xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ หนุนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยัน คปป.ไม่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
กมธ.ยกร่างฯ จัดเวทีเสวนาปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ต้องปฏิรูป “บรรเจิด” ชี้ต้องปฏิรูปกระบวนการร่างกฎหมายไม่ให้ซ้ำซ้อน สร้างภาระชาวบ้าน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ สตช. ให้ภาระตำรวจลด แต่งตั้งอย่างมีคุณธรรม จัดงบให้เพียงพอ แยกงาน ป.ป.ช.กับ ป.ป.ท.ให้ชัด ด้าน “บัณฑูร” หนุนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ทำให้เกิดความต่อเนื่อง และสำเร็จ ยันไม่ได้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ขณะที่ “หมอชูชัย” เชื่อ สปช.ผ่าน

วันนี้ (21 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. คณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.)ศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดเวทีเสวนาพบสื่อมวลชนหัวข้อ "ปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ต้องปฏิรูป" โดยนพ.ชูวงศ์ ศุภชัย กมธ.ยกร่างฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปประเทศมีทั้งหมด 29 มาตรา แบ่งเป็น 4 หมวดการปฏิรูปหลัก รวมหัวข้อการปฏิรูปทั้งหมด 19 หัวข้อ ได้แก่1.ด้านการเมือง การปกครอง และกระบวนการยุติธรรม มี 5 หัวข้อการปฏิรูป 2.ด้านสังคมและวัฒนธรรม มี8หัวข้อการปฎิรูป 3.ด้านเศรษฐกิจ มี 3 หัวข้อการปฏิรูป และ4.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มี 3 หัวข้อการปฏิรูป ทั้งนี้เมื่อครบกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปประเทศใช้บังคับ ให้มีการทบทวนว่าสมควรยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งในแต่ละหัวข้อจะมีการบัญญัติเนื้อหากฎหมายในลักษณะที่เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิรูปในแต่ละหัวข้อ เป็นการระบุถึงสิ่งที่ต้องเร่งรัดดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้เห็นผลก้าวหน้าและความสำเร็จในช่วง5 ปี

นายบรรเจิด สิงคเนติ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงการแนวทางการปฏิรูปการเมืองการปกครองและกระบวนการยุติธรรม ตอนหนึ่งว่า ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการในการร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดความไม่ซ้ำซ้อน ไม่สร้างภาระให้ประชาชน ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมาตรการบังคับหรือกำหนดโทษทั้งหลาย ปฏิรูปองค์กรกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่งและอาญา รวมทั้งปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ถือเป็นต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภารกิจของตำรวจลดลง โดยเห็นว่าเรื่องบางเรื่องไม่ต้องลงไปสตช. เพราะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะทางอยู่แล้ว พนักงานสอบสวนวันนี้ควรต้องมีการแยกการเติบโตในหน้าที่การงานให้ชัดเจน ทำอย่างไรให้การแต่งตั้งตำรวจเป็นไปอย่างมีคุณธรรม แก้ปัญหาเรื่องบประมาณที่ต้องจัดลงให้เพียงพอ อีกประเด็นคือเรื่องทุจริตที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ที่ตรวจสอบระดับอธิบดีขึ้นไป ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจระดับรองอธิบดีลงมา ซึ่ง2องค์กรนี้ต้องแยกกันชัดเจน

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า สำหรัยกลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปไปสู่การปฏิบัติได้นั้น คือ ต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองให้เกิดความต่อเนื่องและเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีอายุการทำงาน 5 ปี ส่วนที่กังวลว่าจะเป็นรัฐบาลซ้อนรัฐบาลนั้น อาจเป็นเพราะมีการนำเสนอแต่อำนาจพิเศษที่ใช้ในยามที่บ้านเมืองเกิดเหตุวิกฤติ แต่ในยามปกติมีหน้าที่คือการขับเคลื่อนการปฏิรูป ทั้งนี้กมธ.ยกร่างฯได้ระบุในร่างรัฐธรรมนูญว่า “ คปป. ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน” แต่อย่างใด

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงด้านเศรษฐกิจ มี3 หัวข้อการปฏิรูป คือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างวินัยและเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องเดินหน้าปฏิรูปและจะถือเป็น “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ”อย่างแท้จริง

นพ.ชูชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อว่าสปช.น่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการปฏิรูปเหมือนเป็นงานของสปช. ทั้ง 18 คณะ แต่หลังจากนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนในการทำประชามติ หากผ่านก็จะสามารถพาประเทศเดินหน้าปฏิรูปต่อไปได้และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบ้านเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น