xs
xsm
sm
md
lg

แฉ “ครม.ประยุทธ์” ชง กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้ร่าง รธน. เพื่อลิดรอนสิทธิชุมชนในการฟ้องรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยประชุมปรับแก้ร่าง รธน.วันแรก 33 มาตรา คาดที่สุดหันเหลือไม่ถึง 300 มาตรา เตรียมพิจารณาหมวด 2 สิทธิชุมชน วันนี้อาจปรับแก้ ม.62-64 ขณะเดียวกัน จับตา “ครม.ประยุทธ์” บีบ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขเพื่อลิดรอนสิทธิชุมชนในการฟ้องรัฐ อ้างให้ออกกฎหมายลูกแทน ไม่ต่างจากตัดมาตรา 67 รธน.ปี 50 ออก เปิดช่องกลับสู่วังวนเดิม ปชช.มีสิทธิแค่ตัวอักษรในกระดาษแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยความคืบหน้าในการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในบททั่วไปและภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชนว่า มีการพิจารณาไปแล้ว 33 มาตรา ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขถ้อยคำ โดยมีเพิ่มเติม 1 มาตรา คือ ในหมวดพระมหากษัตริย์ เป็นการเพิ่มตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 ในกรณีการถวายสัตย์ฯ จากเดิมกำหนดว่าจะต้องกระทำต่อเบื้องพระพักตร์ เป็นกระทำต่อพระมหากษัตริย์ หรือผู้ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนพระองค์ หรือรัชทายาทที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังมีการสลับที่หนึ่งจุด แก้ไขถ้อยคำรวมทั้งสิ้น 11 มาตรา และมีการเปลี่ยนชื่อภาค 1 จาก พระมหากษัตริย์และประชาชน เป็น รากฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างไรก็ตามยังคงไว้เกี่ยวกับคำว่า “พลเมือง” แต่อาจจะปรับในบางส่วน โดยเชื่อว่าหลังการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขแล้วร่างรัฐธรรมนูญจะเหลือไม่ถึง 300 มาตรา

ส่วนการประชุมวันนี้ นายคำนูณกล่าวว่า จะเป็นการพิจารณาในหมวด 2 ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และปวงชนชาวไทย โดยมาตราที่เสนอแก้ไขเข้ามามากคือมาตรา 62-64 โดย ซึ่ง ครม.มีการเสนอให้แก้ไขในส่วนของมาตรา 62 โดยให้ตัดวรรคท้ายที่ระบุว่า การกำหนดยุทศาสตร์ชาติ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและแผนอื่น การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการตรากฎหมายหรือการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการเพื่อนำความคิดเห็นนั้นไปประกอบการพิจารณา โดยให้คำนึงถึงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วย

โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะตัดออกทั้งวรรคตามข้อเสนอของ ครม.หรือไม่ แต่ก็มีการพิจารณาว่าการเขียนว่าให้รับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างทั่วถึงและให้คำนึงถึงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วยนั้นในทางปฏิบัติจะมีปัญหาอะไรหรือไม่

นอกจากนี้ ในมาตรา 64 เกี่ยวกับสิทธิพลเมืองในการใช้ประโยชน์จากทรรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นธรรมและในความคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนโดยบุคคลซึ่งไม่มีส่วนได้เสีย และในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันด้วย ตลอดจนให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติ ซึ่งในส่วนของกรรมาธิการฯมีการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดว่าจะต้องศึกษาและประเมินผลโดยบุคคลซึ่งไม่มีส่วนได้เสียว่าจะทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาคำขอแก้ไขของ ครม.ที่ให้ตัดข้อความ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่น่าจับตามองว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่เพราะจะกระทบต่อสิทธิการฟ้องร้องรัฐของประชาชนโดยตรง คือ กรณีที่ ครม.เสนอให้ตัดข้อความ “รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” โดย ครม.ให้เหตุผลว่า อาจทำให้การดำเนินการต่างๆ มีอุปสรรคได้ จึงควรให้ไปกำหนดรายละเอียดในกฎหมายซึ่งจำเป็นต้องเร่งตราขึ้นอยู่แล้ว มิฉะนั้นจะถูกฟ้องร้องทั้งที่ยังไม่ตรากฎหมาย ทั้งนี้การตัดข้อความดังกล่าว

ทั้งนี้ หากคณะกรรมาธิการฯแก้ไขตามข้อเสนอของ ครม.ก็จะทำให้สิทธิชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากจะทำให้ต้องมีการตีความอย่างแคบ แตกต่างจากในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 ที่บัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชนให้มีผลทันทีหากกำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไปรอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาว่า สิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่เคยปฏิบัติได้จริง เนื่องจากไม่มีการออกกฎหมายลูกรองรับ การแก้ไขของ ครม. จึงเท่ากับย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิม คือ สิทธิชุมชนถูกกำหนดแค่ตัวอักษรในรัฐธรรมนูญแต่สุดท้ายแล้วไม่มีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนให้ลดน้อยลงจากที่รัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 67 เคยระบุเอาไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น