อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เผยหลังประชุม กนช. “ประยุทธ์” กำชับแก้ปัญหายึดแผนยุทธศาสตร์น้ำ 6 เรื่อง ของ “ฉัตรชัย” ทำแล้ว 12 กิจกรรม มุ่งให้ได้น้ำใช้เกษตร 7.6 พันล้าน ลบ.ม. และสั่งเสนอ 4 แนวทาง กปน.แก้ปัญหาน้ำ กทม.-ปริมณฑล ข้อมูลชี้ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำแยะสุด สั่งราชการลดใช้น้ำ 10% แจงตั้ง 2 อนุกก.สอดรับยุทธศาสตร์ ลั่นต่อไปนี้สถานการณ์น้ำจะมาจากจุดเดียว วอนทุกภาคส่วนประหยัด “บิ๊กตู่-หม่อมอุ๋ย” ปกติดีหลังมีข่าวนินทา
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2558 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในที่ประชุม ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้กำชับเรื่องการแก้ไขปัญหาโดยนำเอาแผนยุทธศาสตร์น้ำของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่งมอบแผนยุทธศาสตร์น้ำ 6 เรื่องให้ กนช.ขับเคลื่อนต่อไป ในปัจจุบันภายหลังจากที่ คสช.ได้แต่งตั้ง พล.อ.ฉัตรชัย เป็นประธานคณะกรรมการน้ำ ได้มีการดำเนินงานทั้งหมด 12 กิจกรรม ตั้งแต่เรื่องน้ำกินน้ำใช้ การประปาหมู่บ้าน ประปาโรงเรียน การเพิ่มพื้นที่ชลประทานเพื่อความมั่นคงของภาคเกษตร การหาแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ขุดสระน้ำในไร่นา การพัฒนาแหล่งน้ำ การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การฟื้นฟูป่า รวมถึงการป้องกันการพังทลายของดิน ซึ่งมีเป้าหมายให้มีปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร 7,675 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งปัจจุบันมีน้ำเก็บอยู่เพียง 257 ล้าน ลบ.ม. เมื่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้ส่งมอบแผนยุทธศาสตร์น้ำมาให้แล้ว ทาง กนช.ก็ต้องไปดำเนินการต่อเพื่อทำให้แผนฯสมบูรณ์ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ 3 ระยะ ประกอบด้วยวาระเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ดำเนินงานไปจนถึงปี 2569 ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2558 กนช.สามารถที่จะปรับเปลี่ยนแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้ได้มากที่สุด
นายจตุพรกล่าวว่า จากปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะน้ำที่ทางการประปานครหลวง (กปน.) เป็นผู้ผลิต พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ตนในฐานะเลขานุการ กนช.เสนอ 4 แนวทางสำหรับให้ กปน.และกรมชลประทานในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่จัดหาน้ำแนวทางที่ 1 คือ การไปทำการศึกษาในการดึงน้ำจากฝั่งตะวันตก เดิม กปน.ได้ขอไว้อยู่แล้วที่ 45 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันนำมาใช้จริงไม่เกิน 20 ล้าน ลบ.ม. จึงจำเป็นจะต้องไปทำการศึกษาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นและจะเป็นการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาน้อยลง แนวทางที่ 2 คือ ทำการศึกษาความเหมาะสมในการตัดเส้นทางส่งน้ำโดยตรงของแม่น้ำเจ้าพระยามายังสถานีสูบน้ำดิบสำแล เพราะอาจกระทบต่อปัญหาการผลักดันน้ำเค็ม แนวทางที่ 3 สถาบันสารสนเทศเพื่อการเกษตร ได้เสนอการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับ กปน.บริเวณจังหวัดนครนายก ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทานร่วมศึกษาในประเด็นนี้ด้วย และแนวทางที่ 4 คือศึกษาแนวทางการใช้น้ำก้นอ่างของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ข้อมูลปัจจุบันมีน้ำก้นอ่างรวมทั้ง 2 เขื่อนอยู่ที่ 7,500 ล้าน ลบ.ม.
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำได้เสนอข้อมูลการใช้น้ำของ กปน.ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเห็นได้ว่า เป็นการใช้ในภาคครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 49 ส่วนร้อยละ 51 เป็นการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และภาคราชการ เมื่อจำแนกมาแล้วภาคราชการใช้น้ำเป็นร้อยละ 19 พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้มีการปรับลดการใช้น้ำของภาคราชการลง ร้อยละ 10 เพื่อเป็นตัวอย่างในการประหยัดการใช้น้ำ แล้วต้องมีการรายงานให้หัวหน้าหน่วยราชการได้รับทราบ
สำหรับการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในด้านต่างๆ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คณะอนุฯ ฝ่ายจัดหาน้ำ หรือภาคซัพพลายและคณะอนุฯ ฝ่ายการใช้น้ำหรือภาคดีมานด์ ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ภาคดีมานด์ลดการใช้น้ำลง รวมถึงจะมีคณะอนุฯ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และคณะอนุฯฝ่ายติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้บอกให้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม
“ต่อไปนี้สถานการณ์น้ำจะต้องออกมาจากจุดเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจแก่พี่น้องประชาชน” นายจตุพรกล่าว
ในกรณีการจัดหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนจะมาจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย มาจาก กปน. 9% มาจากการประปาส่วนภูมิภาค 17% และที่เหลือส่วนใหญ่จะมาจากการประปาท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ไม่มีระบบการประปาท้องถิ่นอยู่ 7,490 แห่ง จากการดำเนินกิจกรรมตามแผนงานขณะนี้ได้ทำไปแล้ว 4,456 แห่ง โดยตามเป้าหมายจะต้องแล้วเสร็จให้ครบทั้งหมดในปี 2560 และพื้นที่ซึ่งยังขาดแคลนน้ำในปัจจุบันส่วนใหญ่จะอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตภาคเหนือและภาคกลางบางจังหวัด ทางภาคการเกษตรก็ต้องพยายามปรับตัว โดยเฉพาะการปลูกข้าวซึ่งใช้น้ำปริมาณมาก ทางคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็ได้พยายามศึกษาหาแนวทางสำหรับการปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เวลา โดยยุทธศาสตร์การดำเนินงานในระยะยาวจะเน้นการขุดแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะบริเวณใต้อ่างเก็บน้ำ เพื่อสามารถเก็บกักน้ำฝนที่ตกลงมาซึ่งมีแผนการดำเนินงานอยู่มากปัจจุบันแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 75% ทั้งนี้ก็ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการใช้น้ำอย่างประหยัด
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเข้าร่วม ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกหลังมีกระแสข่าวว่า ระหว่างการประชุมสมาคมธนาคารไทย วันที่17 ก.ค. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้กล่าวถึงนายกฯ ว่าไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจแต่ตอบคำถามนักข่าวทุกเรื่องได้ว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอะไรผิดปกติ โดยนายกฯ ได้สั่งงาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ในการปรับแผนงบประมาณปี 58 หลังเจอวิกฤตภัยแล้ง ในส่วนของงบที่จะสร้างงานให้กับเกษตรกรเป็นปกติ ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรก็รับไปดำเนินการด้วยดี