สนช.ฟังคำแถลงปิดสำนวนถอดถอน 248 อดีต ส.ส. ป.ป.ช.ย้ำตำแหน่ง “ภักดี” ชอบด้วยกฎหมาย แจงกระบวนการถอดถอนนักการเมืองต่างจากศาล ป.ป.ช.เป็นกลไกให้ สนช.พิจารณา ชี้ไม่ได้แค่ขจัดคนไม่ดี แต่ยังให้การเรียนรู้ ปชช. ปชต.ไม่ได้มีแค่เสียงข้างมาก ย้ำต้องรับผิดชอบสับเปลี่ยนร่าง ด้าน “สามารถ” หนึ่งเดียวโผล่โต้ทำถูก ลั่นไม่ใช่ร่างปลอม โวยกังขาคุณสมบัติ ป.ป.ช.บางคนมีอคติ หวังพ้นผิดแบบอดีต ส.ว. พรุ่งนี้ชี้ชะตา
วันนี้ (13 ส.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาการถอดถอนอดีต ส.ส.248 คนออกจากตำแหน่ง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. โดยเป็นการรับฟังคำแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย คือ ป.ป.ช. และฝ่าย 248 อดีต ส.ส. ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีเพียงนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยมาแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา ขณะที่อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ขอแถลงปิดสำนวนเป็นลายลักษณ์อักษรแทน
นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนกรรมการ ป.ป.ช.แถลงว่า ประเด็นที่ผู้ถูกกล่าวหายกมาต่อสู้และแคลงใจอยู่ ในประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของการเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ของนายภักดีคงเป็นที่ชัดเจนไปแล้วจากหลักฐานต่างๆ ที่ยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งชอบด้วยกฎหมายทุกประการ แต่คำถามที่อาจจะข้องใจ คือ เมื่อ สนช.มีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ว.ไปแล้วในเรื่องเดียวกัน ทำไมกรรมการ ป.ป.ช.จึงดันทุรังชี้มูลความผิดอดีต ส.ส.ทั้ง 248 คน ขอชี้แจงว่า กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแตกต่างจากกระบวนการพิจารณาของศาล คือ เมื่อศาลวินิจฉัยเด็ดขาดไปแล้วในกระบวนการหลังต้องยึดถือตามนั้นเป็นบรรทัดฐาน แต่เรื่องเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความแตกต่าง คือ การดำเนินการไต่สวนอุทธรณ์มีหลักการอย่างหนึ่ง ส่วนการพิจารณาของ สนช.ก็มีหลักเกณฑ์อีกอย่าง ทาง ป.ป.ช.จะพิจารณาว่าคำร้องขอให้ถอดถอนมีมูลหรือไม่ กรรมการ ป.ป.ช.ต้องให้เหตุผลในรูปกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ที่สำคัญต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ส่วนกระบวนการปลายทาง คือการพิจารณา สนช.ที่ทำหน้าที่เป็นวุฒิสภาไม่ใช่กระบวนการตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. มีหน้าที่พิจารณาว่าจะถอดหรือไม่ถอดเท่านั้น เป็นดุลพินิจทางการเมืองไม่มีระบบการให้เหตุผลและไม่ผูกพันองค์กร ดังนั้นจึงต้องมีการไต่สวนต่อไปทั้งที่ สนช.มีมติไม่ถอดอดีต ส.ว.ไปแล้ว
นายวิชัยกล่าวว่า ในทางวิชาการถือว่าพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นภารกิจของวุฒิสภาโดยแท้ ส่วนกรรมการ ป.ป.ช.เป็นเพียงกลไกของวุฒิสภาอย่างหนึ่งเท่านั้น ในฐานะต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 คือต้องเคารพการทำงานของ สนช. และต้องไม่แย่งชิงการทำหน้าที่ของ สนช.มาทำเสียเอง จึงต้องส่งเรื่องมาให้ สนช.พิจาณาในวันนี้ และการถอดถอนไม่ใช่มีความมุ่งหมายเฉพาะนำบุคคลที่ไม่เหมาะสมออกจากตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังให้การเรียนรู้กับประชาชนจะได้เข้าใจระบบการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องมีองค์ประกอบสองอย่าง คือ เสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย คือเสียงข้างมากต้องปกครองประเทศ แต่เสียงข้างน้อยก็ต้องมีหลักประกันพอสมควรในการตรวจสอบเสียงขางมาก
ส่วนความผิดคดีถอดถอนอดีต ส.ส.248 คนที่กำลังพิจารณานี้ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 58 (4) คือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทาง ป.ป.ช.ต้องวินิจฉัยว่าการร่วมกับนายอุดมเดช และสมาชิกคนอื่นร่วมลงมติในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มฉบับที่มีปัญหาเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ คือในมาตรา 290 (1) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคล 4 กลุ่ม จึงต้องวินิจฉัยว่าร่างที่กลุ่มคนเหล่านี้นำมาใช้พิจารณาและลงมติในวาระที่ 1/2/3 จัดอยู่ในกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดใน 4 หรือไม่ ซึ่งพบว่ามีการยื่นแก้ไขเพิ่มต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอย่างถูกต้อง แต่กลับไม่ได้นำมาใช้ในการพิจารณาและลงมติในที่ประชุม โดยร่างที่นำมาพิจารณาเป็นอีกร่างหนึ่งมีหลักการเนื้อหาต่างจากเสนอญัตติ คือ มีการเพิ่มมาตรา 6 ผลทำให้การแก้ไขข้อความ 116 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ปลดล็อกข้อห้ามไม่ให้ ส.ว.ดำรงตำแหน่งสองคราวติดต่อกัน
