หัวหน้า คสช.เผยรัฐบาลมีแผนให้ไทยไม่ขาดน้ำถึงปี 2569 ยันเตรียมมาตรการช่วยเหลือดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทุกส่วน แต่ขอให้เวลาเจ้าหน้าที่บ้าง ย้ำทุกคนจะได้รับความเป็นธรรม ลั่นไม่ต้องการให้ทุกคนเสียน้ำตา ย้อนถามสื่อจะให้ใช้ ม.44 จับพระอย่างนั้นหรือ บอกยังมีกฎหมายปกติดำเนินการได้ ถ้าทำผิดอย่างไรก็ผิด วอนอย่าสร้างความขัดแย้ง เพราะใช้กฎหมายลำบาก
วันนี้ (21 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า สำหรับการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจะปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การบริหารจัดการน้ำทั้งหมดเป็นวาระแห่งชาติ เป็นการวางแผนให้ประเทศไทยไม่ขาดน้ำจนถึงปี 2569 การดำเนินการต่างๆ กำหนดไว้เป็นขั้นตอนตามช่วงระยะเวลา โดยช่วงแรกระหว่างปี 2557-2559 ตั้งเป้าหมายดำเนินการ 12 กิจกรรม ทั้งการหาแหล่งน้ำเพิ่ม การทำระบบส่งน้ำ การขุดลอกคูคลอง การทำแก้มลิง ทำบ่อขนมครก การขุดบ่อน้ำในไร่นา การขยายอ่างเก็บน้ำให้เพิ่มความจุ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำจนถึงปี 2569 ทั้งสิ้น ตามการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี และอาจมีงบเงินกู้เล็กน้อย ที่เตรียมไว้ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท จากนั้นก็ส่งต่อหลังปี 2560 ต่อไป หากสามารถดำเนินการได้ครบก็จะทำให้เรามีพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้น ระบบชลประทานเพิ่มขึ้น และระยะยาวต้องมาหารือว่าจะใช้น้ำระหว่างประเทศได้อย่างไร ซึ่งคงต้องใช้งบประมาณที่สูงมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้มีการขุดบ่อไป 5-6 พันบ่อ แต่ฝนไม่ตก
“แต่ผมเชื่อว่าเดี๋ยวฝนก็คงมา ถ้าเรามีความรัก ความสามัคคี อะไรมันก็ดีขึ้นเอง ผมไม่อยากให้เกิความขัดแย้ง โดยเฉพาะข้าราชการของรัฐที่ช่วยกันทำงาน วันนี้ก็มี คสช. เข้าไปช่วย ยืนยันว่าไม่ทำให้ใครเดือดร้อนอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำความเข้าใจกันอย่างไร”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับมาตรการความช่วยเหลือนั้น การบริจาคน้ำดื่มที่มีการรณงค์กันถือเป็นคนละเรื่อง เป็นการแสดงน้ำใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้มุ่งหวังจะไปขอใคร แต่ทุกคนต้องการมีความร่วมมือและประสงค์ที่จะบริจาคน้ำดื่ม โดยรัฐบาลจะเป็นคนกลาง และจัดส่งไปยังศูนย์ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เป็นเรื่องของความร่วมมือ เหมือนกรณีที่เคยช่วยเหลือประเทศเนปาล และญี่ปุ่น เพราะคนไทยไม่เคยแล้งน้ำใจ ตนอยากเห็นภาพความร่วมมือ ความรักความสามัคคีระหว่างคนที่ไม่เดือดร้อน กับชาวไร่ชาวนา สำหรับมาตรการระยะที่ 1 ซึ่งจะทำให้แล้วเสร็จโดยเร็วสิ่งแรกคือการจ้างงานเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะรับไปดำเนินการในทุกจังหวัดโดยใช้งบประมาณของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งจะอนุมัติให้กับจังหวัด จังหวัดละ 10 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงาน หากไม่พอรัฐบาลก็จะหาเงินอุดหนุนให้ ซึ่งจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทุกคนมีเงินใช้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มาตรการที่ 2 ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีงบประมาณอยู่แล้วไปดูแลการปลูกพืชทางการเกษตร หรือพืชหมุนเวียนการเกษตร เพื่อทดแทนกรณีที่ปลูกข้าวไม่ได้ รวมกับงบฯจ้างงานของกรมชลประทาน โดยจะเดินไปควบคู่กัน ซึ่งการแก้ปัญหาในจุดนี้อาจจะมีปัญหาเรื่องข้าว และพืช ผัก ผลไม้ จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลการใช้จ่ายน้ำให้ทั่วถึง โดย คสช.จะลงไปดูแล และชี้แจงรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ขอร้องว่าให้เห็นใจทหารที่ลงพื้นที่ไปดูแล ระยะต่อไปคือเตรียมดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้น ขอร้องประชาชนอย่าตื่นตระหนกมากนัก เพราะรัฐบาลจะดูแลทั้งในส่วนที่ปลูกไปแล้ว และเกิดความเสียหาย หรือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูก ว่าเสียโอกาสหรือไม่ และพื้นที่ปลูกนาปรังก็ต้องดูเป็นระยะๆ เพราะจะให้เหมาทีเดียวทั้งหมดก็ไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลดูแลทุกส่วน
