xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจชงรัฐฯแก้แล้ง สร้างเขื่อนกั้นเจ้าพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- พระบรมโอสาธิราชฯ พระราชทานน้ำดื่มช่วยผู้ประสบภัยแล้ง "ประยุทธ์" เผยรัฐบาลมีแผนให้ไทยไม่ขาดน้ำถึงปี 69 ขณะที่ฝนตกตอนบนทำน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นแล้ว กรมชลฯเ ตรียมส่งน้ำช่วยนาข้าวตั้งท้อง ขณะที่ ส.อ.ท.ศึกษาการสร้างเขื่อนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ป้องกันคลื่น แก้น้ำทะเลหนุน ช่วงวิกฤติแล้ง เล็งเสนอรัฐบาล

เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานน้ำดื่มแก่โครงการปันน้ำดื่มเพื่อพี่น้องไทยประสบภัยแล้ง "น้ำพระทัย Bike for Mom พระราชทานดับภัยแล้ง" เพื่อนำไปมอบให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาคเอกชนร่วมบริจาคในโครงการ อาทิ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำดื่มช้าง บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซีสเทม จำกัด ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และโรงแรมรามาการ์เด้นท์ ซึ่งรัฐบาลขอขอบพระคุณในไมตรีจิตของทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง ว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การบริหารจัดการน้ำทั้งหมด เป็นวาระแห่งชาติ เป็นการวางแผนให้ประเทศไทยไม่ขาดน้ำจนถึงปี 2569 การดำเนินการต่างๆ กำหนดไว้เป็นขั้นตอน ตามช่วงระยะเวลา โดยช่วงแรก ระหว่างปี 57- 59 ตั้งเป้าหมายดำเนินการ 12 กิจกรรม ทั้งการหาแหล่งน้ำเพิ่ม การทำระบบส่งน้ำ การขุดลอกคูคลอง การทำแก้มลิง ทำบ่อขนมครก การขุดบ่อน้ำในไร่นา การขยายอ่างเก็บน้ำให้เพิ่มความจุ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำ จนถึงปี 69 ทั้งสิ้นตามการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี และอาจมีงบเงินกู้เล็กน้อย ที่เตรียมไว้ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท จากนั้นก็ส่งต่อ หลังปี 60 ต่อไป หากสามารถดำเนินการได้ครบ ก็จะทำให้เรามีพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้น ระบบชลประทานเพิ่มขึ้น และระยะยาวต้องมาหารือว่า จะใช้น้ำระหว่างประเทศได้อย่างไร ซึ่งคงต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้มีการขุดบ่อไป 5-6 พันบ่อ แต่ฝนไม่ตก

"ผมเชื่อว่าเดี๋ยวฝนก็คงมา ถ้าเรามีความรัก ความสามัคคี อะไรมันก็ดีขึ้นเอง ผมไม่อยากให้เกิความขัดแย้ง โดยเฉพาะข้าราชการของรัฐที่ช่วยกันทำงาน วันนี้ก็มี คสช. เข้าไปช่วย ยืนยันว่าไม่ทำให้ใครเดือดร้อนอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำความเข้าใจกันอย่างไร "นายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับมาตรการความช่วยเหลือนั้น การบริจาคน้ำดื่มที่มีการรณงค์กัน ถือเป็นคนละเรื่อง เป็นการแสดงน้ำใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้มุ่งหวังจะไปขอใคร แต่ทุกคนต้องการมีความร่วมมือ และประสงค์ที่จะบริจาคน้ำดื่ม โดยรัฐบาลจะเป็นคนกลาง และจัดส่งไปยังศูนย์ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เป็นเรื่องของความร่วมมือ เหมือนกรณีที่เคยช่วยเหลือประเทศเนปาล และญี่ปุ่น เพราะคนไทยไม่เคยแล้งน้ำใจ อยากเห็นภาพความร่วมมือ ความรักความสามัคคีระหว่างคนที่ไม่เดือดร้อนกับชาวไร่ ชาวนา

ทั้งนี้ มาตรการระยะที่ 1 ซึ่งจะทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว สิ่งแรกคือ การจ้างงานเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะรับไปดำเนินการในทุกจังหวัด โดยใช้งบประมาณของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งจะอนุมัติให้กับจังหวัด จังหวัดละ 10 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงาน หากไม่พอ รัฐบาลก็จะหาเงินอุดหนุนให้ ซึ่งจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทุกคนมีเงินใช้

