xs
xsm
sm
md
lg

วิษณุเปิดสุสานรับขรก.โกง "บิ๊กต๊อก"ฉุนดีเอสไองานอืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เข้าพบที่ทำเนียบฯ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เป็นการเข้ามาชี้แจงหลักฐานพยานเพิ่มเติม ที่ก่อนหน้านี้ตนได้ให้เลขาธิการป.ป.ท. กลับไปหาข้อมูลมาเพิ่ม เนื่องจากเห็นว่ามีข้าราชการบางคนใน 100 รายชื่อ พัวพันการทุจริตที่ส่งให้นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีความชัดเจนในความผิดตามที่เสนอมา เป็นการกลับมาชี้แจงใหม่
นอกจากนี้ ตนได้ส่งรายชื่อข้าราชการใน 100 คน ให้เลขาธิการป.ป.ท. กลับไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่ง เพราะคนเหล่านี้บางทีทำผิดมาตั้งแต่ต้น พอผ่านมาหลายปี ก็ต้องมาดูกันใหม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมที่ผ่านมาจึงไม่มีการดำเนินการ อาจจะเป็นเพราะว่านายเขาอาจไม่ได้ดูแล ซึ่งอาจเป็นที่นาย ดังนั้นก็ต้องเล่นงานนายด้วย ซึ่งเท่าที่เจอกรณีแบบนี้ มีไม่มาก แต่ก็ต้องดูต่อไปอีก อาจจะมีมากขึ้นก็ได้
" ที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้มีการดำเนินการจริง แต่อาจมีความล่าช้า และนี่คือเหตุผลที่เราต้องเอาคนเหล่านี้ออกมา บางทีอาจช้าโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ผิด แล้วอยู่ดีๆ จะให้ไปย้ายเขา มันก็จะไม่เป็นธรรม แต่ถ้าช้าโดยมีคนทำให้ช้า ก็ต้องเล่นงานคนที่ทำให้ช้าด้วย ก็ต้องดู ถ้าช้าเพราะนายมาช่วยลูกน้อง จนทำให้ช้าก็ต้องเล่นงานนาย ไม่ใช่มาเล่นงานคนที่ถูกร้อง นี่คือสิ่งที่ผมให้ไปตรวจสอบว่ามันช้าเพราะอะไร ซึ่งก็พบว่าบางรายช้าเพราะเจ้าตัวไปนั่งทับอยู่ แต่บางรายเจ้าตัวไม่รู้เรื่องเลย บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกสอบ ซึ่งที่มันเป็นปัญหาว่าช้า หรือไม่ช้า ก็เพราะหลายเรื่องเราไม่รู้ว่ามันเกิดมาตั้งแต่เมื่อไร" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า สำหรับตำแหน่งใหม่ที่จะต้องเปิดรองรับการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงนั้น ยืนยันว่า ต้องมีเปิดตำแหน่งใหม่แน่นอน แต่ยังบอกไม่ได้ ว่าจะเปิดกี่ตำแหน่ง แต่ตนให้แนวทางไปแล้วว่าถ้ารายเล็ก รายน้อย คงไม่ต้องไปเปิดตำแหน่งใหม่ เพราะสามารถโยกย้ายสลับกันในกระทรวงได้ เป็นข้าราชการเด็กๆ ซีน้อยๆ ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นข้าราชการระดับอาวุโส ผู้ใหญ่มากๆ ซี 10 ซี 11 มันคงไปหมุนในกระทรวงไม่ได้แล้ว ก็ต้องเอาออกมาไว้ที่อื่น เป็นลักษณะเอาออกมาช่วยราชการ เหมือนกระทรวงสาธารณสุข และให้คนอื่นรักษาการแทน หรือจะให้ออกมาขาดเลย แล้วตัวจริงจะได้ขึ้น ดังนั้นก็ต้องมาคิดหน่อย ถ้าถามว่ายุ่งไหม ก็ตอบได้เลยว่า คงไม่ยุ่งหรอก แต่ว่ามันเยอะ
ด้านม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอตั้งคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม มาดูแลการแต่งตั้งข้าราชการ ระดับสูง อาทิ ปลัดกระทรวง ว่า หากเป็นไปในเชิงการตรวจสอบ จำเป็นต้องยอมรับความคิดเห็นทุกภาคส่วน เชื่อว่านายบวรศักดิ์ มีความปรารถนาดีต่อประเทศ เพราะการกลั่นกรองตรวจสอบก่อนการแต่งตั้ง ถือเป็นการทำอย่างเป็นขั้นตอน น่าจะเป็นเรื่องสร้างสรรค์ ที่จะร่วมมือกับภาครัฐ
ทั้งนี้มองว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าว น่าจะเป็นผลมาจากการส่งชื่อ 100 ข้าราชการส่อทุจริต มาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. พิจารณา
เมื่อถามว่า อาจเกิดความไม่มั่นใจในตัวกรรมการทั้ง 7 คน ที่จะเข้ามาพิจารณาแต่งตั้ง ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า การแก้ปัญหาคือ ต้องเลือกคนให้เหมาะสม และข้าราชการมีความเชื่อมั่น มีความศรัทธา และให้ความเคารพนับถือ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันขบคิด ว่าอยากให้มีองค์กรอะไรเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยกันตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ต่อข้อถามว่า คณะกรรมการที่จะตั้งมาตรวจสอบ ถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาตามปกติ หรือไม่ ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ขอให้มองว่าเป็นการสร้างความมั่นใจให้สังคม เหมือนช่วยกันทำงาน ทั้งนี้ไม่รู้สึกเป็นห่วงว่า หากมีการตรวจสอบแล้วจะเกิดกระแสต่อต้านจากข้าราชการ เพราะข้าราชการที่แท้จริง คือผู้ที่มีระเบียบวินัย อะไรที่ภาครัฐคิดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ เชื่อว่าข้าราชการสามารถรับได้ และในเรื่องของธรรมาภิบาลนั้นหากข้าราชการออกมาโต้แย้งจะส่งผลเสียต่อตัวเองได้

**"บิ๊กต๊อก"ฉุน ดีเอสไอ เกียร์ว่าง

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานการประชุม คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กคพ. ว่า ที่ประชุมมีมติรับสอบสวนคดีพิเศษ 2 คดี ประกอบด้วย กรณีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบทับพื้นที่สุสานชุมชนชาวมอแกน บนพื้นที่เกาะเปลว ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหยง ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วุทุ่ง จ.พังงา และ กรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวหา บริษัทเกษตรพืชผล
อินเตอร์เทรด จำกัด ทุจริตโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2554/2555 และ ปี 2555/2556 โดย อคส.ประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ยังเห็นชอบในการเสนอต่อ ครม. เพื่อออกกฎกระทรวง กำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติม คือ กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยที่ดิน กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งจะเร่งรัดเสนอ ครม.โดยเร็วที่สุด โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับคดีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก หากกฎหมายดังกล่าว เป็นความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษแล้ว จะทำให้สามารถรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้ทันที ไม่ต้องเสนอขออนุมัติที่ประชุม กคพ.
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจากการสอบสวนคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติพบว่า ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ
รายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ไพบูลย์ แสดงความไม่พอใจการทำงานของ ดีเอสไอ โดยเฉพาะสำนวนคดีที่ค้างการพิจารณา จำนวน 304 คดี ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกิดขึ้นในช่วงปี 53 และ จะครบกำหนด 5 ปี ในเดือนพ.ค.นี้ โดยขอให้อธิบดี ดีเอสไอ และรองอธิบดี ดีเอสไอ ชี้แจง โดยเฉพาะคดีการเสียชีวิต 89 ศพ ที่การสอบสวนไม่แล้วเสร็จ จึงขอทราบข้อขัดข้อง ที่เป็นสาเหตุให้การสอบสวนคดีไม่มีความคืบหน้า สรุปสำนวนไม่ได้ หรือความล่าช้า เกิดจากพนักงานสอบสวนจงใจประวิงเวลาเพื่อรอการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ดังนั้น พล.อ.ไพบูลย์ จึงสั่งการให้ดีเอสไอ จำแนกคดีค้างการสอบสวนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ คดีที่ค้างไม่เกิน 1 ปี คดีที่ค้าง 1-3 ปี และคดีที่ค้างนานเกิน 3 ปีขึ้นไป และยังกำชับไปในพนักงานสอบสวนทุกสำนักคดี ว่าบอร์ด กคพ. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาอาชีพ หลังจากนี้การรายงานผลการสอบสวนคดีต้องระบุแนบท้ายถึงจำนวนผู้ต้องหา และฐานความผิด เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจสอบว่า สั่งฟ้องผู้ต้องหาครบทุกคนหรือไม่ และดำเนิน+คดีครบทุกฐานความผิดหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น