xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” ยืนยัน ศอตช.สอบทุจริตรอบคอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“บิ๊กต๊อก” นั่งหัวโต๊ะถก ศอตช. ระบุข้าราชการที่มีรายชื่อทุจริตเชื่อว่าไม่รับความเป็นธรรมให้ทำหนังสือชี้แจงมา ยันไม่เคยชี้ใครผิดถูก

วันนี้ (26 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ศอตช. โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประกอบด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช., นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อทบทวนการทำงานและสรุปผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของ ศอตช.ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง เนื่องจากเราได้มีการเสนอคณะกรรมการเพิ่มเติม คือ กรมสรรพากร และกองสารนิเทศ กระทรวงมหาดไทย ทั้งสองหน่วยงานยังไม่เคยเข้าร่วมการประชุม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ พร้อมทั้งอธิบายกระบวนการขั้นตอนการเสนอรายชื่อข้าราชที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตให้กับคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ว่ามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร

นอกจากนี้ ได้มีการหารือกับกรมสรรพากรในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษีซึ่งจะทำให้เห็นภาพการใช้จ่ายของแต่ละโครงการว่ามีราคาถูกต้องหรือมีการฮั้วประมูลราคาหรือไม่ เพื่อจะได้ทราบกระแสการเคลื่อนไหวของเงินที่ได้รับไปจากหน่วยงานของรัฐ และเป็นการป้องปรามไม่ให้มีการทุจริต ทั้งนี้ ได้ให้นายประยงค์ไปประสานขอข้อมูล ทั้งจากศาล อัยการ กรสรรพากร และหน่วยงานที่อยู่ใน ศอตช. เพื่อจัดทำให้เป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลลับ ก็ต้องดูว่าจะสามารถเปิดเผยได้ขนาดไหน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะที่ผ่านมา บางข้อมูลประชาชนไม่ทราบ เช่น กรณีการทำคดีทุจริตแต่ละคดีนั้น ศาลไม่เคยรอลงอาญาเลย โดยได้ดำเนินการตัดสินทันที เป็นต้น

รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการหารือกันในที่ประชุม โดยให้คณะกรรมการได้ชี้แจงกัน ซึ่งที่ผ่านมาในขั้นตอนการตรวจสอบนั้น ตนได้กำชับไปแล้วว่าให้ดำเนินการอย่างเป็นธรรมและรอบครอบ พร้อมทั้งให้ระวังการคาบเกี่ยวระหว่างการตรวจสอบทุจริตกับปัญหาภายในของแต่ละกระทรวงซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องแยกให้ดี เพราะอาจจะไปกระทบภาพรวมกับปัญหาภายใน อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของคณะกรรมการแต่อย่างใด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ที่มีรายชื่อทุจริตนั้น พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า หากมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ขอให้ทำหนังสือชี้แจงมายังตน เพราะการเสนอรายชื่อเป็นหน้าที่ของ 4 หน่วยงานซึ่งเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหารราชการทั้ง ป.ป.ช., สตง., ป.ป.ท. และ คตร. โดยติดตามเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว และมั่นใจในข้อมูลที่ได้นำเสนอ อย่างไรก็ตาม หากใครก็ที่มีรายชื่อทั้งที่ออกโดยคำสั่งของ คสช. และรายชื่อที่ให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการเองนั้น หากมั่นใจว่าไม่ได้กระทำผิดก็สามารถขอความเป็นธรรมได้ เพราะตนไม่เคยพูดว่าใครผิด เพราะอำนาจการตัดสินผิดหรือถูกเป็นหน้าที่ของศาล ทั้งนี้ คนที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งระดับผู้บังคับบัญชาหรือใครก็ตาม จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ

ด้าน พ.ต.อ.นิรันด์ อดุลยาศักดิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีที่มีรายชื่อในราชกิจจานุเบกษาถึงการโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากมีรายชื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่ทราบว่าถูกโยกย้ายเรื่องอะไร เนื่องจากที่ผ่านมาตนตั้งใจทำงานและไม่เคยกระทำผิด อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมจะย้ายไปตามคำสั่งที่ประกาศไว้ ทั้งนี้ ตนไม่สนใจหรือใส่ใจว่าใครจะมองตนอย่างไร เพราะเป็นมุมมองและความคิดเห็นของแต่ละคน






กำลังโหลดความคิดเห็น