละด้านทั้งการเกษตร อาหาร และการท่องเที่ยว รวมถึง 5 ปี จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนการมีนวัตกรรมใหม่ๆ 2. ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานกลางที่เข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ จะมีการจัดงบประมาณกระจายไปตามพื้นที่จากเดิมที่กระจายตามกระทรวง รวมทั้งจะจัดสรรงบพิเศษลงไปยังพื้นที่ที่มีรายได้น้อย เพื่อยกระดับให้มีการพัฒนาตัวเอง รวมถึงการทำเรื่องการปฏิรูปที่ดิน สิทธิชุมชน ป่าชุมชน และ 3. นโยบายประชานิยม จะมีการกำหนดว่า ส.ส.จะแปรญัตติตัดงบประมาณได้ แต่จะจัดสรรเพิ่มไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดเงินได้กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี และต้องระบุว่าแต่ละโครงการจะใช้เงินเท่าไหร่ กี่ปี และระบุแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจ ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ไม่ต้องพึ่งพานักการเมืองในการตัดสินใจเลือกใครมาเป็นผู้แทน


กำลังโหลดความคิดเห็น