xs
xsm
sm
md
lg

“พรเพชร” นัด สนช.ถกแก้ รธน. 18 มิ.ย. ยันประชามติไม่มีคำถามต่ออายุรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พรเพชร” เผยนัดถก สนช.แก้ไขรัฐธรมนูญฉบับชั่วคราว 18 มิ.ย.นี้ 3 วาระรวด พร้อมเชิญผู้มีอำนาจเต็มจาก ครม.-คสช.เข้าชี้แจง ยันทำประชามติไม่มีคำถามต่ออายุรัฐบาล

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า การพิจารณาขอแก้ไขเพิ่มรัฐธรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 นั้น วันนี้ (10 มิ.ย.) สนช.ได้รับร่างดังกล่าวจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งมาตรา 46 ของรัฐรรมนูญชั่วคราว กำหนดให้ สนช.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 25 มิ.ย. ดังนั้นจึงได้นัดสมาชิก สนช.พิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 18 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้จะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา โดยจะเชิญตัวแทนจาก ครม.และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย และในการพิจารณานั้นอาจมีบางประเด็นต้องประชุมลับซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุม โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเต็มที่ รวมถึงพยายามพิจารณาให้เสร็จภายในวันเดียว แต่หากไม่เสร็จก็สามารถขยายเวลาได้

อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกมีประเด็นต้องการแก้ไขก็สามารถสอบถามความเห็นจากผู้แทนได้ แต่หากตัวแทน ครม.และ คสช.ไม่เห็นด้วย และยืนยันตามร่างเดิมก็ต้องยึดตามนั้น ทั้งนี้ การลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ จำนวน 220 คน ดังนั้นต้องให้ได้ 110 คนขึ้นไป หากเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งถือว่าร่างแก้ไขนี้ตกไป ส่วนการลงคะแนนจะใช้วิธีแบบขานชื่อเรียงตามตัวอักษร หากร่างรัฐธรรมนูญขอแก้ไขผ่านความเห็นชอบก็จะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป

นายพรเพชรกล่าวว่า สำหรับเนื้อหาในร่างแก้ไขมีทั้งหมด 6 ประเด็น ส่วนประเด็นที่ 7 เป็นการขอปรับแก้ไขถ้อยคำ แต่ตนสรุปได้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ขอแก้ไขมาตรา 8 (4) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111, 109 ให้มีสิทธิเป็น สนช. รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ด้วย 2. เรื่องการแก้ไขถวายสัตย์ต่อเบื้องพระพักตร์พระมหากษัตริย์ สามารถถวายต่อรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ได้ และ 3. ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต่อไปนี้ร่างใดก็ตามจะต้องทำประชามติ โดยให้ยึดถือเป็นหลักการ

“ไม่ว่าจะเป็นฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่าน สปช.ก็ต้องไปทำประชามติ หรือถ้าไม่ผ่าน สปช.แล้วมีการตั้งคณะกรรมการ 21 คนขึ้นมาร่างก็ต้องไปทำประชามติเช่นกัน การทำประชามติในร่างแก้ไขที่ระบุว่าให้ทำประชามติเรื่องอื่นๆ ด้วยนั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญนั้นให้ถามว่ารัฐบาลอยู่ต่อหรือไม่ แต่เป็นการให้ สปช.และ สนช.ตั้งคำถาม สมมติตั้งคำถามว่าการที่ให้บัญญัติว่า ส.ว.มาจากการสรรหา ให้มาจากการเลือกตั้งได้ด้วยหรือไม่ เป็นต้น ไม่ได้เกี่ยวกับการต่ออายุรัฐบาล แต่ทั้งนี้คำถามอาจไม่มีก็ได้หากทั้งสองสภาเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ขึ้นอยู่กับแต่ละสภา” นายพรเพชรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น