มติที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ฝึกอบรมครูปลูกจิตสำนึกผ่านโรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมเร่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการ ผลักดันไทยร่วมเป็นภาคีรัฐบาลโปร่งใสนานาชาติ ยกเลิกระบบ “อี-ออกชัน” ตุลาคมนี้ ใช้ อี-บิดดิ้ง หรือ อี-มาร์เก็ต แทน เน้นฐานข้อมูลราคาสินค้าชัด เตรียมประกาศเจตนารมณ์ 8 มิ.ย. นี้ เผยรายชื่อข้าราชการทุจริต ล็อต 2 “ไพบูลย์” ส่งให้นายกฯ พิจารณาแล้ว เผยไม่มากเท่ากับล็อตแรก
วันนี้ (27 พ.ค.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 4 ภายหลังการประชุม พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) พร้อมด้วย 4 อนุกรรมการ คตช. ร่วมแถลงข่าว ทั้งนี้ มติที่ประชุมด้านการปลูกฝังจิตสำนึกกำหนดให้มีโครงการฝึกอบรมครู เพื่อไปกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนครั้งแรก ในวันที่ 29 - 30 มิ.ย. เพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชน ผ่านโรงเรียนทั่วประเทศ และปลูกฝังหน้าที่พลเมือง โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ
ส่วนการป้องกันการทุจริต นายกรัฐมนตรีให้เร่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการให้กับสาธารณชนให้มากขึ้น โดยผ่าน พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ โดยให้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ไปดำเนินการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารให้ทั่วถึง พร้อมสั่งการให้ไทยร่วมเป็นภาคีสมาชิกองค์กรรัฐบาลโปร่งใสในนานาชาติ เพื่อให้ดัชนีความโปร่งใสเพิ่มขึ้น
สำหรับการประกวดราคาแบบ อี-ออกชัน ในวันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป ไทยจะไม่ใช้ระบบนี้ แต่จะใช้ระบบ อี-บิดดิ้ง หรือ อี-มาร์เก็ต แทน ซึ่งเป็นระบบทางอิเล็กทรอนิกส์ มีฐานข้อมูลราคาสินค้าที่ชัดเจน หน่วยงานราชการสามารถดูข้อมูลทั้งหมดได้ ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมผู้เข้าร่วม ทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ภาคธุรกิจ เอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ สถานทูต และสื่อมวลชน เพื่อประกาศเจตนารมณ์พร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับในต่างจังหวัดจะมีการจัดงานที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมจะเป็นการประชาสัมพันธ์และบอกถึงพันธกิจและนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการปราบปรามการทุจริตไปแล้ว และในอนาคตจะดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมถึงชี้แจงปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจด้วย
ในส่วนที่กำหนดให้ภาคสังคมเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ว่าด้วยข้อตกลงสัญญาคุณธรรม ที่กำหนดให้มี 3 ส่วน คือ ราชการ ผู้รับจ้าง และภาคประชาสังคม ที่จะมาสังเกตการณ์ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ พบว่า ที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีที่สามารถลดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างได้คันละ 1 ล้านบาท จากคันละ 4 ล้านบาท ในจำนวน 489 คัน ดังนั้น จึงเห็นควรขยายไปอีก 20 กระทรวง โดยมีการแจ้งมาแล้ว 36 โครงการ จาก 12 กระทรวง ซึ่งจะมีการจัดผู้สังเกตการณ์เข้าไป แต่เนื่องจากเกิดปัญหาผู้สังเกตการณ์ไม่เพียงพอ เพราะโครงการของรัฐมีจำนวนมาก จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนกติกาใหม่ ให้เหลือแค่สองฝ่ายคือ ส่วนราชการและผู้รับจ้างเท่านั้น
นอกจากนี้ พล.อ.อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมถึงการพิจารณารายชื่อข้าราชการที่อาจเข้าข่ายทุจริต ล็อต 2 ของ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง คตร. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ส่งรายชื่อมายัง ศอตช. แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดกรองรายชื่อ เพื่อความรอบคอบมีหลักฐานยืนยันได้ชัดเจน ไม่ใช่ดูเพียงชื่อ ต้องดูรายละเอียดด้วย รวมถึงต้องดูว่าเสียงส่วนใหญ่ของหน่วยงานทั้ง 4 ด้วย มีความเห็นต่อรายชื่อนั้นๆ สอดคล้องกันหรือไม่ จากนั้นก็จะทยอยเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนจำนวนนั้นคงไม่มากเท่ากับลอตแรก เพราะครั้งนี้จะคัดกรองส่วนไหนอยู่ในอำนาจกระทรวงก็ให้กระทรวงดำเนินการ แต่ถ้าอยู่ในอำนาจของ นายกฯ ก็จะเสนอต่อนายกฯ ซึ่งจะดำเนินการอย่างเร็ว เพราะมันเป็นงาน ไม่ได้ทำเพียงแค่ให้ดูดี แต่เราทำงานเพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริง ส่วนการพิจารณาลงโทษแบบไหนคงขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา
ขณะเดียวกัน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยว่า วันที่ 27 พ.ค. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. ได้ส่งรายชื่อข้าราชการที่อาจเข้าข่ายทุจริต ชุด 2 ให้กับนายกฯ แล้ว หลังจาก 4 หน่วยงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบและส่งให้ พล.อ.ไพบูลย์ ตรวจสอบ สำหรับรายชื่อชุดสองไม่น้อยไม่มากกว่าชุดแรก