ทั้งนี้ ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีการกล่าวถึงที่มาที่ไปของร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้ในสภา โดย ผอ.สำนักประชุมสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ได้ชี้แจงว่า นิติกรชำนาญพิเศษสำนักประชุมแจ้งว่ามีผู้มาขอเปลี่ยนร่าง โดยเป็นข้าราชการในสำนักเลขาธิการสภาซึ่งเป็นคนของนายอุดมเดช แต่ไม่มีการประสานจากนายอุดมเดชแต่อย่างใด และมีการนำไปใช้พิจารณาเห็นชอบวาระ 1, 2 และ 3 ดังนั้น ร่างที่นำมาสับเปลี่ยนจึงไม่ใช่ร่างที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) อย่างแน่นอนและจากกระบวนการที่สืบเนื่องจากนั้นคือการลงมติในมาตราวาระ 1/2/3 กลายเป็นการลงมติที่ไม่ชอบไปด้วย จึงถือว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างสมบูรณ์แล้ว ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างเรื่องกระบวนการนิติบัญญัติว่าเป็นเอกสิทธิที่สมาชิกรัฐสภาจะทำได้นั้น ตามหลักว่าด้วยกระการนิติบัญญัติถือเป็นหลักตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ เป็นแค่แนวทางการบังคับใช้อีกทีเท่านั้นและหลักการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแตกต่างกับร่างพระราชบัญญัติ คือมีการเสนอในรูปของญัตติ ดังนั้นสมาชิกทุกคนที่ร่วมลงชื่อและร่วมกันลงมติทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ
“การถอดถอนถือเป็นมาตรการถ่วงดุลหรือคานอำนาจอย่างหนึ่ง ที่นอกจากสกัดกั้นบุคคลไม่เหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่งการเมืองแล้วยังให้ความรู้ประชาชนถึงแก่นแท้ของการปกครองแบบประชาธิปไตยอีกด้วย ตลอด 90 ปีของการปกครองคนไทยรู้จักเพียงด้านเดียว คือ ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก แต่ไม่ให้ความสนใจต่อปัญหาเรื่องการรังแกเสียงข้างน้อยเลย ดังนั้น เรื่องนี้จะทำให้เสียงข้างน้อยมีหลักประกัน หรือมีที่ยืน มีความอดกลั้นและยอมรับความพ่ายแพ้แก่การเลือกตั้ง และไม่ทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบด้านได้อายอดของเสียงข้างมากอย่างที่เป็นอยู่นี้ ดังนั้นประสิทธิภาพการถอดถอนในคดีนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศด้วย” นายวิชัยระบุ
ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย แถลงปิดสำนวนว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของอดีต ส.ส.248 คนทำด้วยความสุจริต ไม่มีอะไรแอบแฝง ยึดหลักประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ดำเนินการตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ และขั้นตอนการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ยืนยันว่าการแก้ไขร่างกฎหมายทำได้ ตราบใดที่ประธานสภาฯ ยังไม่สั่งบรรจุร่างเข้าสู่วาระการประชุม ที่ผ่านมาเคยมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมมาแล้ว ซึ่งอดีตรองประธานวุฒิสภาที่ขณะนี้เป็นรองประธาน สนช. ก็เคยไปให้ปากคำต่อ ป.ป.ช.ว่าสามารถทำได้ เรื่องนี้เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นร่างปลอม แต่ขอยืนยันว่ามีเพียงร่างเดียวตั้งแต่วาระ 1-3 ซึ่งตลอดการพิจารณาวาระสอง ฝ่ายผู้ร้องก็ไม่เคยท้วงติงว่าเป็นร่างปลอม
นายสามารถกล่าวว่า ขณะนี้สังคมยังกังขาถึงคุณสมบัตินายภักดี โพธิศิริ ว่ามีคุณสมบัติเป็นกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ เพราะไม่ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทเอกชนภายในเวลาที่กำหนด หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ขณะที่ ป.ป.ช.บางคนมีอคติต่อ ส.ส. โดย ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ส. 248 คน ในวันเดียวกับที่ สนช.ลงมติว่า อดีต ส.ว.38 คน ไม่มีความผิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีที่มา ส.ว. ทั้งที่เป็นฐานความผิดเดียวกัน น่าคิดว่าเป็นอคติ ไม่ยึดหลักการที่ถูกต้องหรือไม่ จะต้องเล่นกันให้สุดๆ เลยใช่หรือไม่ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันไม่มีรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจอ้างรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้วมาลงโทษ พวกตนและอดีต ส.ส.248 คนพ้นจากหน้าที่ไปแล้วจึงไม่มีตำแหน่งอะไรเหลือให้ถูกถอดถอนอีก ทั้งนี้หวังว่า สนช.จะยึดการลงมติกรณีอดีต 38 ส.ว.มาพิจารณาเป็นบรรทัดฐานในการลงมติคดีนี้เช่นกัน
จากนั้นนายสุรชัย ในฐานะประธานที่ประชุมได้นัดสมาชิกพิจารณาลงมติถอดถอนอดีต ส.ส.248 คน ในวันพรุ่งนี้ (14 ส.ค.) เวลา 10.00 น.