xs
xsm
sm
md
lg

รธน.บีบคั้นชาวบ้านหันซ้ายเจอนักการเมืองห่วยขวาเจอท่ออำนาจ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

เวลานี้เชื่อว่าหลายคนที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ประดังกันออกมาพร้อม ๆ กัน น่าจะเริ่มหงุดหงิดออกมาบ้างเหมือนกัน เพราะได้เห็นทั้งการต้องการหวนคืนสู่อำนาจผ่านทางการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด ขณะที่อีกฝ่ายก็เริ่มได้เห็นอาการที่ “ส่อ” ไปในทาง “ยื้ออำนาจ” ออกไปให้นานที่สุด

สังเกตให้ดีเวลานี้กำลังเป็่นช่วงที่เริ่มมีการเสนอให้มีการปรองดอง รวมทั้งเสนอให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติในแบบที่รวมเอาสองขั้วการเมืองใหญ่ คือ ขั้วพรรคเพื่อไทย และขั้วพรรคประชาธิปัตย์ โดยคาดเดาว่าสูตรนี้ต้องอยู่ภายใต้ “นายกฯคนนอก” ลักษณะเหมือนกับวางไลน์เอาไว้ล่วงหน้า

สำหรับแนวทางของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เสนอแนวทางรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ในช่วงของการใช้รัฐธรรมนูญ 4 ปีแรก ก็ยอมรับว่า ยังเป็นแค่การเสนอไอเดียขึ้นมา คล้าย ๆ กับโยนหินถามทางมาก่อน แต่เชื่อหรือไม่ว่าเริ่มมีเสียงสนับสนุนมากขึ้น หรือมีท่าทีสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาล และที่น่าจับตาก็คือ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังเสนอให้มีเพิ่มคำถามในการลงประชามติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับรัฐบาลปรองดองแห่งชาติด้วย และล่าสุด ทางรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองงาม ก็แสดงท่าทีหนุน อ้างว่าทำให้บ้านเมืองเรียบร้อย

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากเนื้อหารัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญที่เพิ่มเข้ามาในมาตรา 260 ที่เกี่ยวกับการมี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” โดยกำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาล โดยมีที่มาจากระดับบิ๊กกองทัพ ข้าราชการระดับสูง และที่สำคัญ มีระดับนายกฯเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย งานนี้เหมือนกับการ “วางทาง” เอาไว้สำหรับการต่อท่ออำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ และจะชัดเจนยิ่งขึ้นหากผลการโยกย้ายข้าราชการระดับสำคัญ ทั้งในหน่วยงานกองทัพและในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นไปตามที่มีการคาดหมายกันอยู่ในเวลานี้ไม่พลิก ซึ่งก็เหลือเพียงแค่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่เท่านั้น ว่าจะเป็น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา หรือว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช

ขณะเดียวกัน สังเกตหรือไม่ว่าที่ผ่านมามีความพยายามที่จะตอกย้ำให้เห็นถึงความ “ห่วยแตก” ของนักการเมืองอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งแม้ว่าเป็นเรื่องจริงเสียด้วย เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดนี่แหละที่ทำให้ชาวบ้านรังเกียจจนต้องออกมาขับไล่กีดกัน แต่อย่างไรก็ดี แม้นักการเมืองห่วยถึงอย่างไรเราก็คงหนีคนพวกนี้ไม่พ้น เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้มีมาตรการในการตรวจสอบ ป้องกันการทุจริต การใช้อำนาจไม่ชอบ เกินขอบเขตในอนาคตได้อย่างไรต่างหาก

น่าสังเกตก็คือ คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวระหว่างการรับมอบผลการศึกษาปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อสัปดาห์ก่อนเรียกร้องให้นักการเมืองปัจจุบัน “เว้นวรรค 5 ปี” แม้ว่าการพูดแบบนี้จะทำให้หลายคนคล้อยตาม เพราะเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมที่น่ารังเกียจดังกล่าว แต่ขณะเดียวกัน ก็มองได้ว่านี่คือ การ “ฉวยโอกาส” สร้างกระแสแบบ “เนียน ๆ” เพื่อ “ต่อท่ออำนาจ” ในอนาคต ซึ่งมันก็เริ่มสอดคล้องต้องกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกอย่างเริ่มเข้าเค้า ทั้งเรื่องการกำหนดบทเฉพาะกาลตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ฯ รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ หรือแม้แต่การโยกย้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและให้จับตาผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าว่าชัดหรือไม่