มาตรการที่ 2 ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีงบประมาณอยู่แล้วไปดูแลการปลูกพืชทางการเกษตร หรือพืชหมุนเวียนการเกษตร เพื่อทดแทนกรณีที่ปลูกข้าวไม่ได้ รวมกับงบฯจ้างงานของกรมชลประทาน โดยจะเดินไปควบคู่กัน ซึ่งการแก้ปัญหาในจุดนี้ อาจจะมีปัญหาเรื่องข้าว และ พืช ผัก ผลไม้ จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลการใช้จ่ายน้ำให้ทั่วถึง โดยคสช. จะลงไปดูแล และชี้แจงรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ขอร้องว่า ให้เห็นใจทหารที่ลงพื้นที่ไปดูแล ระยะต่อไปคือ เตรียมดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้น ขอร้องประชาชนอย่าตื่นตระหนกมากนัก เพราะรัฐบาลจะดูแลทั้งในส่วนที่ปลูกไปแล้ว และเกิดความเสียหาย หรือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูก ว่าเสียโอกาสหรือไม่ และ พื้นที่ปลูกนาปรัง ก็ต้องดูเป็นระยะๆ เพราะจะให้เหมาทีเดียวทั้งหมด ก็ไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลดูแลทุกส่วน

" ผมเห็นมีคนมาร้องห่มร้องไห้ ผมเห็นแล้วรู้สึกบีบคั้นผมพอสมควร ขอให้รู้ไว้ว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะทำให้ทุกคนต้องเสียน้ำตาอะไรเลย เพราะน้ำมันน้อยอยู่แล้ว ขอให้เก็บน้ำตาไว้เพื่อแสดงความดีใจดีกว่าเมื่อฝนมา อย่าคิดว่าเราต้องช่วยที่เดียวทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องจัดลำดับความเร่งด่วน วันนี้บางคนก็ทำตามคำแนะนำที่รัฐบาลให้ไป ทำให้เสียโอกาสในการเพาะปลูก บางคนทำแล้วก็เกิดความเสียหาย ก็ต้องมาดูในรายละเอียด และทั้งหมดจะนำรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุมแผนบริหารจัดการน้ำ ในเช้าวันพุธที่ 22 ก.ค.นี้ ก็ขอให้ทุกคนสบายใจว่า จะมีเงินใช้จ่าย แม้จะไม่มากมาย ซึ่งตนต้องการให้รวมตัวกัน เสนอเป็นโครงการ เพื่อการให้ความช่วยเหลือจะได้รวดเร็วขึ้น สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือการสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด เราจำเป็นต้องดูแลภาพรวมทั้งหมด เพื่อไม่ให้ปัญหากลับมาอีก วันนี้รัฐบาลเห็นใจทุกคน ขอร้องอย่าไปทำร้ายตัวเองไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปทำร้ายตัวเอง หากมีปัญหาอะไรให้มาร้องเรียนยังศูนย์ดำรงธรรม รัฐบาลพร้อมที่ดูแลทุกคน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เราจะดูแลคนทั้ง 70 กว่าล้านคน"

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในการลงพื้นที่ จ.ระยอง ที่ผ่านมารู้สึกดีใจที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เพราะมีทรัพยากร และมีแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นบทเรียนว่า เราต้องสร้างแหล่งน้ำจำนวนมากด้วยตัวเอง จากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จะเข้าไปดูแล โดยการตั้งเครื่องสูบน้ำขึ้นมา แต่บางที่ก็มีปัญหา เพราะไม่มีไฟฟ้า ในส่วนของแหล่งน้ำบาดาล ยอมรับว่ามีความกังวลเมื่อดำเนินการขุดไปแล้วส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาใช้เพื่อการเกษตร แต่เป็นน้ำสำหรับการอุปโภค และบริโภค ทดแทนน้ำประปา ที่อาจขาดในอนาคต วันนี้แม้จะมีปริมาณฝนตกลงมาแต่ก็ไม่มาก เท่าที่ติดตามดูฝนไปตกลงที่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์ รวมทั้งเขื่อนแควน้อย เขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้มีกำลังใจดีขึ้น แต่การระบายน้ำช่วงไหนจำเป็นต้องลด ก็ต้องลด วันนี้ต้องเห็นใจคนในชุมชนเมืองด้วย แม้ไม่ได้ปลูกข้าว แต่ก็ทำธุรกิจค้าขาย การท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ก็ขอความร่วมมือให้ประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย อย่าล้างรถทุกวัน วันนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันประหยัดน้ำประปา แต่วันนี้เป็นที่น่ายินดีว่า ฝนตกมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันทำความดีต่อไป

