ป้อมพระสุเมรุ
ออกอาการไม่กล้าแตะของร้อน ทั้งที่พูดปาวๆว่า “ปฏิรูป”คือหัวใจสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลของ“บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังสารภาพปมปฏิรูป“ยุทธจักรสีกากี”ให้รอรัฐบาลชุดหน้า กลางฟลอร์สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ทำเอา“คนกันเอง”พร้อมใจกันเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ “บิ๊กตู่”กันไม่ยั้ง
เป็นท่าทีที่น่าสนใจ เพราะการปฏิรูปวงการตำรวจถือเป็นข้อเรียกร้องจากสังคมโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามพรรคเพื่อไทยเท่านั้น สังคมเองรับรู้ถึงความเน่าเฟะในยุทธจักรสีกากีมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองแทรกแซง แต่เป็นการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีผลประโยชน์ซ่อนเร้นมากมาย
วัดกระแส“แอนตี้”ตำรวจยุคปัจจุบันในโลกโซเชียลมีเดียได้ เอาเฉพาะแค่เรื่องการตั้งด่านต่างๆ ทั้งวินัยจราจร ทั้งเมาแล้วขับ ทั้งการตรวจค้น ภาพลักษณ์ในมุมมองของสังคมตอนนี้ มองในแง่ลบว่ามันคือ“การรีดไถ”เสียเป็นส่วนใหญ่ มีการแชร์คลิปแฉกันเป็นประเด็นโจ๋งครึ้มบ่อยครั้ง
เอาโพลไปสำรวจดูได้ เรื่องการปฏิรูปตำรวจ แทบจะเป็นประชามติของสังคมที่อยากให้สังคายนา หวังให้ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริงในลำดับต้นๆ
แต่ทำไม“บิ๊กตู่”ถึงกล้าพูดในลักษณะโยนให้รัฐบาลชุดหน้าเป็นคนจัดการ เสมือนย่อมพ่ายแพ้ต่อการเปลี่ยนแปลงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “บิ๊กตู่”เองก็กลัวแรงกระเพื่อมจาก“พรรคตำรวจ”ไม่น้อย หากเข้าไปสังคายนา และอาจส่งผลกระทบให้การทำงานของรัฐบาลต้องเจอ“ตอ”ขนาดใหญ่
อย่าลืมว่า หากตำรวจ “เกียร์ว่าง”แผนงานหลายอย่างของรัฐบาลแทบจะสะดุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานด้านความมั่นคง การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจา การปราบปรามพวกบุกรุกป่าสงวน และอื่นๆ อีกสารพัด ที่สำคัญ อาจเป็นการผลักให้คนเหล่านี้ไปอยู่กับ“ฝ่ายตรงข้าม”
เห็นได้ว่า ทันทีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าไปศึกษา และมีข้อเสนอต่างๆ ออกมามากมาย ทั้งเรื่องแยกงานสอบสวนออกจาก สตช. ให้มีตำรวจท้องถิ่น เปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งขาติ (ก.ต.ช.) ฯลฯ ฟากฝั่งตำรวจเองก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางปฏิรูปเช่นเดียวกัน เพื่องัดง้างด้านเหตุผล
คนที่เป็นตัวชูโรงก็คือ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
ทั้งที่ “บิ๊กอ๊อด”เป็น“เบอร์ 1 แห่ง สตช.” ที่ รัฐบาลบิ๊กตู่ตั้งมาเองกับมือ นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ตำรวจส่วนใหญ่ไม่ยินยอมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะเสียประโยชน์ และเสียอำนาจ ไม่ยอมให้คนนอกอย่าง สปช. เข้ามาแตะต้ององค์กรได้เลย
ดังนั้น หากมีการสังคายนาตามข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม สปช. ที่แทบจะหั่นอำนาจออกไปเพียบ อาจมี “ม็อบตำรวจ”ให้เห็นก็เป็นได้ และ“บิ๊กตู่”เองก็คงคาดการณ์ถึงผลดังกล่าวนี้ออก