นั่นว่ากันในส่วนของฝ่าย “อำนาจใหม่” ที่ถูกจับตาว่ากำลังหาทาง “ต่อท่ออำนาจ” ออกไปให้นานมากที่สุดอย่างน้อยก็ไม่น้อยกว่า 2 - 5 ปี ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ส่วนฝ่าย “อำนาจเก่า” ในฟากของ “นักการเมือง” ทั้งสองขั้ว คือ ขั้วพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร กับขั้วพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาขั้วพรรคเพื่อไทยก่อน เพราะตราบใดที่มีการต่อท่ออำนาจยาวนานเท่าใด ก็จะยิ่ง “ฝ่อ” ลงเรื่อย ๆ โอกาสที่จะกลับมายิ่งน้อยลง และเป็นไปได้สูงว่า “เครือข่าย” ที่มีอยู่อาจถูกทำลายลงหรือเปลี่ยนแปลงข้ามไปอยู่กับขั้วอำนาจใหม่ทีีกำลังเบ่งบานอยู่ในเวลานี้ได้ตลอดเวลา ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้ทั้งพรรคเพื่อไทยออกมาเต้นกันทั้งขบวน เริ่มจาก ทักษิณ ชินวัตร ที่ส่งสัญญาณไม่ให้มวลชนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขณะที่ขั้วพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าโดยรวม ๆ แล้วอาจไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับขั้วเพื่อไทย แต่ถึงอย่างด้วยสัญชาตญาณนักเลือกตั้ง หากต้องยืดเวลาออกไปมาเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะหลุดจาก “วงโคจรอำนาจ” ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกัน แม้ว่าหากพิจารณากันแบบ “แยกส่วน” ในระดับนำของพรรคที่เกาะเกี่ยวกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. จะเชื่อมโยงกันและมีความสัมพันธ์สนับสนุนกับรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด และถึงอย่างไรก็เป็นเพียงแค่ “เดินตามหลัง” ไม่ใช่เป็นคนกำหนดก็ย่อมไม่แฮปปี้ ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ทั้งสองขั้วดังกล่าวจึงเริ่มออกมาประสานเสียงคัดค้านในเรื่องรัฐบาลปรองดอง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นต้น

ดังนั้น หากพิจารณาอารมณ์ของชาวบ้านที่รู้ทันฝ่ายอำนาจในเวลานี้ ย่อมรู้สึกกระอักกระอ่วนอย่างยิ่ง เพราะลักษณะเหมือนกับว่าหันไปทางซ้ายหากรับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเจอกับารเลือกตั้งของนักการเมืองเข้ามาอีก แต่ขณะเดียวกัน เมื่อหันไปทางขวาก็ต้องเจอกับการ “หมกเม็ด” ของกลุ่มอำนาจใหม่ที่วางแผนกันอย่าง “เนียน ๆ” เดินย่ำอยู่บนนักการเมืองที่ประชาชนรังเกียจเพื่อ “ต่อท่ออำนาจ” สร้างเครือข่ายอำนาจใหม่ขึ้นมาอีก ดูแล้วเป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริง ๆ !!
ตั้ง จักรทิพย์ ผบ.ตร.บอกใบ้ ประยุทธ์ “พิเศษ” ลากยาว !?
ตั้ง จักรทิพย์ ผบ.ตร.บอกใบ้ ประยุทธ์ “พิเศษ” ลากยาว !?
ที่บอกว่า “ต่อรอง - แบ่งปันอำนาจ” นั้นต้องสังเกตว่ารายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่นานเกินรอก็ต้องจับตาว่าจะมี “บิ๊กทหาร” บางคนในกองทัพที่กำลังจะเกษียณอายุในเดือนกันยายนมาร่วม หรือมีการ “ขยับเก้าอี้” ให้สูงขึ้นหรือไม่ ถึงตอนนั้นก็จะมีคำตอบที่ชัดเจนว่าใช่หรือไม่ใช่ หลังจากที่มีความชัดเจนจากการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่มาแล้ว เพราะถ้าให้พิจารณาสรุปก็ต้องสรุปว่านี่คือการ “แบ่งปันอำนาจ” กันระหว่าง “จันทร์โอชา และวงษ์สุวรรณ” กันอย่างลงตัว ที่ผ่านทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพ และเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น