xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เห็นชอบปฏิรูปการเงินฐานราก-สหกรณ์ออมทรัพย์ ยกระดับรากหญ้าเข้าถึงแหล่งออม-ทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ฤชุพันธุ์
คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง สปช. เผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเห็นชอบวาระปฏิรูปการเงินฐานรากและสหกรณ์ออมทรัพย์ เน้นจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียน พร้อมให้ความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน และปฏิรูปการเงินฐานราก ยกระดับให้รากหญ้าเข้าถึงแหล่งการออมและแหล่งทุน ย้ำทำคนไทย 30 ล้านลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอนาคตให้ประเทศ

วันนี้ (2 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้นำเสนอวาระการปฏิรูปที่ 13 การปฏิรูปการเงินฐานรากและสหกรณ์ออมทรัพย์ (รอบ 2) ซึ่งที่ประชุม สปช. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2558 พร้อมส่งรายงานและร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียน 2. แนวทางให้ความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน 3. การปฏิรูปการเงินฐานราก

นายสมชัย กล่าวว่า ในประเด็นที่ 1 การปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียน เป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียนได้เป็นหลักสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มของสมาชิกในการดูแลซึ่งกันและกัน และช่วยให้บริการทางการเงินแก่สมาชิก อย่างไรก็ตามกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียน ได้ขยายกิจการขึ้นอย่างรวดเร็ว และในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีบางแห่งที่เริ่มประสบปัญหาในการดำเนินการ จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล เพื่อยกระดับมาตรฐานและสร้างความมั่นคงยั่งยืนในการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียนเป็นที่พึ่งทางการเงินให้กับสมาชิกอย่างแท้จริง

สำหรับประเด็นที่ 2 แนวทางให้ความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนไทยจำนวนมากยังขาดความรู้ทางการเงิน และไม่สามารถบริหารการเงินส่วนบุคคลและครอบครัวได้ จึงมีความจำเป็นต้องส่งเสริมแนวทางการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึงด้วยการกำหนดให้การให้ความรู้ทางการเงิน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องดำเนินการ รวมทั้งจัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมความรู้ทางการเงินแห่งชาติ” เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการวางยุทธศาสตร์ด้านนโยบายและดำเนินการอย่างสอดประสาน อันจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางการเงินต่าง ๆ ของประชาชนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทั้ง 3 เรื่องจะเป็นการปฏิรูประบบการเงินของประเทศครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนชี้วัดของคนไทย 30 ล้านคน ที่จะลดความเหลื่อมล้ำนำไปสู่การวางรากฐานการพัฒนาที่สมดุล และสร้างอนาคตให้กับประเทศและประชาชนอย่างทั่วถึง

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของประเด็นที่ 3 การปฏิรูปการเงินฐานราก จะช่วยยกระดับให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบทในการเข้าถึงแหล่งการออมและแหล่งทุน ที่จะนำมาใช้ในการสร้างอาชีพ นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ ส่วนร่างพ.ร.บ.การเงินระดับฐานราก พ.ศ... มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะจัดตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงิน ระดับฐานรากภายใต้กระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำและขับเคลื่อนแผนแม่บทและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากของประเทศ รวมทั้งสร้างโครงข่ายการเงินระดับฐานราก โดยยกระดับสถาบันการเงินชุมชนหรือกลุ่มออมทรัพย์ที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่โครงข่าย โดยให้มีฐานะเป็นลูกข่ายที่เป็นนิติบุคคล รวมทั้งพัฒนายกระดับด้านมาตรฐานการบัญชี การบริหารความเสี่ยง และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของลูกข่าย ร่วมกับภาคี พร้อมทั้งจัดสรรผลกำไรจากโครงข่ายเข้าสู่กองทุนพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก เพื่อใช้ในการดำเนินการ เพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อทางการ ตลอดจนสร้างกลไกการกำกับดูแลและความมั่นคงทางการเงินระยะยาวผ่านการตรวจสอบของแม่ข่าย

“การปฏิรูปทั้ง 3 ด้านนี้ คือ การปฏิรูประบบการเงินระดับฐานราก การปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียน และแนวทางการให้ความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน จะเป็นการปฏิรูประบบการเงินของประเทศครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนชี้วัดของคนไทยนับ 30 ล้านคน ลดความเหลื่อมล้ำนำไปสู่การวางรากฐานการพัฒนาที่สมดุล และสร้างอนาคตให้กับประเทศและประชาชนอย่างทั่วถึง” นายกอบศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น