xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” วอนอย่าสร้างประเด็นโรฮีนจาเป็นปมขัดแย้งระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย ตามคำเชิญของดาโต๊ะ ซรี อะนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนในปัจจุบัน เพื่อหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และนางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เกี่ยวกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาค ที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย  (ภาพกระทรวงการต่างประเทศ)
“พล.อ.ธนะศักดิ์” บินมาเลเซีย ถก รมต.ต่างประเทศ มาเลย์-อินโดนีเซีย เน้นแก้ปัญหาโรฮีนจา “บิ๊กตู่” ย้ำไทยประเทศกลางทาง วอนอย่าใช้ประเด็นสร้างปมขัดแย้งระหว่างประเทศ ชี้รอชัดเจนหลังถก 17 ประเทศ 29 พ.ค.นี้ ด้าน มท.1 สั่ง “ผู้ว่าฯ ชายแดน” เข้ม! แต่ใช้หลักมนุษยธรรมนำ

วันนี้ (20 พ.ค.) มีรายงานว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย ตามคำเชิญของดาโต๊ะ ซรี อะนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนในปัจจุบัน เพื่อหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และนางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เกี่ยวกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาค ที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ ไทยเห็นว่ามีจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยเน้นหลักมนุษยธรรมและความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างประเทศ และไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง จริงใจ และคำนึงถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียในวันที่ 29 พฤษภาคม ที่กรุงเทพฯ

มีรายงานด้วยว่า ประเทศที่ตอบรับคำเชิญของไทยในการร่วมประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพิ่มเป็น 17 ประเทศ ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เมียนมา ปากีสถาน บังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว อิหร่าน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และ เวียดนาม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ 3 องค์กร ได้แก่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (โอซีเอชเอ)“

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.นี้ ว่า ทางกระทรวงกลาโหมประเทศอินโดนีเซียเชิญตนมานานแล้ว เพื่อลงนามเอ็มโอยูเรื่องความมั่นคง ส่วนจะหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจา ในฐานะที่เป็นประเทศได้รับผลกระทบ ต้องดูจังหวะ และเวลาก่อน ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงต่างประเทศดำเนินการอยู่แล้ว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีทางการมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เตรียมเสนอที่จะให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ชาวโรฮีนจาว่า เรายืนยันเหมือนเดิมว่าเราเป็นประเทศกลางทาง วันนี้เป็นการประชุมกระทรวงการต่างประเทศแค่ในระดับ 3 ประเทศ ซึ่งที่จริงแล้วประเทศเรามีปัญหามากกว่าของเขา แต่เราก็เห็นด้วยเรื่องนโยบายต่างๆ แต่ปัญหาอยู่ที่จะรับที่ไหนค่อยว่ากันอีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้ ตอนนี้เหมือนกับว่าแต่ละประเทศจะแบ่งกันรับ ท่านรับได้หรือไม่ ตอบมาว่ารับได้ไหม เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่า ก็ดีที่แต่ละประเทศช่วยๆ กันแบกรับปัญหาดังกล่าวโดยที่ไทยไม่ต้องแบกรับปัญหาฝ่ายเดียว นายกฯ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า เขามี 9,000 คน แบ่งประเทศละ 3,000 คน รับหรือไม่ ให้ไปคิดใหม่ ผู้สื่อข่าวตอบกลับไปว่าไม่รับ นายกฯ จึงหันมากล่าวว่า รับไม่รับไม่รู้ กำลังไปพูดคุยอยู่ แต่อย่าไปทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับทุกประเทศ

ด้าน พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขผู้อพยพ 9,000 คน ว่าจากข้อมูลเบื้องต้นมีรายงานว่าชาวโรฮีนจาทั้งหมดมีประมาณ 1.4-2 ล้านคน ในความหมายของนายกฯ คือ ต้องการให้ผลการประชุม 15 ประเทศ ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ ก่อน และเห็นว่าทั้ง 3 ประเทศ ที่คุยกันในวันนี้จะรีบไปทำไม เพราะภาพใหญ่ของอาเซียนยังไม่ได้คุยกัน และยังไม่ควรจะไปตกลงอะไรกันในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้าไปรับมาดูแลในวันนี้ ก็ไม่รู้ว้าจะมีผู้อพยพจะมาอีกเท่าไร อาจทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศกลางทางที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้

พล.อ.วิลาศกล่าวต่อว่า ซึ่งวันนี้ต้องรู้ว่าปัญหาที่ต้นทางเกิดจากอะไร และเราต้องรู้ประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเข้าไปกดดันประเทศต้นทาง เพราะปัญหานี้ถือเป็นเรื่องของมนุษยธรรม ที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ อย่าไปตำหนิกัน ซึ่งวันนี้เราในฐานะประเทศกลางทางจะถูกตำหนิอย่างเดียวไม่ได้ หรือจะไปกดดันต้นทางก็ไม่ได้ เพราะต้องเข้าใจประเทศต้นทางที่ทำใจยากกับเรื่องนี้ เนื่องจากในอดีตมีปัญหาความขัดแย้ง เคยมีการต่อต้าน ต้องการเป็นอิสระ ซึ่งชาวโรฮีนจานับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น ปัญหานี้ทั้งประเทศต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จะต้องคุยกัน และย้ำว่าต้องเข้าใจต้นทางไม่ใช่ไปกดดันเขา

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับกรณีของชาวโรฮีนจา โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดนได้รับนโยบายจากรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้จะต้องดำเนินการไปตามหลักมนุษยธรรม ดูแลตามความสามารถ แต่หากเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยก็ต้องมีการดำเนินการไปตามกฎหมาย


(ภาพกระทรวงการต่างประเทศ)
(ภาพกระทรวงการต่างประเทศ)
กำลังโหลดความคิดเห็น