**ฝนตกตอนบนทำน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น

ส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดวันที่ 20 ก.ค.ว่า เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 3,920 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 29 ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ 120 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,115 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 น้ำใช้การได้ 265 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 101 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11 น้ำใช้การได้ 58 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 41 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 4 น้ำใช้การได้ 38 ล้าน ลบ.ม. รวม 4 เขื่อน มีน้ำใช้การได้รวมกัน 481 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีฝนตกทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาบ้างแล้ว ประกอบกับการดำเนินตามมาตรการงดการส่งน้ำ และงดการสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำต่างๆ ทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ +13.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้น้ำไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักได้ โดยไม่ต้องอาศัยการสูบน้ำ สามารถส่งน้ำไปช่วยผลิตน้ำประปาในเขต จ.สระบุรี และ จ.ลพบุรี ได้มากขึ้น

** กรมชลฯ ส่งน้ำช่วยนาข้าวตั้งท้อง

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน และหน่วยงานในสังกัดเร่งหาทางแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนาปีในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น ซึ่งกรมชลประทาน จะเร่งสำรวจพื้นที่ซึ่งอาจได้รับความเสียหายให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดภายในวันที่ 21 ก.ค.

สำหรับแนวทางการเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จะพิจารณาส่งน้ำให้ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1.ข้าวที่อยู่ระหว่างตั้งท้องที่อาจเสียหายหากไม่ได้รับน้ำ 2.ไม้ผล และสวนกล้วยไม้ 3.พื้นที่ปลูกข้าวที่มีอายุมากกว่า 6 สัปดาห์ และ 4.พื้นที่ปลูกข้าวที่มีอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ โดยจะเริ่มช่วยเหลือได้เร็วที่สุดใน 1-2 วันนี้

ส่วนการเตรียมรับมือต่อภาวะน้้ำทะเลหนุนสูงวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ จะระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 90-95 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้อยู่ใกล้เคียงค่ามาตรฐานมากที่สุด ไม่กระทบต่อการผลิตน้ำประปา อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นได้ในอนาคต

***ชงทำเขื่อนกั้นปากแม่น้ำเจ้าพระยา

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแหล่งน้ำผิวดินอย่างยั่งยืนเพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะขณะนี้มีแนวคิดเบื้องต้นที่ต้องการให้เกิดการสร้างเขื่อนกั้นน้ำหรือประตูเปิด-ปิดบริเวณปากแม่น้ำโดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำท่วมขังในช่วงน้ำขึ้นและฝนตก และป้องกันน้ำทะเลหนุนเข้าสู่แหล่งน้ำจืด รวมถึงสามารถป้องกันคลื่นน้ำรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้

“ เรากำลังศึกษารายละเอียดอยู่ถึงการดำเนินการโดยวิธีนี้หลายประเทศก็ทำกันแล้ว ซึ่งคงจะต้องเป็นแผนระยะยาวให้รัฐบาลดำเนินการเพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะเจอปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งแบบนี้ซ้ำซาก” นายบวรกล่าว

สำหรับวิกฤติภัยแล้งระยะเร่งด่วนส.อ.ท.ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการลดปริมาณการใช้น้ำลง 5 - 10% ได้แก่นำหลักการ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน รณรงค์ให้ผู้ประกอบการที่สามารถใช้น้ำบาดาลและมีเหลือใช้หันมาใช้ให้มากขึ้นเพื่อลดการใช้น้ำประปาซึ่งขณะนี้ เขตวิกฤตน้ำบาดาล 7 จังหวัด (พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร) มีปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประมาณ 1.2 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งมีปริมาณใช้จริงเพียงประมาณ 2 แสน ลบ./วัน (จากปริมาณน้ำบาดาลที่ขออนุญาตให้ใช้ได้ 5.7 แสน ลบ.ม./วัน)

นอกจากนี้ ยังได้ทำโครงการ“ส.อ.ท. ปันน้ำใจช่วยภัยแล้ง”โดยชวนผู้ประกอบการร่วมแบ่งปันน้ำ ในโรงงานให้แก่ชุมชนที่อยู่โดยรอบ ซึ่งล่าสุดมีสมาชิกร่วมแล้ว11 บริษัท, 3 นิคมอุตสาหกรรม 1 สวนอุตสาหกรรม และ 1 เขตประกอบการอุตสาหกรรม ที่ร่วมแบ่งปันน้ำสำหรับชุมชนรอบข้างเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการผันน้ำบางส่วนให้กับภาคเกษตรที่รัฐบาลจำเป็นต้องลดการส่งน้ำให้เนื่องจากจำเป็นต้องนำไปใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก

สำหรับระยะกลาง ส.อ.ท.ร่วมกับ กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ (รายพื้นที่) โดยคาดว่าในปี 2559 จะมีแนวทางการบริหารจัดการฯ สำหรับพื้นที่อย่างน้อย 10 จังหวัด และจะขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมจังหวัดอื่นทั่วประเทศต่อไป รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำ War room ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านข้อมูลข่าวสาร และการแก้ไขปัญหา.
กำลังโหลดความคิดเห็น