xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ คงสัดส่วนสตรีไพรมารีโหวต ย้ายข้อปฏิบัติการเมืองไปประมวลจริยธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยที่ประชุมเห็นชอบร่างมาตรา 76 ให้พรรคจัดองค์กรภายใน มีประเด็นให้ตัดสัดส่วนสตรี 1 ใน 3 บัญชีไพรมารีโหวต เหตุหวั่นมีปัญหาทางปฏิบัติ ก่อนมติเสียงข้างยันต้องคงไว้ พร้อมตัดคำว่ากลุ่มการเมือง ย้ายบทบัญญัติการปฏิบัติตนนักการเมืองไว้ในประมวลจริยธรรม

วันนี้ (2 ก.ค.) น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 76 ว่าด้วยการให้พรรคการเมืองต้องจัดองค์กรภายใน ให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ในฐานะที่เป็นปวงชนชาวไทย และมีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ซึ่งคณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังคงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวไว้ครบถ้วนทุกประการ

ทั้งนี้ แหล่งข่าวในที่ประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การประชุมในมาตรานี้ที่ประชุมได้มีการถกเถียงในประเด็นที่เกี่ยวกับการพิจารณาส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ จะต้องมีการหยั่งเสียงประชาชนหรือสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งหรือในภาคก่อน โดยต้องมีเงื่อนไขว่าต้องมีสัดส่วนสตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในบัญชีของการทำการหยั่งเสียงดังกล่าว ซึ่งการประชุมของคณะกมธ.ยกร่างฯในเรื่องนี้ปรากฏว่ามี กมธ.ยกร่างฯจำนวนหนึ่งเสนอให้ตัดเรื่องการกำหนดสัดส่วนสตรีออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น บางพรรคไม่สามารถหาผู้สมัครที่เป็นสตรีได้ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ที่สุดแล้วที่ประชุมต้องตัดสินด้วยการลงมติ ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 20 ต่อ 9 เสียง ให้ยังคงสัดส่วนสตรีจำนวน 1 ใน 3 เอาไว้ตามเดิม

จากนั้นที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าในมาตรา 76 ควรตัดคำว่ากลุ่มการเมืองออกไปจากการอยู่ภายใต้สภาพบังคับตามมาตรา 76 ที่ต้องมีการจัดองค์กรภายในต่างๆตามที่ร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในเมื่อคณะ กมธ.ยกร่างฯ มีความเห็นในเบื้องต้นแล้วว่ากลุ่มการเมืองไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องคงคำว่ากลุ่มการเมืองเอาไว้ในมาตรานี้อีก

ขณะเดียวกัน คณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดมาตรา 75 ของร่างรัฐธรรมนูญออก ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดแนวทางปฏิบัติตนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้นำอื่นในภาครัฐควรกระทำจำนวน 5 ประการ อาทิ ต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกจากตำแหน่ง แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองเมื่อตนกระทำผิด เป็นต้น และแนวทางที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้นำอื่นในภาครัฐไม่ควรกระทำจำนวน 6 ประการ เช่น ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ของพรรคการเมือง หรือ ชี้นำให้บุคคลอื่นเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยคณะ กมธ.ยกร่างฯเห็นว่าควรนำบทบัญญัติเหล่านี้ไปอยู่ในประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้นำอื่นในภาครัฐแทน

กำลังโหลดความคิดเห็น