นายกฯ ถกทวิภาคี ญี่ปุ่น ขอบคุณเป็นเจ้าภาพคุยลุ่มน้ำโขง ร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง ชินคังเซน กทม.- เชียงใหม่, รถไฟฟ้าสีแดง และ ระบบรางเชื่อมตะวันออกสู่ตะวันตก ขยายนำเข้าสินค้าเกษตรสู่แดนอาทิตย์อุทัย พร้อมให้กำลังใจบอลหญิงรอบชิงด้วย เผยที่ประชุมลุ่มโขงตอบรับข้อเสนอ 4 ด้าน ชูสำเร็จเซ็น MOI ทวาย ไทย - พม่า - ยุ่น ส่วนเจ้าภาพชมไทยดำเนินการระบบราง, ผ่อนปรนนำเข้าอาหารและเครื่องจักรรวดเร็ว ยันที่เรียกร้องคืบหน้า
วันนี้ (4 ก.ค.) ณ เรือนรับรองรัฐบาลญี่ปุ่น กรุงโตเกียว เมื่อเวลา 15.05 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 การประชุมครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือในภูมิภาคกับญี่ปุ่น และจัดขึ้นในช่วงสำคัญที่กำลังจะมีการรวมตัวของประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 6 (ACMECS) และได้ย้ำหลายประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ทั้งการพัฒนาความเชื่อมโยงและพื้นที่ชายแดน รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประกาศจะให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง และความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นที่ต้องการสนับสนุนไทยให้เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการเจริญเติบโตในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะร่วมกันพัฒนารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ รถไฟฟ้าสายสีแดง และมีแผนจะพัฒนาระบบรางให้เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก ทั้งด้านบนและด้านล่าง ในอนาคต พัฒนาการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ไทย - ญี่ปุ่น - พม่า ได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมา ซึ่งจะเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลกที่เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก ทั้งหมดนี้ จะส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งมีไทยเป็นฐานการผลิต จุดเชื่อมโยง และศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาค โดยไทยยืนยันจะดูแลการลงทุนของญี่ปุ่นอย่างดีที่สุด
นอกจากนั้น ไทยและญี่ปุ่นได้หารือความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร เพื่อขยายการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมาในญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและญี่ปุ่นมีความต้องการในตลาดสูง เช่น เนื้อสุกรแปรรูป น้ำตาลดิบ แป้ง และผลไม้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือร่วมกันภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) และเราทั้งสองยินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดทำเอกสารความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือในการจับคู่ทางธุรกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรไทยในการผลิตสินค้าเกษตรด้วย ในประเด็นความมั่นคง ไทย ญี่ปุ่นจะมีประเด็นความร่วมมือด้านต่างๆมากขึ้นเพื่อรักษาความสงบและเสถียรภาพของภูมิภาคและของโลก โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเป็นกำลังใจให้นักฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นในรอบชิงฟุตบอลโลก วันพรุ่งนี้ด้วย
ส่วนผลสำเร็จการเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 นี้ นายกรัฐมนตรี พอใจ โดยกล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับภูมิภาค ความร่วมมือไตรภาคี ไทย - ญี่ปุ่น - พม่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - ญี่ปุ่น และตอกย้ำความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชนญี่ปุ่น อีกครั้ง ระดับภูมิภาค - ภายใต้กรอบการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น ไทยสนับสนุนยุทธศาสตร์โตเกียว 2015 ฉบับใหม่ ที่เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมเสนอให้กำหนดเป้าหมายในแนวทางที่ส่งเสริมการพัฒนาในอาเซียนและเป้าหมายการพัฒนาของโลกในกรอบสหประชาชาติ
โดยที่ประชุมได้ตอบรับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ที่สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ Tokyo Strategy 2015 ฉบับใหม่ ที่เสนอให้ 1) พัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในอย่างไร้รอยต่อ ก่อนเชื่อมโยงสู่นอกภูมิภาค ทั้งทางบก น้ำ อากาศ 2) เร่งเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาแรงงานที่มีทักษะสำหรับภาคการผลิต เพื่อให้รองรับการลงทุนในอนุภูมิภาค ยกระดับรายได้ให้กับประชากรในชุมชน 3) ส่งเสริม การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรับมือกับผลกระทบภายนอก โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม 4) เน้นการเติบโตที่มี ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ละเลยภาคการเกษตร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนบทบาทหลักของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้และวิทยาการให้แก่ภูมิภาค และสนับสนุนให้ญี่ปุ่นขยายการลงทุนในภูมิภาคแบบ plus-one คือ การลงทุนต่อเนื่องไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสนับสนุน (supporting industries) ที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งการผลิตในหลายประเทศ
