ศปป.คุยสื่อสายทหาร ยกสื่อหัวใจหลักปรองดอง ขอเสนอข่าวมีที่มาเลี่ยงข่าวมีผลกระทบ ยันเชิญจ้อไม่ใช่เวทีดีเบต เชิญแค่อดีต รมต. ปธ.ปฏิรูป นักวิชาการ เมิน “ทักษิณ” คนมีคดี หวั่นใช้แก้ต่าง เผย “ปู” แจ้งไม่ว่าง ติดใจโพลจุฬาฯ ประชาชนเชื่อทีวีดาวเทียมมากกว่าฟรีทีวี ชี้วิทยุชุมชนต้องเป็นสาธารณะไม่คำนึงธุรกิจ ลุยโรดแมป 4 ข้อ คุยทุกลุ่มเว้น เชื่อมสามัคคี นำเดินสายจ้อเลิกโกรธกันแล้ว ลงสัตยาบันออกทีวีรับผลเลือกตั้ง
วันนี้ (14 ก.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้อำนวยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เป็นประธานในการพูดคุยกับสื่อมวลชนสายทหาร เพื่อชี้แจงแนวทางการทำงานของ ศปป.ว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัชมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาชี้แจงงานของ ศปป. ซึ่งเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับ คสช. หาก คสช.หมดหน้าที่ ศปป.ก็จะจบเช่นกัน ส่วนเรื่องการปรองดองสมานฉันท์ในปี 2559 นั้น ถูกบรรจุอยู่ในส่วนที่ 4 ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นแม่งานดำเนินการงบประมาณในส่วนการปรองดองสมานฉันท์ปี 59 ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และจะอาศัยงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีคนอยู่แล้ว ดังนั้นต่อไป การปรองดองสมานฉันท์ในปี 2559จะไปอยู่ในส่วนของ กอ.รมน.ก็เป็นได้
พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ศปป.มี 6 แผน และ 9 โครงการ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนโดยตรงคือในเรื่องของความขัดแย้ง สื่อมวลชนเป็นหัวใจหลักในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เพราะเป็นผู้ที่นำข่าวสารไปสู่ประชาชนส่วนล่าง และนำข้อมูลส่วนล่างมาสู่ข้างบน และการที่ ศปป.เชิญสื่อมาพูดคุยครั้งนี้อย่ามองว่าเป็นการเทรนนิ่ง หรือการฝึก แต่ให้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมากกว่า ทั้งนี้ ศปป.อยากขอในเรื่องการนำเสนอข่าวให้มีที่มาที่ไป ตลอดจนความอย่างถูกต้องว่าข่าวมาจากไหน ใครเป็นผู้พูด นอกจากนี้ ในส่วนของข่าวที่เสนอไปแล้วจะเกิดผลกระทบจนก่อให้เกิดความเสียหายก็อยากจะให้หลีกเลี่ยง เช่น กรณีที่ ศปป.มีการเชิญบุคคลเข้ามาร่วมเวทีเดินหน้าปฏิรูป ยืนยันว่าไม่ใช่เวทีการดีเบต ตนไม่ต้องการเอาคนมาเถียงกัน เพราะจะไม่มีวันจบ แต่ ศปป.จะเชิญบุคคล 3 กลุ่มเท่านั้น คือ 1. อดีตรัฐมนตรี 2. ประธาน สปช.ทั้ง 11 ด้าน และ 3. นักวิชาการที่ไม่ใช่รัฐบาล โดยไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และในส่วนของกลุ่มต่างๆ เช่น กกปส. และ นปช.ก็จะไม่เชิญ รวมถึงอดีตรัฐมนตรีที่มีคดีติดตัวเรื่องนี้ตนระวังมาก เพราะกลัวเชิญมาแล้วจะใช้เวทีนี้ในการแก้ตัว เพราะ ศปป.ต้องการความคิดและประสบการณ์ในด้านต่าง ๆของคนทั้ง 3 กลุ่มนี้ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าใครพูดถูกหรือพูดผิด
“ศปป.จะเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีทุกยุค ล่าสุดได้ติดต่อนายอานันท์ ปันยารชุน แต่ท่านไม่ว่าง ส่วน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี หากเชิญมาคงให้ออกรายการเดี่ยว เพราะท่านเป็นผู้อาวุโสมาก ส่วนการเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีคนอื่น เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นั้นผมก็คงต้องดูเรื่องก่อนว่าเหมาะสมกับใคร อย่างกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผมจะประสานก่อน โดยดูว่าเขาพร้อมหรือไม่ เพราะไม่ได้เชิญมาฉีกหน้า หรือประจาน แต่อยากได้ประสบการณ์ของท่าน ซึ่งต้องดูว่าท่านอยากพูดเรื่องอะไร จะเปิดกว้างให้ ซึ่งสิ่งที่ ศปป.