xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผยใช้อำนาจไม่แตะตุลาการ ออกกฎหมายลดเหลื่อมล้ำ-รับมือเออีซี พิมพ์ “คู่มือชาวบ้าน” แจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ แถลงผลงานรัฐบาล เผยผลงาน 1 ปี ชี้แจงต่างชาติไทยสงบแล้ว ส่วนด้านกฎหมายยึดรัฐธรรมนูญ และ โรดแมป ไม่ยุ่งกับศาล ชี้ออกกฎหมายที่รัฐบาลปกติออกยากได้ถึง 71 ฉบับ ปฏิรูปกฎหมายคดีแพ่งจบในศาลอุทธรณ์ แจงกฎหมายชุมนุมสาธารณะไม่ได้ห้ามชุมนุม รวมกฎหมายยาเสพติด 10 ฉบับเหลือหนึ่งเดียว เผยนายกฯ สั่งพิมพ์ “คู่มือชาวบ้าน” และแปลกฎหมายที่เกี่ยวกับเออีซีเป็นภาษาอังกฤษ

วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่รัฐสภา ความคืบหน้าการสัมมนาร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อรับฟังการดำเนินงานที่ผ่านของรัฐบาลในรอบ 1 ปี โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลงานแทน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ติดภารกิจในต่างประเทศ ว่า การดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ หลังวันที่ 22 พ.ค. 2557 ถือเป็นการพลิกโฉมการทำงานของกระทรวงต่างประเทศจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้มาจากการรัฐประหาร จึงต้องเดินหน้าชี้แจงให้ต่างชาติเข้าใจว่าขณะนี้ สถานการณ์ในประเทศไทยสงบแล้ว หลังจากบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายมานาน ซึ่งต่างชาติสามารถมาท่องเที่ยวและลงทุนได้แล้ว

ส่วนโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลชุดเดิมได้สัญญาเอาไว้ หากโครงการไหนดี รัฐบาลก็ดำเนินการต่อ แต่อะไรที่ไม่ชอบมาพากล รัฐบาลก็ได้ยกเลิกและแก้ไขใหม่แล้ว โดย 8 เดือนที่ผ่านมา ถือว่ากระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการมากที่สุด คือ เรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาชาติ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในคนไทยและประเทศไทย ที่จะทำให้คนไทยสามารถยืนบนที่ใดๆ ของโลกได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ส่วนการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจา รัฐบาลได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมมาอย่างต่อเนื่อง และได้หาแนวทางให้ประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนในจัดการกับปัญหาร่วมกัน ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งฝาก สนช. ช่วยตรวจทานกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซัยน หรือ เออีซี หากมีเรื่องคุณสมบัติที่เกี่ยวสัญชาติไทย ก็ให้แก้ไขด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลการต่อบังคับใช้เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว

นายวิษณุ กล่าวแถลงผลงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และแม้ คสช. จะมีอำนาจมากแต่ได้กำชับให้ใช้อย่างเหมาะสมและไม่ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ โดยยึดหลักตามรัฐธรรมนูญและโรดแมป ซึ่งไม่ได้นำมาตรา 24 มาใช้เป็นหลัก เพียงแต่จะใช้ในโอกาสจำเป็นและสร้างสรรค์เท่านั้น รวมถึงนำมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ การแก้กฎระเบียบ ส่วนการบริหารของรัฐบาล ใช้ในเรื่องการโยกย้าย โดยจะไม่ใช้ในทางตุลาการและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการตามแนวทาง แต่ในอนาคตไม่ทราบเพราะไม่รู้ใจหัวหน้า คสช.

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เสนอกฎหมายที่สำคัญและเร่งด่วนหลายฉบับ รวมถึงกฎหมายที่ยากต่อการผลักดันหากเป็นรัฐบาลในสภาวะปกติ เพราะแม้จะมีความชอบธรรมแต่การออกกฎหมายนั้นล่าช้า เพราะถูกแทรกแซงด้วยปัจจัยทางการเมืองหลายอย่าง แต่ในรัฐบาลชุดนี้สามารถผลักดันได้รวดเร็ว โดยขณะนี้ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 71 ฉบับแล้ว และจะทยอยออกมาอีกเรื่อยๆ

ส่วนเรื่องการปฎิรูปกฎหมาย ขณะนี้ได้ผลักดันกฎหมายหลายฉบับ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องกลุ่มในคดีแพ่ง ที่มีผู้เดือดร้อนเพียงคนเดียวมาฟ้องคดี ก็ให้มีผลครอบคลุมถึงบุคคลอื่นที่มีความเสียหายในลักษณะเดียวกัน กฎหมายในการฟ้องคดีแพ่งให้จบแค่ศาลอุทธรณ์ เพื่อให้คดีเกิดความรวดเร็ว ไม่ต้องไปจบที่ศาลฎีกา กฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ให้ ไม่ใช่เรื่องการขออนุญาตในการชุมนุมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังจะจัดเตรียมประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด กว่า 10 ฉบับมารวมไว้ในฉบับเดียว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้จัดทำคู่มือกฎหมายชาวบ้านเพื่อให้ความรู้ประชาชน เช่น ให้ความรู้กฎหมายแพ่ง มหาชน และ อาญา เป็นต้น โดยจัดพิมพ์ให้มากกว่ารัฐธรรมนูญที่จะแจกชาวบ้าน รวมทั้งกระทรวงที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับเออีซี ให้แปลเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเพื่อใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารแก่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุก 5 ปี เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนการลดความเหลื่อมล้ำจะมีการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ โดยจะมีกฎหมายออกมารองรับ เช่น ร่าง พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม ที่จะช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัวแก่ประชาชน หรือ พ.ร.บ. การไกล่เกลี่ยเพื่อลดจำนวนคดีที่ขึ้นต่อศาล

“เรื่องการปฏิรูปมีจำนวนมาก หากทำทั้งหมดจะต้องตั้งกระทรวงใหม่กว่า 10 กระทรวง ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเลือกเรื่องที่ทำแล้วจะชนะใจประชาชน เช่น เรื่องการปรับประสิทธิภาพการทำงาน และหากทำสำเร็จจะตามด้วยเรื่องปฏิรูปโครงสร้าง และเรื่องกำลังคน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการ” นายวิษณุ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น