กมธ.ยกร่างฯ เผยผลสำรวจร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่มองว่าพลเมืองต้องไม่ทำให้เกิดความเกลียดชัง หนุนมีกรรมการตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม วางกรอบพิจารณาคดีให้ชัด ตั้งกองทุนช่วยด้านกฎหมายแก่ผู้มีรายได้น้อย หลากแนวคิดหากเลือกตั้งแล้ววุ่นอีก ทั้งให้มีรัฐบาลผสม ปฏิวัติซ้ำ ยุบสภา ส่วนมากแนะปลุกจิตสำนึกลดขัดแย้ง แต่เสียงเห็นด้วยล้างผิดประท้วงการเมืองไม่รวมคดีหนักลดลง
วันนี้ (2 ก.ค.) ที่รัฐสภา น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนางถวิลวดี บุรีกุล ประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 ทำการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1-31 พ.ค. 2558 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสถาบันพระปกเกล้า โดยดำเนินการสุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 77,160 ราย
นางถวิลวดีกล่าวสรุปผลสำรวจรอบที่ 2 แยกเป็นประเด็นดังนี้ 1. ประเด็นเรื่องความเป็นพลเมือง สิทธิ และหน้าที่พลเมือง ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 97.8 เห็นด้วยว่าพลเมืองต้องไม่กระทำที่ทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา ร้อยละ 96.7 เห็นว่าสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพและรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนร้อยละ 96.9 เห็นด้วย ควรเสียภาษีโดยสุจริต ร้อยละ 95.7 เห็นด้วยว่าบุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีเสรีภาพที่จะกระทำการใด เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ส่วนร้อยละ 94.1 เห็นด้วยว่าบุคคลห้ามใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่จะก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขร้อยละ 91.2 เห็นด้วย ควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งย้อนหลัง 3 ปี ร้อยละ 84.6 เห็นด้วยว่าควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติของคู่สมรสและบุตรของผู้สมัครรับเลือกตั้งย้อนหลัง เป็นต้น
นางถวิลวดีกล่าวต่อว่า 2. ประเด็นระบบผู้แทนและผู้นำการเมืองที่ดี แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 94.7 เห็นว่าควรมีคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม ร้อยละ 93.5 เห็นว่า เมื่อ ส.ส.ไปเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ร้อยละ 92 เห็นว่า ส.ว.มีอำนาจร่วมกับ ส.ส.ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 90.6 เห็นว่าประชาชนนอกจากเลือกพรรคการเมืองที่ชอบได้แล้วยังสามารถเลือกผู้สมัครที่ตนเองชอบกับบัญชีรายชื่อพรรคได้อีกด้วย ร้อยละ 89.3 เห็นว่า ส.ส.มีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการลงมติเรื่องต่างๆ ร้อยละ 88.7 เห็นว่า ส.ว.มีจำนวนไม่เกิน 200 คน
นางถวิลวดีกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ร้อยละ 86.6 เห็นว่าในกรณีบ้านเมืองเกิดวิกฤต ส.ส.สามารถลงมติให้คนที่มีความสามารถเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องเป็น ส.ส.ด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ส่วนร้อยละ 83.9 เห็นว่าการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องจัดให้มีการหยั่งเสียงของประชาชนหรือสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งหรือในภาคนั้นๆ ก่อน ส่วนร้อยละ 77.1 เห็นว่า ส.ว.มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน ส่วนจำนวนที่เหลือให้มาจากการสรรหา และร้อยละ 77 เห็นว่า ส.ส.ควรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี็น็นว
นางถวิลวดีกล่าวต่อว่า 3. ประเด็นนิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 98.1 เห็นควรกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคดีของศาลให้ชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณะ ร้อยละ97.6 เห็นว่าดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรรมการองค์กรตรวจสอบต่างๆ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยต่อสาธารณะ ร้อยละ 96.6 เห็นว่ามีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อเสนอถอดถอนนักการเมืองและกรรมการองค์กรตรวจสอบ ร้อยละ 93 เห็นว่าเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่องค์กรต่างๆ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด ร้อยละ 92.8 เห็นว่า ห้ามข้าราชการ อัยการ ดำรงตำแหน่งหรือปฎิบัติหน้าที่ใดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ หรือบริษัทเอกชน และร้อยละ 89.5 เห็นว่าการชี้ขาดการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์
นางถวิลวดีกล่าวต่อว่า 4. ประเด็นการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ผลสำรวจ พบว่า ร้อยละ 98.4 เห็นด้วยให้มีการจัดตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและคดีแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 98.1 เห็นว่าการปฎิรูป การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและความยั่งยืน ร้อยละ 95.8 เห็นว่าควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เสริมสร้างและประสานงานกับทุกภาคส่วนให้เกิดความสมานฉันท์และความปรองดองในชาติ และร้อยละ 93.7 เห็นว่าควรมีมาตรการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำถามปลายเปิดในประเด็นการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองมีคำถามที่น่าสนใจอยู่ 3 คำถาม โดย คำถามที่ 1 หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วยังคงเกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายเหมือน เช่น 10 ปีที่ผ่านมาควรทำอย่างไร ผลสำรวจพบว่าประชาชนร้อยะ 17.3 เห็นว่าให้ตั้งรัฐบาลผสม ร้อยละ 11 ให้ทหารปฎิวัติเพื่อมีรัฐประหารอีก ร้อยละ 10.3ให้ยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 9.8 ให้ออกกฎหมายบังคับอย่างเด็ดขาด/ออกกฎอัยการศึก ร้อยละ 2 เห็นว่าให้สร้างสำนึกให้รู้รักชาติ รักแผ่นดิน คำถามที่ 2 มีแนวทางอย่างไรเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างเช่นในอดีต ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 12.5 เห็นว่าต้องปลุกจิตสำนึกให้รักชาติ สามัคคี ปรองดอง รณรงค์ ลดความรุนแรงทางการเมือง ร้อยละ 10.2 ออกกฎหมายควบคุมล่วงหน้า/ออกกฎอัยการศึก ร้อยละ 3.5 หาคนกลางเข้ามาแก้ปัญหาและหันหน้าคุยกัน ร้อยละ 2.5 ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันยอมรับฟังความคิดเห็นและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ร้อยะ 2.4 ลดความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ยึดหลักประชาธิปไตย
คำถามที่ 3 ควรมีการนิรโทษกรรมให้กับการประท้วงทางการเมืองในช่วงปี 2548-2557 ที่ได้กระทำผิดตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ยกเว้นผู้กระทำผิดคคีทุจริต หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีวางเพลิงฆ่าทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์และแกนนำการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 52.9 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในกรณีดังกล่าว ขณะที่ร้อยละ 43.9 ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ผลสำรวจในคำถามที่ 3 มีความแตกต่างจากผลสำรวจในครั้งที่ 1 ในช่วงเดือน ก.พ. 58 เป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำผลสำรวจช่วงแรก มีประชาชนเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมถึงร้อยละ 90.5