xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! สปช.ตั้ง “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” นั่ง กมธ.ยกร่าง รธน. แทน “ทิชา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามคาด สปช.ลงคะแนนลับ ตั้ง “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” คนหนุ่มแวดวงเศรษฐกิจ นั่ง “กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” แทน “ทิชา” ที่ลาออก เผยประวัติเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและตลาดทุน

วันนี้ (3 มี.ค.) มีรายงานว่า การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีวาระการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนนางทิชา ณ นคร ที่ลาออก โดยให้สมาชิกเสนอชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสม มีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 5 คน จากนั้นให้ออกเสียงลงคะแนนลับเพื่อเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช. โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะได้รับเลือก

มีรายงานว่า ที่ประชุมมีมติให้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แทนนางทิชา ณ นคร ที่ขอลาออกจากสมาชิก สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังการลงคะแนนลับ

ก่อนหน้านั้นประธานในที่ประชุม ให้แสดงวิสัยทัศน์คนละไม่เกิน 3 นาที เริ่มจากนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล แสดงวิสัยทัศน์ว่า ต้องการร่างรัฐธรรมนูญให้ลดความเหลื่อมล้ำ ทางสังคม เศรษฐกิจ เพื่อความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชนทั้งประเทศ

นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา กล่าวว่า ต้องการบูรณาการ การปฏิรูปประเทศ ควบคู่ไปกับการทำงานของกรรมาธิการ 18 คณะ และ การร่างรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ แสดงวิสัยทัศน์ว่า ตนมีกรอบความคิด เรื่องความเสมอภาคทางเพศ และต้องการร่างรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้ได้จริงกับสังคมไทย ยืนยันว่าตนปราศจากการครอบงำจากฝ่ายต่าง ๆ

นายอมร วาณิชวิวัตร กล่าวว่า ตนเน้นการทำงานที่มุ่งประโยชน์สาธารณะ ประสานงานให้แม่น้ำทุกสายทำงานร่วมกันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

รายงานแจ้งว่า จากนั้นที่ประชุมได้ให้สมาชิก สปช.ลงคะแนนลับ ซึ่งผลการลงคะแนนปรากฎว่า นายกอบศักดิ์ ได้รับเลือกให้ กมธ.ยกร่างฯ แทนนางทิชา ด้วยคะแนน 119 เสียง ส่วนผู้สมัครที่เหลืออีก 3 คน มีคะแนนเรียงลำดับดังนี้นางจุไรรัตน์ ได้คะแนน 67 เสียง นางศิรินา ได้คะแนน 26 และนายอมร ได้ 8 เสียง มีบัตรเสีย 9 ใบ

น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช. ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม แจ้งว่าหลังจากนี้ จะต้องมีการดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของนายกอบศักดิ์ ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ฯ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 33 หรือไม่ หากพบว่ามีคุณสมบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะให้ผู้ที่ได้คะแนนลำดับถัดไปคือนางจุไรรัตน์รับตำแหน่งแทน

สำหรับประวัตินายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ตามเว็บไซต์วิกิพีเดีย เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและตลาดทุน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ อดีตผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน และผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เมื่อปี 2539 หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่ Williams College สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2534 สำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปี 2529

หลังจากสำเร็จการศึกษาได้กลับมาปฏิบัติงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีประสบการณ์ทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ระบบการเงิน ในงานด้านต่างๆ ทั้งส่วนของนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน ได้ถูกยืมตัวไปทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน ในตำแหน่งผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ดูแลด้านงานวิจัย และผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดูแลฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2550-2551 หลังจากนั้น กลับมาทำงานที่ ธปท. เป็นเวลาประมาณ 2 ปีในตำแหน่งผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินและประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ได้รับรางวัล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2552 จากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ สถาบันทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ 7 สถาบัน และกองทุนป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย คำประกาศเกียรติคุณของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กลั่นกรองผลงานวิชาการในการมอบรางวัล เขียนไว้ว่า

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งมีความแม่นยำและความลุ่มลึกในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มีความรัดกุมในวิธีวิทยา ตลอดจนมีความสามารถในการประยุกต์ใช้วิธีการทางเทคนิคในการทดสอบแนวคิดทางทฤษฎีต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมไม่ฟุ่มเฟื่อย และมีความโดดเด่นที่สามารถตีความข้อมูลเชิงประจักษ์ที่คุ้นเคยให้เกิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจและเข้าใจได้ง่าย งานวิชาการของ ดร.กอบศักดิ์ หลายชิ้นสามารถก่อให้เกิดการถกเถียงและเปิดประเด็นให้เกิดการศึกษาวิจัยสื่บเนื่องอย่างกว้างขวาง

ผลงานวิชาการคุณภาพสูงจำนวนมากของ ดร. กอบศักดิ์ ได้แสดงให้เห็นถึงฉันทะทางวิชาการและความสนใจในการศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่หลากหลาย ครอบคลุมปริมณฑลทางวิชาการอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องนโยบายการเงิน การออม สินเชื่อ ทุนมนุษย์ การประกันสังคม และการค้าระหว่างประเทศ โดยทุกเรื่องล้วนมีนัยทางนโยบายต่อการพัฒนาประเทศไทย...”

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ได้รับทุนพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย จากมูลนิธิ 50 ปี ธปท. เพื่อทำการศึกษาวิจัยเรื่องปัญหาการกระจายรายได้ในไทยและทางออก
















กำลังโหลดความคิดเห็น