xs
xsm
sm
md
lg

จุดพลุชูสองประเด็นร้อน วางสายป่านต่อท่ออำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

จุดพลุกันดังสนั่น หลัง “อ.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ “อ.เอนก” เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างฯ ออกมาโยนหินให้มีการเพิ่มคำถามว่า อยากให้มี “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” หรือไม่ ในการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

กลบคำถามของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” กมธ.ยกร่างฯ ที่ออกมาชูให้มีการถามประชาชนในการทำประชามติว่า ควรปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 2 ปี ก่อนหน้านี้เสียสนิท

พะยี่ห้อ “อ.ปื๊ด” และ “อ.เอนก” ออกมาชงเอง โดยเฉพาะคนหนึ่งเป็นถึงประธานกมธ.ยกร่างฯ ในฐานะหัวหน้าทีม 36 อรหันต์ เขียนกติกาสูงสุดของประเทศ และอีกคนหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง (คศป.) ในฐานะที่เป็นหัวเรือตีปี๊บเรื่องปรองดองมาตลอด การออกมาเสนอดูจะมี “น้ำหนัก” และได้ “เนื้อหนัง” จนต้องเงี่ยหูฟัง

คนเป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ ไม่ค่อยเสนออะไรสุ่มสี่สุ่มห้าอยู่แล้ว หากยอมเปลืองตัวออกมาทั้งที งานนี้ต้องมีอะไรในกอไผ่

หนำซ้ำ การจุดพลุเรื่อง “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” ยังออกมาในช่วงที่กมธ.ยกร่างฯ เคาะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ในมาตรา 260 ซึ่งมีอำนาจมหาศาล

“หากคณะรัฐมนตรีไม่มีเสถียรภาพจนไม่สามารถบริหารประเทศได้ กรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดมีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้รับการปรึกษากับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว จากนั้นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร ให้ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งและการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้…”

โดยกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการไม่เกิน 22 คน ซึ่งกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา, ประธานวุฒิสภา, นายกรัฐมนตรี, ผู้บัญชาการกองทัพไทย, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา, นายกฯ, ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองประเภทละ 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 11 คน ซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา

โดนวิจารณ์กันขรมเมือง ไม่ต่างอะไรจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แปลงกายมาอยู่ในคราบกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เพราะสัดส่วนมีผบ.เหล่าทัพคอยกดเอาไว้ นอกจากนี้ อำนาจที่ให้แทบจะเป็นการจำแลงมาจากมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

ทั้งเรื่อง “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” และ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ” ถูกพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการ “สืบทอดอำนาจ” ของคสช.แบบทั้งขึ้นทั้งร่อง ชนิดกินรวบ

เพราะคำถามในการทำประชามติว่า ต้องการให้มี “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” หรือไม่ แม้ระบุว่า จะต้องมีเสียงส.ส.สนับสนุน 4 ใน 5 ของสมาชิก แต่ไม่ได้กำหนดว่า “นายกรัฐมนตรี” ต้องเป็นส.ส.หรือไม่ ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เป็นการเปิดทางให้มี “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” แล้ว

จนคุ้นๆ กับกรณีที่มีการโยนหินก่อนหน้านี้ ที่มีการชูชื่อ “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขึ้นมารับไม้ต่อจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อคุมงานปฏิรูปให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งในนาม “รัฐบาลแห่งชาติ”

อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้พิลึกพิลั่นพอสมควร เพราะในทางปฏิบัติ แม้จะมีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. แต่หากปรากฏว่า จับผลัดจับผลูมีการทำประชามติสอบถามแล้วประชาชนเห็นด้วยจนต้องตั้ง “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้จะเป็นการเขียนกฎหมาย “บังคับให้มี” ทั้งที่คู่ขัดแย้งไม่ได้เต็มใจอยากจะร่วมหอลงโลงสมานฉันท์กันแต่อย่างใด

