“บิ๊กตู่” สั่งเพิ่มยาแรงปราบข้าราชการโกง จี้ต้นสังกัดเร่งสอบข้าราชการที่มีรายชื่อพัวพันการทุจริตกว่า 200 คน ในรอบที่ 1 และ 2 พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกคน แต่ยังอุบชื่อข้าราชการที่พัวพันการทุจริตรอบที่ 3 ด้าน “ยุติธรรม” คาดแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ท.ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น เร็วๆ นี้
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มีรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หน่วยงานราชการ และภาคเอกชนเข้าร่วม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การทำงานขณะนี้มีทั้งการเดินหน้า และขจัดปัญหาข้อขัดแย้ง การตรวจสอบทุจริตต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมซึ่งทำได้ในหลายมิติ ขณะนี้เป็นมิติด้านความมั่นคงที่จะทำให้ประเทศชาติมีจุดยืนและทำให้ไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ แต่ปัญหาหลักคือ การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ประชาชน ยังมีความขัดแย้งทุกระดับที่ต้องแก้ไข โดยต้องไม่ให้มีการขยายความขัดแย้งออกไป เพราะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยให้หลายหน่วยงานไปชี้แจง ไม่ว่าจะแก้ปัญหาอะไรก็ตามจะต้องเริ่มต้นจากการมีเสถียรภาพของรัฐบาล และความสงบสุขของบ้านเมือง
หลังจากนั้น 1. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ในฐานะเลขานุการ คตช.แถลงภายหลังว่า นายกฯ ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติอย่างมาก และอยากให้เกิดการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เมื่อรัฐบาลนี้พ้นไปแล้วยังคงมีการต่อต้านการทุจริตต่อไป ไม่ใช่จบในรัฐบาลปัจจุบัน และเพื่อให้การดำเนินการนี้เกิดผลระยะยาว กระทรวงยุติธรรมอาจจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อให้มีความยั่งยืนมากขึ้น คาดว่าจะเสนอได้เร็วๆ นี้ นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งให้กระทรวงยุติธรรมบูรณาการงบประมาณในการปรามปรามการทุจริตที่ทุกกระทรวงมีอยู่เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันและทำงานให้เกิดผลอย่างจริงจัง
สำหรับการปลุกจิตสำนึกสร้างเยาวชนใหม่ให้โตไปไม่โกง หรือสำนึกไทยไม่โกง นายกฯอยากให้มีกลุ่มวิชาเสริมสร้างความเข้มแข็งประเทศ เด็กรุ่นใหม่จะได้รู้สึกว่าประเทศไทยต้องมีความเข้มแข็งได้ด้วยอะไร มีความสำนึกต่างๆ ในทางที่ดี ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการจะรับไปดำเนินการ และอยากให้มีการเผยแพร่ให้กว้างขวาง โดยจะประสานกับทางศิลปิน ดารา ให้ช่วยแทรกคำว่าโตไปไม่โกง หรือสำนึกไทยไม่โกง เพื่อให้เยาวชนเข้าใจคำนี้และปฏิบัติได้ นอกจากนี้ ในการดำเนินการต่อต้านการทุจริตนี้ มีแนวคิดที่จะตั้งกองทุนขึ้นมา โดยเงินตั้งต้นอาจจะมีการขอจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และอาจมีการประสานกับภาคเอกชนหรือสมาคมต่างๆ ช่วยด้วย แต่ยังไม่มีการกำหนดตัวเลข รอประสานกับทางสำนักงานกองสลากจะให้ได้เท่าไร
ด้าน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวว่า ที่ประชุม คตช.เห็นชอบมาตรการปราบปรามการทุจริต 3 เรื่อง คือ 1. ยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางปกครองและวินัยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนแม้จะผ่านรัฐบาลชุดนี้ไปแล้ว ต่อไปหากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พบการกระทำผิดในหน่วยงานราชการใด จะมีการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาการหน่วยงานราชการดังกล่าวเนินการตามอำนาจหน้าที่ ในการลงโทษทางปกครองและวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้นๆ แต่หากแจ้งไปแล้วผู้บังคับบัญชายังไม่ดำเนินการ ศอตช.จะใช้กระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่ไปกระตุ้น แต่ถึงที่สุดแล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อีก จะมีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่
2. ต่อไปนี้ ศอตช.จะใช้มาตรการทางภาษีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หรือแม้แต่เอกชนที่เข้ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เสนอขายสินค้าหรือบริการให้กับภาครัฐแต่ไม่ดำเนินการทางภาษีให้ถูกต้อง โดย ศอตช.จะเสนอให้กรมสรรพากร และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 103/7 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
และ 3. ศอตช.จะติดตามและรับเรื่องร้องว่ามีหน่วยราชการใดไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมา นายกฯ ต้องการกระตุ้นและต้องการให้ระบบสามารถเดินไปได้
เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบข้าราชการที่พัวพันการทุจริตในรอบที่ 1 และ 2 อยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งได้มีการดำเนินการทางวินัยไปบางส่วนบางแล้ว ซึ่ง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช.ระบุว่า หากใครคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และต้องการชี้แจง ให้มาที่ ศอตช.ได้ และเรื่องนี้นายกฯ ได้ขอให้มีการเร่งรัดการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับข้าราชการที่ถูกตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่หากพบว่าใครกระทำความผิดจะได้มีการแต่งตั้งบุคคลอื่นเข้าไปดำรงตำแหน่งแทน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณารายชื่อข้าราชการที่พัวพันการทุจริตรอบที่ 3 ส่วนที่มีการเพิ่มบทบัญญัติการลงโทษแก่เจ้าหน้ารัฐที่กระทำความผิดกรณีทุจริต สูงสุดถึงประหารชีวิตตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 3 นั้น ความจริงโทษประหารชีวิตมีอยู่แล้ว เพียงแต่มีการเพิ่มบทลงโทษในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาเท่านั้น