โอกาสนี้ ผู้นำ 6 ประเทศ ยังได้ร่วมกัน รับรองยุทธศาสตร์โตเกียว ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมีสาขาความร่วมมือเพิ่มขึ้นมาจากแผนเดิม 3 เสาหลักเป็น 4 เสาหลัก ได้แก่ 1) ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2) ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 3) การพัฒนาที่ยั่งยืน (Green Mekong การรับมือภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) 4) การประสานความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยภายใต้แผนฉบับใหม่นี้ ญี่ปุ่นได้ประกาศงบประมาณความช่วยเหลือแก่ลุ่มน้ำโขง สะท้อนว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญและเห็นถึงศักยภาพลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนในระดับไตรภาคี ผลสำเร็จที่สำคัญ อีกประการ คือ การลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ในโครงการทวาย พม่า - ไทย - ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือสามฝ่ายที่เป็นรูปธรรม นับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นส่งสัญญาณที่แสดงความสนใจเข้าร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอย่างเป็นทางการ เป็นการเพิ่มบทบาทของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้อย่างมีนัยยะสำคัญต่อไป
ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ญี่ปุ่นนับเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของไทย ปัจจุบันความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือไทย - ญี่ปุ่น มีความคืบหน้ารวดเร็ว การพบหารือกับนายกรัฐมนตรี อาเบะ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งญี่ปุ่นชื่นชมไทยที่ได้ดำเนินการตามที่ได้มีการหารือกับญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว อาทิ ความร่วมมือระบบราง การผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าอาหารและการนำเข้าเครื่องจักร สำหรับญี่ปุ่นขณะนี้ได้พิจารณาประเด็นต่างๆ ตามที่ไทยเรียกร้องและมีความคืบหน้า โดยหลังการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอาเบะ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา คณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารญีปุ่นเดินทางมาเยือนไทยเพื่อหาลู่ทางและร่วมกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ สำหรับความร่วมมือด้านการเกษตรนั้น ไทยขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาเร่งรัดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยที่มีความต้องการสูงในตลาดญี่ปุ่น การขยายโควต้าเนื้อสุกร น้ำตาลดิบ แป้งและผลไม้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างบันทึกแสดงเจตจำนงความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย - ญี่ปุ่น
ด้านสร้างแก่ความเชื่อมั่นภาคเอกชนญี่ปุ่นในการพบปะกับภาคเอกชนญี่ปุ่นที่สำคัญ ประกอบด้วย การหารือกับประธาน JETRO ประธานบริษัท Mitsui เข้าเยี่ยมคารวะ การพบกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และสภาหอการค้าญี่ปุ่น (JCCI) และการร่วมประชุมสัมมนา Mekong-five Economic Forum ซึ่งมีการเชิญภาคเอกชนกว่า 1,000 บริษัทเข้าร่วมนั้น ไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยภาคธุรกิจญี่ปุ่นให้ความสนใจการลงทุนในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขง ในลักษณะบวกหนึ่ง โดยเฉพาะโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นอกจากนี้ ภาคเอกชนญี่ปุ่นยังชื่นชมมาตรการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของไทย ที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลไทยยังสร้างมาตรการจูงใจทางเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ การส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศและบริษัทการค้าระหว่างประเทศในไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคเอกชนในการขยายการลงทุนในภูมิภาคนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าพัฒนาความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค เชื่อมต่อให้โรงงานในประเทศเพื่อนบ้านสามารถเคลื่อนย้ายสินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกไปยังทั่วโลกได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้วางเป้าหมายการสร้างความเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคอื่น และระหว่างภูมิภาคในอนาคต ทั้งทางบก เรือ อากาศ อีกด้วย