สนช.ประชุมกระบวนการถอดถอน 248 อดีต ส.ส.แก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. แยก 3 กลุ่มความผิด กำหนดวันแถลงเปิดสำนวน 15-16 ก.ค. ยื่นญัตติซักได้ถึง 20 ก.ค. ตัวแทนดอีต ส.ส.โวย ป.ป.ช.เร่งทำคดีขาดความน่าเชื่อถือ ขอเพิ่มพยาน ป.ป.ช.ค้านอ้างมีในสำนวนอยู่แล้ว ก่อนที่ประชุม สนช.ลงมติ ไม่อนุญาตให้เพิ่มพยานหลักฐาน
วันนี้ (26 มิ.ย.) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วนในกระบวนการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 149 เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และ ส.ส.จำนวน 248 คน ผู้ถูกกล่าวหา
นายสุรชัยชี้แจงว่า ป.ป.ช.ได้พิจาณาแยกสำนวนคดีตามฐานความผิดออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ส.ส.จำนวน 239 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. รวมทั้งพิจารณาและลงมติในวาระ 1 วาระ 2 โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 ที่มีผลทำให้ ส.ว.ที่พ้นวาระแล้วสามารถกลับมาลงสมัครได้ทันที และวาระ 3 โดยถือว่าจงใจใช่อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ 1 มีสมาชิก 2 คน ประกอบด้วยนายทองดี มนิสสาร และนายตุ่น จินตะเวช ได้ถึงแก่กรรม จึงไม่ต้องนำมาพิจารณาตามข้อบังคับ
กลุ่มที่ 2 ส.ส.จำนวน 1 คน ที่ลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ พิจารณาและลงมติในวาระ 2 และวาระ 3 ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อนุ 1 วรรคหนึ่ง และ กลุ่มที่ 3 ส.ส.จำนวน 10 คน ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาและลงมติในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 โดยถือว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อนุ 1 วรรคหนึ่ง
จากนั้นที่ประชุมได้กำหนดวันแถลงเปิดสำนวนคดีของ ป.ป.ช. และ ส.ส.248 คน ในวันที่ 15-16 ก.ค. เวลา 10.00 น. พร้อมแจ้งให้สมาชิกยื่นญัตติข้อซักถามได้ถึงวันที่ 20 ก.ค.นี้ ภายในเวลา 12.00 น.
ต่อมาเป็นการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เพิ่มพยานหลักฐานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่โดย นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ตัวแทนฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงว่า ป.ป.ช.ได้อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าพวกตนเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญระงับยับยั้ง ซึ่งการดำเนินการเอาผิดตามมาตราดังกล่าวจะต้องไปยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อให้อสส.ตรวจสอบพฤติกรรมก่อน เพราะโทษตามมาตรา 68 นั้นหนัก รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำขอทั้ง 6 นั้น มี 3 คำขอ ที่เป็นเรื่องใหม่ คือ คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 กระทั่งมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 57 ขึ้นมา จนศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 สิ้นสุดลงแล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาจึงได้จำหน่ายคดีออกไป และถ้าจะใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นก็ต้องผูกพัน ป.ป.ช.ด้วย และรายงานการประชุมของสนช.เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 58 ที่ประชุมลงมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ซึ่งเป็นฐานความผิดเดียวกับอดีต 248 ส.ส. อีกทั้งมีอดีต ส.ส.เสียชีวิต 2 คน ก่อนที่ ป.ป.ช.จะมีมติวินิจฉัยพวกตนโดยไม่มีการตัดชื่อบุคคลทั้งสองออกไป แสดงให้เห็นถึงการเร่งรัด รีบเร่งทำสำนวนของ ป.ป.ช.ที่ขาดความน่าเชื่อถือ
ขณะที่นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ป.ป.ช.ขอคัดค้านทุกคำขอของผู้ถูกกล่าวหา เพราะ 3 รายการแรกมีอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.อยู่แล้ว ส่วนคำขอที่ 4 และ 5 ไม่มีอยู่ในสำนวนก็จริง แต่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดี เนื่องจากสำนวนนี้เป็นอำนาจของ สนช.ว่าจะถอดถอนหรือไม่ เมื่อ สนช.รับเรื่องแล้ว ก็ถือว่าเป็นอันสิ้นสุด ไม่มีปัญหาในเรื่องของอำนาจอีกต่อไป ส่วนคำขอที่ 6 ที่เป็นบันทึกผลการลงมติในการประชุมของ สนช.ที่มีมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ที่นั้น แม้จะเป็นเรื่องเดียวกันแต่ก็เป็นคนละกระบวนการกัน
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ อดีตส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ตัวแทนในการขอเพิ่มพยานหลักฐานในกลุ่มที่ 2 โดยเป็นคำขอที่ 2-6 ซึ่งหลักฐานที่ขอเพิ่ม คือ รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการรัฐสภา ในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 111-114 แต่นายวิชัยได้คัดค้านการเพิ่มเติมพยานหลักฐาน พร้อมระบุว่าหลักฐานดังกล่าวมีอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว โดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นผู้ร้องได้ยื่นมาแล้ว
จากนั้นนายสุรชัยได้ขอให้สมาชิกลงมติว่าจะอนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหา เพิ่มเติมพยานหลักฐานทั้งหมด 6 คำขอ 7 รายการหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่อนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มพยานหลักฐานทั้ง 6 คำขอและ 7 รายการ