นายกรัฐมนตรี เผยหลายประเทศตอบรับเข้าร่วมประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย 29 พ.ค. นี้ สั่งทหารเรือนำเรือใหญ่ทำฐานเรือลอยน้ำรองรับ ถ้าเจอชาวโรฮีนจาให้รักษาพยาบาล ก่อนส่งต่อไปที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ตำหนิสื่อนอกลงข่าวไทยใช้ความรุนแรง ย้ำดูแลตามมนุษยธรรม ทำตามมติยูเอ็น วอนอย่าตำหนิรัฐบาล
วันนี้ (25 พ.ค.) ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาชาวโรฮีนจา ว่า การจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย วันที่ 29 พ.ค. นี้ มีหลายประเทศใหญ่ๆ ตอบรับมาแล้ว และเข้าใจว่าจะตอบรับทั้งหมด ทั้งนี้ อย่าไปกังวลว่า จะมีระดับผู้นำมาหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่าเชิญไปแล้วก็ต้องมา ไม่มาก็คงไม่ได้แต่ก็ไปบังคับไม่ได้ โดยคาดว่าประเทศที่เป็นต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และประเทศที่ให้การสนับสนุนอย่างสหรัฐอเมริกา หรือ ญี่ปุ่น จะเข้าร่วมทั้งหมด ซึ่งปัญหาของเรา คือ จะต้องบริหารจัดการอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นประเทศตรงกลาง โดยจะต้องพิจารณาทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตรงนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะมีปัญหาจากกลางทะเล
ทั้งนี้ ตนได้คุยกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า จะต้องเพิ่มบทบาทในการทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะจะเริ่มมีการประชุมแล้ว รวมถึงวันนี้ได้มีการขอความร่วมมือจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และ สหรัฐอเมริกา แล้ว แต่เราจะดำเนินการของเราก่อน โดยเฉพาะการดูแลด้านมนุษยธรรมที่จะทำให้เกิดความชัดเจน เพราะตอนนี้มีหลายคนเป็นห่วง เพราะชาวโรฮีนจาส่วนหนึ่งยังลอยเรืออยู่ อีกทั้งเราเป็นห่วงว่า ช่วงนี้เข้าสู่หน้ามรสุม แต่ยังตรวจสอบไม่พบ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทหารเรือรับผิดชอบในการเอาเรือขนาดใหญ่ออกไปในพื้นที่ของไทย หรือรอยต่อเพื่อรองรับ เหมือนเป็นฐานเรือลอยน้ำ โดยมีแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่คัดแยกอยู่ในนั้นให้แล้วเสร็จ โดยถ้าเจอชาวโรฮีนจา ก็ให้นำมาที่เรือดังกล่าวและรักษาพยาบาลก่อน และเตรียมการส่งต่อไปที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเราจะอำนวยความสะดวกให้ แต่ต้องอยู่ในกฎหมายไทย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีชาวโรฮีนจาที่อยู่ในน่านน้ำนั้น จะเป็นไปตามแนวทางเดิม คือ ต้องขึ้นอยู่กับใจของเขาว่าจะไปที่ไหน ซึ่งแต่ละประเทศต้องช่วยกันอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม ได้มีความชัดเจนในการลาดตระเวนทางอากาศ ที่ให้ทหารอากาศจัดเครื่องบินลาดตระเวนตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. แล้ว หากสหรัฐอเมริกา หรือประเทศใดสนใจจะมาร่วมมือก็ต้องมาอยู่ในสายบังคับบัญชากับเรา เพราะเราเป็นเจ้าของพื้นที่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้สื่อต้องช่วยกัน อย่างกรณีสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ยังออกข่าวและลงภาพจากสื่อของไทย ว่า มีการใช้ความรุนแรง ใช้ปืนบังคับให้ชาวโรฮีนจาออกไป โถ่ ไปทำได้อย่างไร ในเมื่อเราเป็นคนช่วยมาตลอด ในเรื่องการดูแลผู้เจ็บป่วยตามหลักมนุษยธรรม เรามองประเด็นสำคัญคือ ชีวิตทุกชีวิตมีค่า อยากให้เอาคำพูดของตนไปเขียน รัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรี และคนไทยเป็นคนพุทธอยู่แล้ว ฉะนั้น ชีวิตคนทุกชีวิตมีค่า เราต้องช่วยเหลือตามมนุษยธรรมก่อนเรื่องอื่น จากนั้นเมื่อเขาเข้มแข็งก็ว่าไปตามความสมัครใจ ถ้าจะมาอยู่ที่ฝั่งไทยต้องยอมรับกติกาของเรา ซึ่งเรายืนยันหลักการตรงนี้ และเราจะไม่แบ่งแยกว่า พ่อแม่ป่วย ลูกไม่ป่วย แล้วเอามารักษาเฉพาะพ่อแม่นั้นไม่ใช่ เราเอามาทั้งครอบครัว ซึ่งการคัดแยกต้องมีความชัดเจน โดยมีการถ่ายภาพเก็บหลักฐาน อย่าไปเขียนเลอะเทอะไปเรื่อย จะทำให้ประเทศเสียหาย
“อย่ามาตำหนิรัฐบาล หรือประเทศไทยกันเอง เราทำตามมติของยูเอ็น ซึ่งงบประมาณก็ค่อนข้างจำกัด และลดลงไปเรื่อยๆ จะให้อยู่ดีกินดีกว่าที่คนไทยอยู่นั้นไม่ได้ ต้องเท่าเทียมกันและแก้ปัญหาทั้งหมด ส่วนปัญหาระยะยาวจะแก้ปัญหากันเอง คุยกับประเทศเพื่อนบ้านกันแล้วว่าขอเวลาเตรียมการหน่อย ไม่ได้มีปัญหาอะไร วันนี้เราต้องลดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้าน และใช้ความเป็นมนุษยธรรม ซึ่งคิดว่าผู้นำทุกประเทศเข้าใจตรงนี้ วันนี้เกรงว่า การพูด การสัมภาษณ์ทุกเรื่องนั้นจะเกิดผลกระทบกับมิตรประเทศของเราทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละประเทศมีปัญหาไม่เหมือนกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว