xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ฟังสรุปเศรษฐกิจกรีซ บทเรียนไทย ชี้วินัยการคลังสำคัญ ไม่สวัสดิการเกินตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ “กอบศักดิ์” บรรยายปัญหาเศรษฐกิจกรีซ ยกเป็นบทเรียนไทยในอนาคต ชี้เข้ายูโรกรีซ กู้เงินดอกเบี้ยต่ำไม่จำกัด ทำเศรษฐกิจคึกคัก เงินเฟ้อสูง หนี้เพียบ อยู่ได้เพราะเงินยังไหลเข้ามา แถมมีปัญหาใช้จ่ายสวัสดิการต้นทุนสูง พอเจอปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นหมด เงินหยุดไหลเข้า หนี้ท่วม ชี้ต้องกัดฟันลุยไฟอยู่ยูโรโซน ย้ำบทเรียนวินัยการคลังสำคัญ อย่าสวัสดิการเกินตัว และให้มีงบลงทุนพอเพียง

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญนอกสถาน เป็นวันที่ 5 โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน ทั้งนี้ก่อนเริ่มประชุม นายบวรศักดิ์ได้มอบหมายให้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กมธ.ยกร่างฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ บรรยายสรุปเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศกรีซให้ กมธ.ยกร่างฯ รับฟัง

โดยนายกอบศักดิ์กล่าวสรุปสถานการณ์พอสังเขปว่า ปัญหาของกรีซจะเป็นบทเรียนให้แก่ประเทศไทยในอนาคต เพื่อไม่ให้ไทยเกิดปัญหาแบบกรีซ สำหรับปัญหาของกรีซเริ่มตั้งแต่กรีซเข้าสู่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (ยูโร) ก่อนกรีซเข้ายูโรก็มีหลายประเทศกังวลใจ และมีปัญหาในการกู้ยืมในตลาดการเงิน เพราะมีหลายประเทศยังไม่ค่อยให้ความมั่นใจมากนัก แต่พอมีเงินสกุลยูโรในปี ค.ศ. 2000 ตอนนั้นกรีซก็เหมือนกับเข้าสังคมใหม่ และเป็นสังคมที่ได้ออร่าของประเทศเยอรมนีเข้ามาด้วย ทำให้กรีซจากที่เคยเป็นลูกหนี้คนเดิมกลับมีสง่าราศีขึ้นมา และทำให้สามารถกู้ยืมเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการจ่ายซึ่งกู้เงินได้ไม่จำกัดเพราะมีกลุ่มยูโรหนุนหลัง

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ในจุดนี้ตัวกรีซได้เงินหลั่งไหลเข้ามาเต็มที่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000-2008 ทำให้กรีซมีเศรษฐกิจที่คึกคัก ต้นทุนของประเทศก็เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อสูงกว่าประเทศอื่นๆ และก็มีหนี้สินจำนวนมาก ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมด เพราะถ้าไปเทียบกับเยอรมนีในช่วงดังกล่าวจะพบกรีซมีเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นกว่าเยอรมนี ร้อยละ 30 ตัวเลขร้อยละ 30 นี้หมายความว่ากรีซไม่สามารถแข่งกับเยอรมนีได้ แต่ที่กรีซยังอยู่ได้เพราะเงินยังไหลเข้ามาอยู่ภายใต้ความเชื่อมั่นในยูโร และทำให้กรีซมีความสุขในการใช้จ่าย

“นอกจากนี้ กรีซยังมีปัญหาในเรื่องการของใช้จ่ายเงินผ่านระบบสวัสดิการ กรีซมีรายจ่ายในรัฐสวัสดิการพอสมควรให้แก่ประชาชน จนกระทั่งเงินงบประมาณของแต่ละปีไปอยู่กับค่าใช้จ่ายรวมถึงสวัสดิการต่างๆ ถึง ร้อยละ 90 ข้าราชการกรีซสามารถทำงาน 35 ปีก็สามารถเกษียณได้เลย หมายความว่า ถ้าเริ่มทำงานตอนอายุ 23 ปี จะเกษียณได้ตอนอายุ 58 ปี โดยได้เงินเกษียณในอัตราร้อยละ 80 ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ก็เป็นสิ่งที่ทำให้กรีซมีต้นทุนพอสมควร” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกอบศักดิ์อธิบายอีกว่า ปี ค.ศ. 2008 พอเกิดปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ความเชื่อมั่นก็หมดไป เงินที่เคยไหลเข้ากรีซก็หยุด จากนั้นนำมาสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย จนมาถึงปี ค.ศ. 2010 ก็เกิดวิกฤตหนี้กรีซครั้งที่ 1 ตรงจุดนั้นคนกรีซตกงานในอัตราร้อยละ 28 ของตลาดแรงงาน จากปกติในยุโรปจะตกงานประมาณร้อยละ 11 รัฐบาลกรีซอยู่ได้ลำบาก ในปัจจุบันกรีซอยู่ในฐานะลำบากเพราะมีหนี้สินจำนวนมาก หนี้ที่กู้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ก็ท่วมตัว ทางออกของปัญหากรีซมีอยู่ 2 ทาง คือ 1. ออกจากยูโรโซน 2. ทนอยู่ต่อไป โดยการออกจากยูโรไม่สามารถทำได้ง่ายๆ มีหลายคนบอกออกแล้วจะดีขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนเงินเฟ้อ ร้อยละ 30 จะได้รับการแก้ไขปัญหาทันที แต่ก็ยังไม่กล้าทำ เพราะกลัวว่าถ้าออกแล้วธนาคารจะเจ๊ง ค่าเงินกรีซจะตกลงประมาณร้อยละ 50 ทำให้ต้องกัดฟันอยู่กันต่อไป เวลานี้เหมือนกับข้างหนึ่งก็กระโดดลงเหว อีกข้างหนึ่งก็เดินลุยไฟ

“คิดว่า ณ ขณะนี้ เป็นบทเรียนของทุกคนว่าไม่ควรจะมีสวัสดิการมากเกินไป วินัยการเงินการคลังก็เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนจุดจบของปัญหานี้แน่นอนว่าประเทศยุโรปจะไม่มีทางให้กรีซออกไป ซึ่งต้องเดินลุยไฟอย่างนี้ต่อไปอีกหลายปี ดังนั้น ประเทศไทยต้องพยายามคิดให้ดีๆ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดวินัยการเงินการคลัง ทำอย่างไรไม่ให้รัฐบาลใช้จ่ายเพื่อประชาชนจนเกินตัว ทำอย่างไรไม่ให้มีรัฐสวัสดิการที่ใหญ่จนเกินไป และทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทำอย่างไรให้มีงบประมาณสำหรับการลงทุนที่พอเพียง” นายกอบศักดิ์กล่าว

จากนั้น กมธ.ยกร่างฯ ได้เริ่มเข้าสู่การประชุมเป็นรายมาตรา โดยจะเป็นการพิจารณาในบทบัญญัติที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้ชะลอการพิจารณาเอาไว้ก่อนหน้านี้ เช่น คณะกรรมการสรรหา ส.ว. และเอกสิทธิ์คุ้มครองของสมาชิกรัฐสภา เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น