xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป้อม” ย้ำ คสช.ไม่คิดอยู่ยาว ปัดใช้ความรุนแรงนักศึกษา ตั้ง ศอ.ยฐ.แก้ปัญหาโรฮีนจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (แฟ้มภาพ)
“ประวิตร” ยืนยัน คมช.เดินตามโรดแมป ไม่คิดอยู่ยาว แต่หากมีปัจจัยอื่นทำให้เกิดปัญหาก็ต้องมาคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความสงบ ย้ำเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษา เมื่อทำผิดกฎหมายก็ต้องเข้าควบคุม ระบุประชาชนส่วนใหญ่หนุนแนวทาง คสช. มีนักศึกษาเพียงเล็กน้อที่ออกมาเคลื่อนไหว ส่วนการตั้ง ศอ.ยฐ.เพื่อแก้ปัญหาโรฮีนจาเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ครม.จะหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เพื่อเปิดช่องให้ทำประชามติโดย แต่จะทำหรือไม่ทำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากนั้นทาง ครม.ก็จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาลงมติต่อไป ทั้งนี้ถ้าร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาไม่ผ่าน ก็ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) คือต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รวมถึงตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย ทั้งนี้ตนยังไม่ได้คิดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วจะให้ใครมาเป็นกมธ.ยกร่างฯชุดใหม่

ส่วนประเด็นที่จะบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารทำรัฐประหารในอนาคตนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ผมและครม.ไม่มีปัญหา เพราะเป็นเรื่องของ สปช. ส่วนจะป้องกันได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่ที่วิกฤต สถานการณ์ข้างหน้า แต่ไม่มีใคร หรือทหารคนใดอยากทำรัฐประหารหรอก แต่ถ้าบางทีประเทศเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้ ก็จำเป็นต้องทำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะประชาชนเดือดร้อน เมื่อเดินไปข้างหน้าไม่ได้ก็ต้องแก้ไขปัญหาให้เดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ และที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้ทำมาแล้ว 1 ปี เพื่อให้เกิดความสงบสุข ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้”

ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลใจหรือไม่ ถ้าโรดแมป คสช.จะเลื่อนออกไป พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คิดว่าตอนนี้โรดแมปยังไม่ขยับ ถ้าสมมติว่าจะมีการเลื่อนเนื่องจากปัจจัยอะไรก็ตามเราก็ต้องมาคุยกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการกันอย่างไรเพื่อให้เกิดความสงบแบบนี้ต่อไป และต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ ขณะนี้ทุกฝ่ายแม้กระทั่งนายกฯ ก็ต้องสร้างความรับรู้ และอธิบายให้กับประชาชนทุกขั้นตอนในทุกสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากมันเสียเวลาไปบ้าง แต่ถ้าเกิดผลดีเราก็ต้องยอม ยืนยันว่า คสช.ไม่มีแผนจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ทุกอย่างจะทำตามกรอบโรดแมป

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่นักศึกษาจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แล้วเจ้าหน้าที่รัฐเข้าดำเนินการจนเกิดความรุนแรง พล.อ.ประวิตรกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “ผมขอยืนยันว่าไม่ได้ปราบปราม และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำร้ายร่างกายนักศึกษา แต่เกิดการควบคุมจนปะทะเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักศึกษาทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราก็ได้เปิดพื้นที่ให้พูดไว้แล้ว แต่ไม่ได้เปิดเพื่อให้แสดงออกถึงความขัดแย้ง ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามนั้น อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าผู้นำใน คสช.ไม่จำเป็นที่จะต้องไปพบและทำความเข้าใจกับนักศึกษาด้วยตนเองเพราะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว และยืนยันว่าเราไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ว่าฝ่ายความมั่นคงต้องดูแลความเรียบร้อยตามกฎหมาย”

เมื่อถามย้ำว่านักศึกษาไม่เชื่อมั่นการแก้ไขปัญหาที่มาจากการทำรัฐประหาร พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า “ไม่เชื่ออย่างไร เราพยายามทำให้ดีที่สุด คนส่วนใหญ่เขาโอเค ทุกวันนี้ก็สงบอยู่แล้ว ไม่ได้บอกว่าจะยึดไป 500 ปี แต่เขามีโรดแมป ส่วนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่ได้มีจำนวนมาก ดังนั้นขอร้องให้นักศึกษาเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำให้เกิดความปรองดอง ทุกอย่างอยู่ที่กฎหมาย และรัฐธรรมนูญออกมา และทุกฝ่ายยอมรับได้ ก็จะเกิดความปรองดองเกิดขึ้นเป็นลำดับแรก ก็ต้องรอให้เขาทำรัฐธรรมนูญให้ดี อาจจะเสียเวลาบ้าง แต่เราไม่ได้ยึดไปตลอดชีวิต”

พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย (ศอ.ยฐ.) ว่า การตั้งศูนย์ดังกล่าวก็เพื่อควบคุมการทำงานของทหารเรือและทหารอากาศ โดยตนได้มอบนโยบายอย่างชัดเจนแล้วว่าจะดำเนินการเช่นใดบ้าง เพราะเรามีกฎหมายการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ถ้าสมมติว่ามีผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาทางเรือ โดยมีเจตนาเข้ามาประเทศไทยก็สามารถเข้ามาได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่จะต้องถูกควบคุมพื้นที่ เพราะถือว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าพวกเขาอยากไปประเทศอื่น เราก็จะช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม เราจะต้องสอบถามพวกเขาก่อนว่าต้องการไปที่ใด ไม่ใช่ว่าเราจะไปผลักไสไล่ส่ง ถ้ามีคนเจ็บคนป่วยมีอาการหนักเราก็จะนำตัวมารักษาพยาบาล ส่วนประเทศใดที่จะเข้าร่วมก็ต้องอยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ นี้ สำหรับงบประมาณทางกองบัญชาการกองทัพไทยจะเป็นผู้ประเมิน จากนั้นก็จะไปหารือกับองค์การสหประชาชาติ ในวันที่ 29 พฤษภาคมที่จะมีการประชุม ทางกระทรวงการต่างประเทศก็จะรายงานปัญหานี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่าทำไมเรื่องโรฮีนจาถึงมีประเด็นในช่วงนี้ ทั้งที่มีปัญหามานานแล้ว พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จริงๆ แล้วชาวโรฮีนจาก็อพยพแบบนี้มาตลอด อาจจะเป็นปัญหาทางการเมือง หรือมีปัญหาอื่นๆ แต่เราก็ยอมรับว่าปัญหาชาวโรฮีนจาเราต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน เพราะพวกเขาเป็นคนมีชีวิต หากดูแลได้เราก็ดูแลไป ทั้งนี้ก็ต้องไปดูต้นทางของปัญหาดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร ทำไมพวกเขาจึงอยู่ไม่ได้ หากมีความยากจนก็ต้องไปช่วยให้พวกเขาอยู่ให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น