xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” มอบ จนท.ดูกฎหมายสรรพากรตรวจสอบรายรับ-จ่าย หลังไม่มีการตรวจสอบนานกว่า 2-4 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“บิ๊กต๊อก” มอบเจ้าหน้าที่ดูกฎหมายสรรพากรตรวจสอบรายรับ-จ่าย หลังไม่มีการตรวจสอบนานกว่า 2-4 ปี เผยส่งรายชื่อทุจริตรอบสองถึงนายกฯ แล้ว

วันนี้ (12 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของรัฐ โดยมีนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นผู้ให้การต้อนรับ ทั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน เช่น กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นต้น

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวภายหลังการเปิดงานว่า ในส่วนของงานด้านการปราบปรามการทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐนั้น ตนได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไปศึกษากฎหมายของกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบรายรับรายจ่ายตามมาตรา 103/7 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554) ที่กำหนดให้ในกรณีที่มีการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบุคคลหรือนิติบุคคล ที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐนั้น มีหน้าที่แสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่คู่สัญญากับหน่ยงานของรัฐต่อกรมสรรพากร นอกเหนือจากบัญชีงบดุลปกติที่ยื่นประจำปี

ทั้งนี้ เพื่อให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษีเงินได้ในโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช.กำหนด เพื่อจะได้ทราบกระแสการเคลื่อนไหวของเงินที่ได้รับไปจากหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นการป้องปรามไม่ให้มีการทุจริต รวมถึงเพื่อให้มีข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเท่าที่ตนทราบ ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการตรวจสอบรายการรับจ่ายมามา 2-4 ปี ดังนั้น ตนจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่ามาตรการการตรวจสอบดังกล่าวน่าจะช่วยในการป้องกันการทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐได้

นอกจากนี้ รมว.ยุติธรรมได้กล่าวถึงกรณีส่งรายชื่อข้าราชการที่น่าเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในรอบที่ 2 ให้กับนายกรัฐมนตรีว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้ส่งรายชื่อให้ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี เหมือนกับการส่งรายชื่อในครั้งแรก จึงไม่อยากให้กดดันนายกรัฐมนตรี เพราะการพิจารณาจะต้องรอบคอบ กลั่นกรอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้ตนไม่อยากให้คิดว่าจะต้องทำเร็วและการที่ดำเนินการล่าช้านั้น ไม่ใช่เราไม่อยากทำ แต่เพราะต้องการให้เกิดความรอบคอบ

“พูดมาเสมอว่าการที่จะตัดสินว่าใครผิดหรือถูกนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมและตุลาการ สำหรับบุคคลที่มีรายชื่อนั้นเป็นบุคคลที่น่าเชื่อว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับการทุจริต เราจึงต้องใช้อำนาจที่มีเพื่อตรวจสอบและกลั่นกรองไว้ก่อน ส่วนจะผิดหรือถูกนั้น ผมไม่เคยพูดว่าใครผิด เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

ด้านนายประยงค์กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้โครงการที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ควรนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ด้วยว่า เมื่อมีการลงนามสัญญาซื้อขายหรือว่าจัดซื้อจัดจ้างของคู่ขายจะต้องมีการทำสัญญาคุณธรรมซึ่งประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายคู่ขายหรือผู้รับจ้าง และฝ่ายประชาชน เพื่อร่วมกันตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสและง่ายต่อการตรวจสอบ หากพบว่ามีการกระทำความผิดก็จะสามารถทราบได้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมากว่าเราจะทราบว่าเกิดการทุจริตก็ช้าเกินกว่าจะแก้ไขแล้ว ทั้งนี้ ในการทำข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดการทำทุจริตขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการนำตกลงนี้ไปใช้ในโครงการที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไปมี 20 กระทรวงที่กำลังดำเนินการ และขณะนี้มี 5 โครงการที่ทำข้อตกลงคุณธรรมแล้ว เช่น โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี โครงการเปลี่ยนถ่ายระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอล โครงการก่อสร้างรถไฟสายสีน้ำเงิน

กำลังโหลดความคิดเห็น