“ประยุทธ์” กล่าวสุนทรพจน์ในงาน “นายกรัฐมนตรีพบนักธุรกิจญี่ปุ่น” เผยสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย - มีนโยบายเพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน การลงทุนของภูมิภาค
วันนี้ (21 ส.ค.) เมื่อเวลา 17.00 น. ณ ห้องนภาลัย บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในงาน “นายกรัฐมนตรีพบนักธุรกิจญี่ปุ่น” สรุปดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมากล่าวสุนทรพจน์ในงานวันนี้ ไทยและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนานในทุกระดับ อีกทั้งยังมีความร่วมมือทวิภาคีในหลายด้าน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง 2 ประเทศ จนนำไปสู่การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) เมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 120 ปี
นับตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้ดำเนินงานในหลาย ๆ ส่วน เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ตลอดจนการขยายความร่วมมือและส่งเสริมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนกับนานาประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน ทั้งการฟื้นฟูภาพลักษณ์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และดำเนินการให้การบริหารราชการแผ่นดินเข้าสู่ภาวะปกติ ตามขั้นตอนต่าง ๆ ในโรดแมป โดยขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 การแก้ไขปัญหาอุปสรรคและความล่าช้าในการอนุมัติ/อนุญาตของทางราชการ การเร่งรัดประกาศใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (ปี 2558 - 2564)
ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ โดยเฉพาะขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดต่ำลง และการตกอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง “การส่งเสริมการลงทุน” จึงเป็นกลไกหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย BOI จึงมีทิศทางนโยบายใหม่ เช่น การวิจัยและพัฒนา การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือมีนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในประเทศ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ว่า ในช่วงครึ่งปีแรก มีโครงการที่สอดคล้องกับทิศทางยุทธศาสตร์ใหม่และนโยบายรัฐบาล ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมเป็นจำนวนมากถึงกว่าร้อยละ 60 ของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีการเร่งรัดฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศและแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยว โดยการชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความชัดเจนในแผนการลงทุนที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ ตลอดจนการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาค
จากผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้น ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ไตรมาส และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3 ในไตรมาสแรกของปี 2558 แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในระดับที่จำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้สินภาคครัวเรือนและภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต
นอกจากมาตรการเร่งด่วนในระยะสั้น รัฐบาลยังได้เริ่มดำเนินแผนงานและโครงการสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาในระยะยาว เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศในระยะ 8 ปี (ปี พ.ศ. 2558 - 2565) ประกอบด้วย การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวง การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งทางอากาศ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล อาทิ การส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีให้เชื่อมโยงในทุกมิติ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารทุกด้านจากทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงการจัดการด้านกฎระเบียบเพื่อสร้างระบบการทำธุรกรรมออนไลน์
นอกจากนี้ ในปลายปี 2558 ประเทศอาเซียนจะรวมตัวกันเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบและระบบต่างๆ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างชาติสมาชิกมากยิ่งขึ้น ทั้งระดับรัฐต่อรัฐ เอกชนกับเอกชน นอกจากนี้ AEC ยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงและขยายกรอบความร่วมมือในระดับโลก
ประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคอาเซียน ติดต่อกับหลายประเทศ มีประชากรรวมกันหลายล้านคน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจและติดต่อค้าขายกับมิตรประเทศรอบข้าง รัฐบาลจึงได้มีการประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รวม 10 เขต ได้แก่ พื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา ที่จังหวัดตากและกาญจนบุรี พื้นที่ชายแดนไทย - ลาว ที่จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่จังหวัดสระแก้วและตราด และพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย ที่จังหวัดสงขลาและนราธิวาส ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงในส่วนของมาตรการด้านภาษีอากร โดยรัฐบาลเชื่อมั่นว่า นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ทั้งนี้รัฐบาลยังได้จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุนแบบครบวงจรในทุกจังหวัดที่มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย
รัฐบาลยังให้การสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยรัฐบาลไทยและเมียนมา มีการลงนามในบันทึกความตกลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันโครงการดังกล่าวและเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งในด้านการวางแผนแม่บทโครงการ และการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ประเทศญี่ปุ่นได้มีส่วนร่วมและมีบทบาทอย่างสูง เนื่องจากสอดคล้องกับกลยุทธ์กระจายการลงทุนของญี่ปุ่น (Thailand - Plus-One) โดยให้ไทยเป็นฐานในการกระจายการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางเชื่อมโยงฐานการผลิตสำคัญของไทยและประเทศเพื่อนบ้านกับอินเดีย (Mekong-India Economic Corridor Development)
นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า การค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะเติบโตมากยิ่งขึ้น จากผลของการดำเนินนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งหลายโครงการจะมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญในการพัฒนา
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และ การลงทุนของภูมิภาค โดยออกมาตรการส่งเสริมให้จัดตั้งกิจการสํานักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) เพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของตน และกิจการบริษัทการค้าระหวางประเทศ (International Trading Centers: ITC) เพื่อประกอบกิจการจัดซื้อและขายสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน หรือให้บริการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความเชื่อมั่นและเข้าใจประเทศไทย และช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญในภูมิภาค พร้อมย้ำว่า รัฐบาลจะเดินหน้าสร้างบรรยากาศที่ดีของการลงทุน และประเทศไทยยินดีต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่นทุกคนตลอดไป
ทั้งนี้ งาน “นายกรัฐมนตรีพบนักธุรกิจญี่ปุ่น" ถือเป็นกิจกรรมสำคัญกิจกรรมหนึ่งของสมาคมไทย - ญี่ปุ่นที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2545 ร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความเข้าใจอันดีในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกประเภทบุคคลและนิติบุคคลจำนวน 2,600 ราย