“ผมเห็นมีคนมาร้องห่มร้องไห้ ผมเห็นแล้วรู้สึกบีบคั้นผมพอสมควร ขอให้รู้ไว้ว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะทำให้ทุกคนต้องเสียน้ำตาอะไรเลย เพราะน้ำมันน้อยอยู่แล้ว ขอให้เก็บน้ำตาไว้เพื่อแสดงความดีใจ ดีกว่าเมื่อฝนมา อย่าคิดว่าเราต้องช่วยที่เดียวทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องจัดลำดับความเร่งด่วน วันนี้บางคนก็ทำตามคำแนะนำที่รัฐบาลให้ไปทำให้เสียโอกาสในการเพาะปลูก บางคนทำแล้วก็เกิดความเสียหายก็ต้องมาดูในรายละเอียด และทั้งหมดจะนำรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุมแผนบริหารจัดการน้ำในเช้าวันพุธที่ 22 ก.ค.นี้ ก็ขอให้ทุกคนสบายใจว่าจะมีเงินใช้จ่าย แม้จะไม่มากมาย ซึ่งตนต้องการให้รวมตัวกันเสนอเป็นโครงการเพื่อการให้ความช่วยเหลือจะได้รวดเร็วขึ้น สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือการสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด เราจำเป็นต้องดูแลภาพรวมทั้งหมดเพื่อไม่ให้ปัญหากลับมาอีก วันนี้รัฐบาลเห็นใจทุกคนขอร้องอย่าไปทำร้ายตัวเองไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปทำร้ายตัวเอง หากมีปัญหาอะไรให้มาร้องเรียนยังศูนย์ดำรงธรรม รัฐบาลพร้อมที่ดูแลทุกคนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เราจะดูแลคนทั้ง 70 กว่าล้านคน”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการลงพื้นที่จังหวัดระยองที่ผ่านมา รู้สึกดีใจที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เพราะมีทรัพยากร และมีแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นบทเรียนว่าเราต้องสร้างแหล่งน้ำจำนวนมาก ด้วยตัวเองจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุน ซึ่งกระทรงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจะเข้าไปดูแล โดยการตั้งเครื่องสูบน้ำขึ้นมา แต่บางที่ก็มีปัญหาเพราะไม่มีไฟฟ้า ในส่วนของแหล่งน้ำบาดาลยอมรับว่ามีความกังวลเมื่อดำเนินการขุดไปแล้วส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาใช้เพื่อการเกษตร แต่เป็นน้ำสำหรับการอุปโภค และบริโภค ทดแทนน้ำประปาที่อาจขาดในอนาคต วันนี้แม้จะมีปริมาณฝนตกลงมาแต่ก็ไม่มาก เท่าที่ติดตามดูฝนไปตกลงที่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์ รวมทั้งเขื่อนแควน้อย เขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้มีกำลังใจดีขึ้น แต่การระบายน้ำช่วงไหนจำเป็นต้องลดก็ต้องลด วันนี้ต้องเห็นใจคนในชุมชนเมืองด้วย แม้ไม่ได้ปลูกข้าวแต่ก็ทำธุรกิจค้าขาย การท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ก็ขอความร่วมมือให้ประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย อย่าล้างรถทุกวัน วันนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันประหยัดน้ำประปา แต่วันนี้เป็นที่น่ายินดีว่าฝนตกมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันทำความดีต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยคฤหัสถ์ และบรรพชิต เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ว่า “อ๋อ เรื่องพระธัมมชโยใช่ไหม เรื่องมาตรา 44 สื่อเอามาใช้ก็แล้วกัน มันมีวิธีการตั้งเยอะแยะ กฎหมายปกติก็มีอยู่ และระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการสอบสวน ถ้ามันถูกก็ว่าไปตามถูก แต่ถ้ามันผิดก็ต้องว่าไปตามผิด จะใช้มาตรา 44 ไปจับพระอย่างนั้นหรือ ให้มันรู้เรื่องกันบ้าง”
เมื่อถามย้ำว่า แต่เข้าต้องการให้มีการตรวจสอบเรื่องผิดพระธรรมวินัย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ตรวจสอบอยู่แล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ตรวจสอบอยู่ มีผลสอบสวนออกมาระยะหนึ่ง ไปตรวจค้นกันดู “อย่าไปขัดแย้งกันมากมาย ผิดก็คือผิด อย่างไรมันก็ผิด วันนี้ผลสอบยังไม่ออกเดี๋ยวคณะกรรมการชุดเดิมก็สอบมีผลออกมา ให้เวลาฝ่ายกฎหมายทำงานบ้าง จะมาเร่งอย่างนั้นอย่างนี้เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาต่อสู้กัน กฎหมายก็เดินหน้าไม่ได้ การพิจารณาต่างๆ ก็ติดขัดไปหมด เพราะมีการสร้างความขัดแย้งสูง ผิดหรือไม่ละมันก็ผิด ไม่ผิดวันนี้ก็ผิดวันพรุ่งนี้ ถ้าทุกคนยอมรับความผิดกันทั้งหมด ถึงจะมาคุยกันได้ว่าจะหาทางออกกันอย่างไร แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกมันก็ยากและลำบาก ทุกคนจะยอมหรือไม่”