อยากได้จากคุณยิ่งลักษณ์คือเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินในภาพกว้าง ซึ่งทาง สปป.จะประสานไปก่อนก็เพื่อดูว่าท่านพร้อมหรือไม่ ไม่ใช่เป็นข่าวออกมาว่าท่านไม่มา แล้วไปบอกว่าท่านขี้ขลาด ผมจึงต้องประสานให้เรียบร้อยก่อนโดยผ่านเลขาฯ ของท่าน คือ คุณภูมิธรรม เวชยชัย พอดีท่านยังไม่พร้อม นอกจากนี้ยังมีในส่วนคุณจาตุรนต์ และคุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา ก็เช่นกัน ทาง ศปป.จะแจ้งหัวข้อไป ทางคุณภูมิธรรมจะเป็นคนบอกว่าควรเป็นท่านไหน เมื่อได้รับคำตอบ ทาง ศปป.ก็จะทำหนังสือเชิญเหมือนคุณอภิสิทธิ์ ผมก็ประสานผ่านเลขาฯ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม รายการเดินหน้าปฏิรูป วันที่ 20 ก.ค. นี้ จะเป็นหัวข้อเรื่องปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมโดยเชิญนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายบรรเจิด สิงคะเนติ และวันที่ 27 ก.ค.ได้วางไว้ว่า จะพูดเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน” พล.อ.พิสิทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาพูดคุยด้วยหรือไม่ พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้สื่อแยกแยะ เพราะการเขียนแผนของศูนย์ปรองดองฯ ไม่ได้ดูเรื่องตัวบุคคล และจะไม่ยุ่งเรื่องอดีต เป็นเรื่องปัจจุบัน ตนมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งศูนย์ปรองดองจะไม่ยุ่งกับคดีที่มีการพิพากษาไปแล้ว แม้กระทั่งการเชิญใครตนยังระวัง ซึ่งอดีตรัฐมนตรีหรือใครที่ยังมีคดีอยู่จะพยายามไม่เชิญ เพราะเหมือนเป็นการมาออกรายการและแก้ตัวต่อสื่อ ตนจะระวังในเรื่องนี้มาก
พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า ทาง ศปป.จะทำงานในเรื่องการรับทราบข้อมูลจากประชาชนเพื่อนำไปสู่เวทีการปฏิรูปตลอดจนความเดือดร้อนของประชาชน แต่ ศปป.ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ เป็นเพียงผู้ประสานงาน โดยนำความเดือดร้อนของประชาชนไปสู่การแก้ไขปัญหา ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ ศปป.จะยังไม่หยุดการทำงาน ทั้งนี้ข้อร้องทุกข์ต่างๆ ของประชาชนทั้งหมดยืนยันว่าถึงมือนายกรัฐมนตรีทุกคน และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้นำเรื่องการประเมินผลวิทยาลัยประชากรศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อยู่ในแผนงานของปรองดองไปให้กับนายกรัฐมนตรีในหัวข้อที่ 5 จากการประเมินผลใน 6 เดือน พร้อมแจกจ่าย ครม.ทั้งหมด โดยมีหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน เพราะจากผลการสำรวจพบว่าประชาชนที่ติดตามข่าวสารผ่านทางสื่อทีวีเชื่อถือข้อมูลจากสื่อดาวเทียมมากกว่าฟรีทีวี ตนก็ไม่ทราบว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจจะเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคลก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งตนติดใจตรงนี้มากว่าทำไมประชาชนไม่เชื่อสื่อฟรีทีวี
พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการประเมินต่างๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ก่อนที่ คสช.จะเข้ามา หรือขณะที่มี คสช. และหากไม่มี คสช. มีจัดการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีอยู่ครบทุกเรื่องในการประเมินผลของวิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้เรามีการประเมินตัวเองเช่นกัน จะได้รู้ว่ารัฐบาลทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งคะแนนของรัฐบาลดีมากทั้งก่อนที่จะมี คสช. และ ระหว่างที่มี คสช.นั้นหมายความว่าประชาชนระดับล่างเชื่อถือการทำงานของรัฐบาล ภายหลังจากที่ ศปป.ลงไปในพื้นที่เราไม่ได้ไปโฆษณาชวนเชื่อ เพียงแต่เอาผลงานของรัฐบาลไปชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้จากผลการประเมินมีความเป็นห่วงว่าในอนาคตหากกลับไปสู่การเลือกตั้งแล้ว และไม่มี คสช. สถานการณ์จะกลับไปสู่เหมือนเดิม
พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า ในเรื่องของวิทยุชุมชนจากการลงพื้นที่ อ.เขมราช จ.อุบลราชธานี เพื่อไปร่วมงานการสัมมนาการประชุมเรื่องวิทยุชุมชน ทั้งนี้วิทยุชุมชนมีอยู่ 3 ประเภท 1. ธุรกิจ 2. สวัสดิการ และ 3. สาธารณะ แต่วิทยุชุมชนปัจจุบัน 90 เปอร์เซ็นต์เป็นธุรกิจ หากไปดูความหมายของคำว่าวิทยุชุมชนคือหอกระจายข่าวที่เป็นสาธารณะโดยไม่คำนึงถึงธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ในประเทศไทยมีวิทยุชุมชนมีอยู่ประมาณ 5 หมื่นคลื่น ปัจจุบันเหลือเพียง 1 หมื่นกว่า ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าวิทยุชุมชนในประเทศไทยควรจะมีแค่หลักพันเท่านั้น เพราะจะมีปัญหาในเรื่องความถี่ไปซ้อนกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาในผู้จัดวิทยุชุมชนที่ไม่รู้วิธีการนำเสนอข่าว ตลอดจนวิธีการหาข่าว
พล.อ.พิสิทธิ์กล่าวว่า ในปัจจุบัน ศปป.ทำงานเกี่ยวพันหลายเรื่อง ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจน จะไม่ยุ่งการเมือง การเปิดเวทีก็จะไม่เชิญนักการเมือง หรือแกนนำ เราต้องการแค่ความคิดเห็นจากประชาชนผู้บริสุทธิ์จริง ๆ เพื่อจะนำไปสู่การปฏิรูป แต่ในช่วงหลัง 6 เดือนที่ผ่านมามีการเรียกร้องจากนักการเมือง วิชาการ เนื่องจากไม่มีเวทีแสดงความคิดเห็นเนื่องจากติดข้อห้ามต่างๆ ทาง ศปป.จึงได้เปิดเวทีให้ 2 ครั้ง ที่สโมสรทหารบก-วิภาวดี ให้ได้มาพูดคุยกัน ก่อนจะสรุปนำเสนอให้หัวหน้า คสช. หลังจากนั้นก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่าเชิญคนมาเยอะเกินไป ทำให้การแสดงความคิดไม่ทั่วถึง จึงทำให้ ศปป.จึงได้ตัดสินใจเชิญเป็นรายบุคคล เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายนพดล ปัทมะ และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อย่างกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกรายการเดินหน้าปฏิรูปกับประธาน สปช. ในการหัวข้อการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะต้องถูกบรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ หากใครมาเป็นรัฐบาลก็จะต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ
พล.อ.พิสิษฐ์กล่าวต่อว่า ศปป.มีโรดแมปมี 4 ข้อ 1. การแยกกันคุย โดยมอบหมายให้ พล.ท.บุญธรรม โอริส รอง ผอ.ศปป.ไปพูดคุยกับคนทุกกลุ่ม ยกเว้นคนที่อยู่ต่างประเทศ กับคนที่บวชอยู่ ที่ไม่ได้คุย 2. คือ การสัมมนาทั้งสองฝ่ายร่วมกัน ระยะที่ 3 เป็นการเชื่อมความสามัคคี ให้มีกิจกรรมร่วมกัน โดยจะมีการเตะฟุตบอลของทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็ตอบรับแล้ว ระยะที่ 4 การนำแกนนำสองกลุ่มเดินทางออกต่างจังหวัดไปเป็นวิทยากรพูดในเรื่องต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนสองสีเลิกโกรธกันแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนกำลังพิจาณาเพิ่มเติมข้อที่ 5 การให้ลงสัตยาบันโดยการออกทีวียืนยันกับประชาชนเหมือนเป็นสัญญาประชาคมในการยอมรับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เรื่องการสร้างความปรองดอง ไม่มีทางจะสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนเคยทะเลาะกันมานานจะให้กลับมาเหมือนเดิมคงเป็นไปได้ยาก และอีกส่วนที่เลิกไม่ได้คือม็อบ เพราะถือว่าเป็นอาชีพไปแล้ว เพียงแต่ขณะนี้เราต้องการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลให้รัฐบาลและ คสช.ได้ทำงาน ก็ไปบอกเขาว่าให้หยุดก่อน ทั้งนี้ตนไม่ห่วงม็อบในต่างจังหวัด แต่อย่าเข้ามาให้ กทม. เพราะจะเกิดปัญหามากมาย และ ยืนยันว่า ศปป.ได้พูดคุยกับแกนนำระดับหัวหมดแล้วว่าอย่าเพิ่งเคลื่อนไหว ให้รัฐบาลทำงานก่อน