“ฉัตรเฉลิม” รับตำรวจกำลังตรวจสอบบทสัมภาษณ์ “นช.แม้ว” ผิด ม.112 หรือไม่ ยอมรับให้ต่างประเทศจับตัวส่งมาดำเนินคดียาก เหตุประเทศส่วนใหญ่ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับความผิดหมิ่นสถาบัน เผยเตรียมเชิญตัวแทนกลุ่มการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ หารือปรองดอง รอบสองเร็วๆ นี้ เล็งตรวจสอบสมาคมโรฮีนจา จดทำเบียนถูกต้องหรือไม่ ผู้ก่อตั้งเป็นคนไทยแล้วหรือยัง
พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงข่าว พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ให้นายทหารพระธรรมนูญไปแจ้งความเอาผิดต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีใต้ และมีการพูดพาดพิงสถาบันว่า เรื่องดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบเทปการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ ถ้าผิดจริงก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือไม่ใช่เฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น มีหลายคนที่โดนคดีนั้นอยู่ ในรัฐธรรมนูญของไทยระบุเอาไว้ว่า คนไทยมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมก็จะเข้ามาดำเนินการกับทุกคน ใครทำผิดต้องรับผิดไป
พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนเคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับมาตรา 112 ก็อธิบายไปว่ากฎหมายดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกฎหมายหมิ่น ใครที่ไปพูดสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ไปกล่าวหา ซึ่งสถาบันพระมหากษัติย์คงไม่ออกมาฟ้องร้อง แต่เราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรามีหน้าที่ปกป้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะดูหมิ่นเรื่องไหน เราก็ต้องออกมาดำเนินการ ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม มาตรา 112 มีมาตั้งนานแล้ว และคนไทยรู้ว่าถ้าไปฝ่าฝืนหรือละเมิดก็จะถูกลงโทษ แต่ถ้าทำแสดงว่าตั้งใจและยอมรับว่าตัวเองจะต้องถูกลงโทษ เหมือนคนไปยิงคนตาย ต้องพร้อมที่จะรับโทษเพราะรู้ว่าผิดกฎหมาย
เสธ.ทบ.กล่าวว่า การที่จะนำตัวผู้ที่กระทบผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในต่างประเทศมาลงโทษนั้น ต้องเข้าใจว่าจะต้องมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายความแดน และต้องเป็นกฎหมายที่มีเหมือนกัน แต่หลายประเทศไม่มีพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีกฎหมายแบบนี้ เลยไม่สามารถส่งตัวให้ได้ แต่ก็ได้ให้ความร่วมมือในด้านอื่นๆ ยกเว้นว่าคนเหล่านี้กระทำผิดในด้านอื่นๆ ด้วย เพราะผู้ที่ต้องคดีและหลบหนีอยู่ต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ทำความผิดในเรื่องเดียว ส่วนที่ระบุว่ากระทรวงต่างประเทศได้ยึดพาสปอร์ตของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เป็นเรื่องของกระทรวงต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเป็นผู้พิจารณา
“ยืนยันว่าเราไม่เคยใช้มาตรา 112 ในทางการเมือง หากไปดูคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดความผิดเหล่านี้ ถูกศาลตัดสิน และมีความผิดทุกคน และถ้าไปดูข้อความที่เขาเอาไปเผยแพร่ และลองคิดดูว่าถ้าเขาว่าท่าน ท่านรับได้หรือไม่ เพราะมันเป็นสิ่งไม่จริง ไม่เช่นนั้น เขาคงไม่ติดคุก เพราะกระบวนการยุติธรรม ก็ว่าไปตามพยาน หลักฐานที่มี ซึ่งมาตรา 112 เป็นกฎหมายหมิ่นธรรมดา ถ้าใครหมิ่นคุณ คุณจะฟ้องหรือไม่ ก็ต้องฟ้อง อย่างเช่น มากล่าวหาว่าผมมีเมียน้อยหลายคน ผมก็ต้องฟ้อง เพราะไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่พระองค์ท่านไม่ออกมาฟ้องเอง เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ดูรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศก็ต้องออกมาช่วยพระองค์ท่าน สื่อเองก็อย่าเอาถ้อยคำที่ไม่ดีเหล่านี้ไปเผยแพร่ เพราะไม่ยุติธรรมกับสถานบันที่เราเคารพรัก ต้องเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ได้สร้างประเทศไทยมาถึงทุกวันนี้ เราอยู่มาได้เพราะสถาบันเป็นหลัก เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ใครมากล่าวหา”
พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ที่กระทบความผิดมาตรา 112 น้อยลง โดยเฉพาะการใช้ช่องทางโซเชียลฯ เพราะเจ้าหน้าที่เอาจริง และจะมาอ้างว่าเป็นคดีการเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่ คนไม่ฟังอีกแล้ว เพราะทุกอย่างเราดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม หากคิดว่าตัวเองบริสุทธิ์ หรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองก็ไปต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม นายกรัฐมนตรีตลอดจนทหารทุกคนก็ไม่อยากอยู่ในสภาพแบบนี้ อยากให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ขณะนี้ประเทศก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเดินไปข้างหน้าได้
พล.อ.ฉัตรเฉลิมยังกล่าวถึงกรณีที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นรอบสองว่า จะเชิญมาเร็วๆ นี้ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่กลุ่มการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ หรือสื่อมวลชน เพื่อให้มาแสดงความคิดเห็นหลายๆ เรื่องและจะสรุปนำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ทราบว่าแต่ละกลุ่มอาชีพมีความเห็นคิดเห็นอย่างไร เพราะถือว่าว่างเว้นจากรอบที่แล้วมานานพอสมควร และขณะนี้บ้านเมืองก็กำลังเดินไปข้างหน้า
เสธ.ทบ.กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยห้ามให้ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ให้สัมภาษณ์สื่อ เพียงแต่อยากให้พูดกันให้ตรงกับที่พูดกับเรา อย่าพูดเกินเลยไปกว่านั้น เพราะจะทำให้สังคมเกิดความสับสน สำหรับในส่วนของนักศึกษาที่อยากแสดงความคิดเห็นนั้น ก็มีเวทีให้อยู่แล้ว เพราะในการเปิดเวทีในครั้งที่ 1 ก็มีตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วม แต่ความเห็นไปคนละทางกับกลุ่มนักการเมือง เหมือนกับความคิดอยู่กันคนละระดับ จึงอยากให้นักศึกษาไปแสดงความเห็นอีกเวทีหนึ่งมากกว่า ที่เราเตรียมไว้ให้ ทั้งนี้ในส่วนของนักการเมือง ถือเป็นคนไทยเหมือนกัน ตนมองว่าเขาก็อยากเห็นและพัฒนาประเทศไทยไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งคนทุกกลุ่ม ทุกพวก มีทั้งคนดีและไม่ดี เพียงแต่คนดีมากกว่าคนไม่ดี จึงทำให้ประเทศอยู่ได้
พล.อ.ฉัตรเฉลิมยังกล่าวถึงผลโพลสำรวจของประชาชนใน จ.สงขลา ไม่อยากให้ไทยตั้งศูนย์พักพิงชาวโรฮีนจาว่า ต้องยอมรับว่าไม่มีประเทศไหนอยากจะตั้ง ทั้งประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียเอง ถึงแม้เขาระบุว่าพร้อมที่จะรับแต่เป็นการรับเป็นชั่วคราว สุดท้ายก็ต้องกลับ ปัจจุบันชาวโรฮีนจาที่อยู่ในความควบคุมของไทย จำนวน 779 คน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดไว้ชัดเจนว่าถ้าคนเหล่านี้มาอยู่ในแผ่นดินไทย หรือในเขตของเราต้องดำเนินคดีตามกฎหมายไทย เพราะไม่ใช่ผู้อพยพ และไม่ใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ แต่เป็นผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า การดำเนินการกับชาวโรฮีนจา ที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เราก็ดำเนินการเหมือนกับแรงงานต่างด้วงคนอื่นๆ ที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ก็ต้องส่งกลับ ถ้าไม่ยอมกลับก็ต้องดูแลต่อไป ส่วนการตรวจสอบสมาคมโรฮีนจานั้นก็ต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป ทั้งเรื่องการจดทะเบียน และคนที่ตั้งสมาคมฯ ก็ไม่รู้ว่าเป็นคนไทยแล้วหรือยัง เพราะบางคนก็ปลอม สวมบัตรแทนกัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตรวจ