อดีต ส.ส.เพื่อไทยตบเท้ายื่นหนังสือ กมธ.ยกร่างฯ โชว์จุดยืนพรรคต่อ รธน. หวังให้แก้ช่วงโค้งสุดท้าย รับกังวลนายกฯ คนนอก ที่มา ส.ว. แบนการเมืองตลอดชีพ คกก.ยุทธศาสตร์ ห่วงสืบทอดอำนาจ ฉะเอาอำนาจนอก รธน.ใส่ใน รธน. ไม่ไว้ใจ ปชช. สงสัยจงใจเขียนไม่ให้ผ่านประชามติจะได้ร่างใหม่ ป้องนายใหญ่ มีสิทธิวิจารณ์ รธน.
วันนี้ (17 ส.ค.) กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พร้อมด้วยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น เข้ายื่นหนังสือแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยคัดค้านเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นผู้รับ
นายสามารถกล่าวว่า วันนี้ได้นำหนังสือแถลงการณ์แสดงจุดยืนของพรรคมาฝากให้ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อยืนยันว่าต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความไว้วางใจในอำนาจประชาชน ยังมีเวลาอีก 2-3 วัน ที่จะตัดสินใจ สาระของหนังสือก็ได้นำเสนอผ่านสื่อมวลชนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาแล้ว ขอให้ กมธ.ยกร่างฯ นำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ขอขอบคุณ กมธ.ยกร่างฯ ที่ได้ให้โอกาสเราในการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ และได้มีการปรับปรุงแก้ไขไปบ้าง วันนี้ยังมีเรื่องที่เราไม่สบายใจอีกมาก หวังว่าจะใช้เวลาโค้งสุดท้ายในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตัดสินใจให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
หลังเสร็จสิ้นการยื่นหนังสือ นายสามารถได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า เรามีความกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญแต่เดิม 3 เรื่อง คือ 1. นายกรัฐมนตรีคนนอก อยากให้มีการยืนยันว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เพราะตกผลึกมาตั้งแต่การต่อสู้ในปี 2535 แล้วว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ตอนนี้กลับถอยหลังไป 2. ที่มา ส.ว. ยังยืนยันว่าทั้ง 200 คนต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างในปี 2540 ก็ได้รับเลือกมาจากหลายสาขาอาชีพอยู่แล้ว 3. การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อกีดกันบางพรรค บางบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ จะทำให้บุคลากรส่วนหนึ่งไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่รู้ว่ากระทำความผิดอะไรก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปแล้ว 5 ปี แล้วมาเขียนกันไม่ให้ลงสมัครผู้แทนตลอดชีวิต ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม
นายสามารถกล่าวต่อไปว่า วันนี้ก็มีเรื่องหนักกว่านั้นอีก คือการสรรหา ส.ว. 123 คน ให้คณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการสรรหาเอง น่าห่วงว่าสืบทอดอำนาจส่งไม้ต่อให้ใครหรือไม่ และเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ 23 คน หากบ้านเมืองวิกฤตสามารถใช้อำนาจแทนฝ่ายบริหารนิติบัญญัติได้ ถือเป็นรัฐซ้อนรัฐ
“ถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว มอบอำนาจให้ประชาชนตัดสินอนาคตบ้านเมืองของเขาแล้ว มอบความไว้วางใจให้แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด พรรคหนึ่งพรรคใดมาบริหารประเทศแล้ว ทำไมจะต้องมีการครอบงำด้วยอำนาจ ซึ่งเมื่อก่อนนี้เราจะเรียกว่าอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ วันนี้มันไม่ใช่แล้ว มันกลายเป็นอำนาจเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลย แต่เป็นอำนาจพิเศษ มันก็เลยชี้ให้เห็นว่าวันนี้เรากำลังไม่ไว้ใจประชาชน เราไม่ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยที่บอกว่าเป็นของปวงชนชาวไทย เรายังเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ให้เป็นประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้การควบคุม อยู่ภายใต้การชี้นำของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ซึ่งไม่ใช่อำนาจของประชาชน” นายสามารถกล่าว ทั้งยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้เพื่อไม่ให้ผ่านประชามติหรือไม่ เพราะจะได้ร่างกันใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.ยกร่างฯ อธิบายเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีไว้เพื่อแก้วิกฤต นายสามารถกล่าวว่า วิกฤตเกิดขึ้นมาเองหรือใครสร้าง ในรัฐธรรมนูญปกติมีกลไกแก้วิกฤตอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาหรือปรับคณะรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมามีคนสร้างวิกฤตเพื่อไม่ให้ใช้กลไกปกติได้
“ที่บอกว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เหมือนรถดับเพลิง ผมก็เกรงว่าจะมีคนไปจุดเพลิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าเรากำลังส่งเสริมให้คนสร้างวิกฤต เพื่อหานายกฯ คนนอกเข้ามา หากเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้มั่นใจว่าไม่ผ่านประชามติ ไม่ต้องคิดเรื่องเคลื่อนไหวอะไร ประชาชนรับไม่ได้ที่อำนาจถูกริบ”
ส่วนพรรคเพื่อไทยจะรณรงค์ในช่วงการทำประชามติอย่างไรนั้น อดีต ส.ส.ในพื้นที่ก็ติดตามทำความเข้าใจกับประชาชนอยู่แล้ว แต่จะรณรงค์ยังไงขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะเปิดกว้างมากน้อยแค่ไหน และเมื่อถามต่อกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พูดถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่ประเทศฟินแลนด์ นายสามารถกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้ และต่อไปก็คงจะมีนักวิชาการอะไรออกมาวิพากษ์วิจารณ์อีก เป็นเรื่องปกติ