xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ซัก 18 คำถาม ป.ป.ช.-38 ส.ว. “วิชัย” ย้ำผิดลงมติร่าง รธน.ปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนช.ตั้ง 18 คำถามซัก “ป.ป.ช-อดีต 38 ส.ว.” ด้าน “วิชัย” ย้ำความผิดร่วมรู้เห็นลงมติร่าง รธน.ปลอม ป้อง “ภักดี-สุภา” คุณสมบัติถูกต้อง ระบุ ป.ป.ช.แฟร์เพลย์ ส่งเสียงข้างน้อยมาชี้แจงพิสูจน์ไม่มุ่งร้าย ขณะที่ “ดิเรก” ยันอดีต ส.ว.ที่ลงมติส่วนใหญ่ไม่คิดลงสมัครวุฒิฯ อีก “พีระศักดิ์” นัดแถลงปิดคดี 11 มี.ค. พร้อมลงมติถอดถอน 13 มี.ค.




ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (5 มี.ค.) ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอนอดีต 38 ส.ว.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็น ส.ว.โดยมิชอบ โดยเป็นขั้นตอนการซักถามของคณะกรรมาธิการ มีสมาชิก สนช.ส่งคำถาม 18 คำถาม โดยเริ่มต้นจากการซักถามฝ่าย ป.ป.ช. คำถามส่วนใหญ่เป็นประเด็นเดิมที่เคยอภิปรายในระหว่างแถลงเปิดคดี เช่น เหตุใด ป.ป.ช.ยังเสนอเรื่องถอดถอน 38 ส.ว.มายัง สนช. ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกด้วยประกาศ คสช. และกรณีคุณสมบัติของนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ที่ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรม ภายในเวลาที่กำหนด หลังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ถือว่าองค์ประกอบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังถูกต้องหรือไม่

รวมถึงกรณี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ที่เข้าร่วมประชุมกรรมการ ป.ป.ช.ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 9 ก.ย. 57 มีความถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนขอให้ระบุว่าความผิดของอดีต 38 ส.ว.มีฐานความผิดแบ่งเป็นกี่กลุ่ม เหตุใดจึงเห็นว่าคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาที่ว่าไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ลงมติกับฉบับที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขเป็นคนละฉบับกัน ฟังไม่ขึ้น และความผิดของผู้ถูกกล่าวหา ผิดต่อหลักนิติธรรมและทำลายหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาจะได้ประโยชน์จากการผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขให้ลงสมัครเป็น ส.ว.อีกสมัยได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรคอย่างไร

นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ตัวแทนฝ่าย ป.ป.ช.ชี้แจงว่า แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ แม้ทั้ง 38 คนจะพ้นตำแหน่งไปแล้วก็ยังต้องถอดถอน เพราะมีโทษถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีอยู่

ส่วนคุณสมบัติของนายภักดีนั้น นายภักดีแสดงเจตนารมณ์ลาออกในเวลาที่กำหนดคือ ก่อนวันที่ 6 ต.ค. 2549 ถือว่ามีผลโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่ากระบวนการจดทะเบียนทางธุรกรรมจะไปทำในภายหลังก็ไม่มีผลอะไรแล้ว เพราะการลาออกมีผลตั้งแต่แสดงเจตนา ส่วนกรณี น.ส.สุภาเข้าร่วมการประชุมในสำนวน ป.ป.ช.ชุดใหญ่นั้น น.ส.สุภาเข้าร่วมลงมติในสำนวนการประชุมคดีอดีต 38 ส.ว.ในครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2557 หลังจากที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2557 แต่ที่มีชื่อของ น.ส.สุภาอยู่ในสำนวนการประชุม ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 57 เป็นเพียงแค่มีชื่ออยู่ในใบปะหน้าของสำนวน ซึ่ง น.ส.สุภาไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้อง เป็นเพียงขั้นตอนทางธุรการไม่ได้มีปัญหาอะไร

“ยืนยันว่า ป.ป.ช.ทำถูกต้องทุกอย่าง ผมที่เป็นกรรมการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยในการพิจารณาเรื่องนี้แต่กรรมการ ป.ป.ช.ก็ให้ผมเป็นตัวแทนมาทำหน้าที่นี้ เพื่อให้เห็นว่าเราทำเรื่องนี้ตรงไปตรงมา หรือแฟร์เพลย์ ไม่มีเจตนาเอาผิดพวกท่าน หาก ป.ป.ช. มุ่งร้าย อดีตวุฒิสภาทั้ง 38 คนก็คงไม่ส่งผมมาทำหน้าที่ดังกล่าว”