ตลกร้าย การบริหารประเทศจะเดินหน้าไปได้อย่างไร เพราะคู่ขัดแย้งไม่ได้อยากทำงานร่วมกัน การทำงานจะสะเปะสะปะ ตีกันไปกันมา รัฐบาลจะขาดเสถียรภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ จะเป็นการตอกลิ่มปัญหาให้หนักกว่าเก่า และเสี่ยงสูงมากที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งรอบใหม่

การถามคำถาม “ปลายเปิด” กับประชาชนแบบนี้ โดยไม่ให้รายละเอียดว่า การได้มาซึ่ง “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” มีขั้นตอนอย่างไร ใครบ้างที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลแห่งชาติ แต่ละพรรคมีสัดส่วนเท่าไร คนที่มาจะเป็นคู่ขัดแย้งตัวจริงหรือไม่ นายกฯมาจากไหน และระบบตรวจสอบถ่วงดุลจะมีประสิทธิภาพอย่างไรในเมื่อสองพรรคใหญ่รวมหัวกัน ตรงนี้จะเป็นปัญหาได้

เพราะในอุดมคติของประชาชน “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” คนกลางๆ ล้วนอยากให้มีทั้งนั้นเพราะเบื่อปัญหาความขัดแย้งที่หมักหมมมาหลายปี โดยคิดว่าอยู่ร่วมกันแล้วทุกอย่างจะจบ จึงอาจจะกากบาท “เห็นชอบ” เอาง่ายๆ โดยไม่สนวิธีการว่าได้มาอย่างไร

จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า การโยนคำถามนี้ขึ้นมาเป็น “ของเล่นใหม่” เพื่อเป็นการปูทางเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปในรูปแบบอื่น หลังข้อเสนอให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งของ “ไพบูลย์” และ “ทิดเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ เริ่มจะแป้กๆ ในระยะหลัง

ขณะที่ประเด็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ก็เป็นในลักษณะ “มัดมือชก” เขียนทางออกในกรณีที่ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ไม่สามารถยื้ออยู่ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งได้ จึงลอกคาบ “คสช.” ไปแปลงกายเป็น “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ”

เพราะองค์ประกอบเต็มไปด้วยผบ.เหล่าทัพ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งอย่างที่รู้กันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า จุดยืนของเหล่าทัพคืออะไร อีกทั้งการเขียนกำหนดคุณสมบัติของประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯก็ดูจะเปิดอ้ารอให้กับใครบางคนเป็นการเฉพาะ

คณะกรรมการชุดนี้ยังอยู่เหนือรัฐบาลและฝ่ายอำนาจอื่นๆ จึงเป็นยิ่งกว่า “ทายาทอสูร” แต่เป็น “อสูร” แปลงกายไปเป็นอีกเวอร์ชั่นมากกว่า

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการโยนหินเรื่อง “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” หรือ การเขียนรัฐธรรมนูญให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ คนที่ได้ทั้งขึ้นทั้งร่องก็คือ “คสช.” จึงหนีไม่พ้นที่จะถูกครหาว่า กำลังมีความพยายามหาวิธีเพื่อสืบทอดอำนาจในรูปแบบที่แนบเนียนและแยบยลที่สุด

ยังไม่นับการเคาะประเด็นที่มาส.ว. ที่ให้ ส.ว.ชุดแรก 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี โดยส.ว.เลือกตั้ง 77 จังหวัดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ส่วน ส.ว.สรรหา 123 คน ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้สรรหา ซึ่งเหมือนเป็นการวางตัวบุคคลของตัวเองทิ้งไว้

หรือถ้ามองโลกในแง่ร้ายแบบสุดๆ การออกมาจุดพลุ 2 เรื่องร้อนๆ พร้อมกัน รวมเรื่องส.ว.ด้วย เป็นการชงข้อเสนอที่ ”สุดโต่ง” ที่สุดเพื่อให้มีเสียงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สร้างความไม่เห็นด้วยในหมู่ประชาชนและสปช.บางส่วน จนนำมาสู่การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุตัวเอง

แต่คำถามคือ “อ.ปื๊ด” ยอมเอาความล้มเหลวในการร่างรัฐธรรมนูญมาแลกเพื่อต่ออายุให้คสช. ซึ่งมันก็ไม่น่าจะคุ้มกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น