สำหรับฐานความผิดของอดีต 38 ส.ว. คือ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ไม่มีข้อหาอื่น มีพฤติการณ์ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.ทั้งที่รู้ว่าเป็นคนละฉบับกับร่างที่เข้าชื่อเสนอแก้ไข บทที่เป็นความผิดโดยตรง คือ มาตรา 58 ของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยคนที่ลงมติในแต่ละมาตรา ย่อมทราบดีว่าเป็นร่างจริงหรือร่างสอดไส้ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความสำคัญยิ่งยวดต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการรับรู้โดยทั่วกัน ต้องแจกจ่ายร่างแก้ไขให้ฝ่ายค้านทราบ เพื่อถ่วงดุลเสียงข้างมาก การอ้างว่า ไม่ทราบว่าร่างฉบับที่ลงมติเป็นร่างแก้ไขใหม่จึงฟังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ไม่ได้ให้ความสำคัญว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เรื่องสำคัญที่ ป.ป.ช.วินิจฉัย คือ การที่ร่างรัฐธรรมนูญที่เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขกับฉบับที่มีการลงมติเป็นคนละฉบับกัน และไม่ได้มีการแจกจ่ายให้สมาชิกคนอื่นได้รับทราบถือว่าไม่ถูกต้อง

ส่วนการซักถามฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา เช่น ทราบหรือไม่ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมไม่ใช่เอกสารจริง เป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ การมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งนายวิทยา อินาลา อดีต ส.ว.นครพนม ชี้แจงยืนยันว่าร่างที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและใช้ในการพิจารณามีร่างเดียวไม่ใช่เอกสารปลอม แต่เป็นร่างที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และสมาชิกรัฐสภา 308 คนได้ยื่น และมีการแก้ไขก่อนที่ประธานจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยมีการแก้ไขจาก 12 มาตรา เป็น 13 มาตรา และเป็นร่างที่นายอุดมเดช ได้แถลงหลักการต่อที่ประชุมรัฐสภา จึงถือว่าเป็นร่างเดียวกัน โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามกระบวนการนิติบัญญัติที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 กว่า 80 ปีแล้ว และที่ผ่านมามีการเปลี่ยนเนื้อหาก่อนที่ประธานจะบรรจุระเรียบวาระ เช่น ร่าง พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม ของนายนิยม วรปัญญา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และคณะ และร่าง พ.ร.บ.การค้า พ.ศ... ของนางอานิก อัมระนันทน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์

นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี ชี้แจงว่า ไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์แต่อย่างใด รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่างจากการบริหารประเทศในลักษณะอื่นซึ่งเรายึดหน้าที่ในการปฏิบัติตามมาตรา 291 ทุกประการ และไม่ได้หมายความว่าเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วพวกตนทั้ง 38 คนจะลงเลือกตั้ง แต่เมื่อไหร่ที่พวกตนลงสมัครรับเลือกตั้งถึงจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ตนนี้ไม่มีใครคิดจะลงเลือกตั้ง ถือว่าความผิดยังไม่สำเร็จ องค์ประกอบยังไม่ครบ บางคนคิดจะลงสมัครก็ไม่รู้ว่าจะได้รับเลือกหรือไม่

ส่วนที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีเจตนาเพื่อตัวเองหรือไม่ในการกำหนดให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการสรรหานั้น เวลาที่ ป.ป.ช.จะกล่าวโทษเรา ป.ป.ช.ก็อ้างศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนได้ชี้แจงไปแล้วว่าศาลรัฐธรรม ไม่รับวินิจฉัย มาตรา 68 โดยระบุว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ คสช.ยังคง ป.ป.ช.ไว้ ทำให้ ป.ป.ช.อาศัยอำนาจตรงนี้ แต่คำสั่งของ คสช.ที่ให้คง ป.ป.ช.ไว้เพื่อให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาระบบคอร์รัปชัน ที่รัฐบาลจะต้องบริหารประเทศต่อ ไม่ได้หมายว่าให้เอาเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีปัญหาเข้าสู่การพิจารณา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าผูกพันทุกองค์กร ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นคำถาม ได้ที่ตอบไปแล้ว จึงไม่ขอตอบอีก

“ผมยืนยันว่าไม่ลงสมัคร ส.ว.แน่นอน ได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ไปแล้ว และได้ประกาศผ่านสถานีวิทยุ ในจังหวัดนครพนมว่าจะไม่ลงสมัคร ส่วนอนาคตนั้นตอบไม่ได้ และอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน เป็นสิทธิและเสรีภาพว่าจะทำอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ไม่ลงสมัคร เพราะลงแล้วไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ได้ ก็ยังไม่ทราบ ดังนั้นอย่าไปอ่านอนาคตว่าใครจะดีหรือจะเลวอย่างไร”

จากนั้นนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้แจ้งว่า มีการแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจาทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 11 มี.ค. จากเดิมที่เคยกำหนดไว้วันที่ 12 มี.ค. ขณะที่ สนช.ได้กำหนดลงมติในวันที่ 13 มี.ค.และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง






กำลังโหลดความคิดเห็น