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ทราบดีว่า การตัดสินใจโยนภารกิจนี้ไปให้รัฐบาลชุดหน้า จะทำให้ตัวเองถูกก่นด่าแน่นอน เพราะมันแทบจะทำให้ความหวังในการปฏิรูปตำรวจริบหรี่เต็มที และแทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นในยุคนี้เลย ทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ซึ่งก็มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น หลังจาก“บิ๊กตู่”ยอมยงธง นั่นคือ เกิดการเด้งตำรวจระดับสูงหลายคนเข้ากรุแบบต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจับ พล.ต.ต.พงษ์พันธุ์ วรรณภักตร์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ( ผบก.น.1 ) และรอง ผบก.น.1 มาปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจ นครบาล (ศปก.น.) ตลอดน 5 เสือ สน.ห้วยขวาง เซ่นบ่อนพนันออนไลน์
ต่อเนื่องมาถึงการเด้ง พล.ต.ต.พจน์ บุญมาภาคย์ ผบก.ภ.จว.นครปฐม พล.ต.ต.ประภากร ริ้วทอง ผบก.สส.ภ.7 พล.ต.ต.ทวิพงศ์ พงศ์สูงเนิน ผบก.ส.3 พ.ต.อ.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง ผกก.5 บก.ป. และนายตำรวจรวม 11 นาย มาช่วยราชการที่ ศปก.ตร. เนื่องจากมองว่า พื้นที่ บช.ภ.7 โดยเฉพาะ จ.นครปฐม และจังหวัดใกล้เคียงมีอาชญากรรมรุนแรง สะเทือนขวัญ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ที่ฮือฮา 1 ในคนที่ถูกเด้งครั้งนี้คือ น้องชายตัวเองอย่าง “พ.ต.อ.ภูมินทร์”ซึ่ง “บิ๊กอ๊อด”ระบุว่า “พ.ต.อ.ภูมินทร์ เป็นน้องชายของผมเอง แต่เมื่อพิจารณาตามคำสั่ง 234/2558 ก็ต้องร่วมรับผิดชอบ ไม่มีลูบหน้าปะจมูก ถ้าทำผิดต้องยอมรับผิด ทำไม่ดีต้องยอมรับว่าทำไม่ดี ไม่ใช่ว่านามสกุล พุ่มพันธุ์ม่วงแล้วยกเว้น ผมไม่มีข้อยกเว้น ทำให้เห็นจะจะว่าเมื่อมีหน้าที่รับผิดชอบต้องทำ ไม่ใช่ลูกคนนั้น หลานคนนั้น น้องคนนี้ต้องเว้น ไม่มีละเว้นในยุคของผม”
ถือว่าน่าจับตา เพราะนานๆ จะมีการโยกย้ายมากมายต่อเนื่องกันขนาดนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเจตนาสื่อสารออกมายังสังคมว่า ในวงการตำรวจเป็นปัญหาตัว“บุคคล”มากกว่า “โครงสร้าง”ในลักษณะถ้าเด็ดขาด ก็จัดการได้ ไม่ต้องถึงกับสังคายนาใหม่
สอดคล้องกับคิวที่ “สังศิต พิริยะรังสรรค์”สมาชิก สปช. และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจฯ เปิดเผยคำพูด “บิ๊กตู่”ที่สื่อสารในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า“ผมก็ทำให้แล้ว มีการโยกย้ายตำรวจที่มีปัญหาออกไป”
ไฮไลต์ไปที่ “ตัวบุคคล” มากกว่า “โครงสร้าง” อีกครั้ง
ตามคิวปฏิรูประยะสั้นที่ “บิ๊กตู่”บอกจะทำในรัฐบาลชุดนี้ น่าจะได้แค่เรื่องการโยกย้าย ส่วนอื่นๆ น่าจะไม่แตะต้องอะไร ใช้วิธีให้ “ตำรวจ”แสดงผลงาน “ผู้บังคับบัญชา”เฉียบขาดกับตำรวจนอกลู่ หรือปล่อยปละละเลย ขายผ้าเอาหน้ารอดไปยันหมดอายุรัฐบาล
แม้แต่“เสรี สุวรรณภานนท์”ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ที่ก่อนหน้านี้ถือธงเสนอปฏิรูปแบบใช้ยาแรง ยังเปลี่ยนท่าที เสนอให้ตัดมาตรา 282 (8) ซึ่งเป็นเรื่องปฏิรูปตำรวจ แล้วไปไว้ในกฎหมายลูกแทน น่าจะมีสัญญาณจากฝ่ายอำนาจส่งซิกบอก
ถึงเวลานี้จึงน่าจะพูดได้เต็มปากกันไปแล้วว่า “เสียของ”การที่ระบุว่า “ภายหลังจากมีรัฐบาลใหม่ต้องมีฝ่ายตำรวจซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหลักและมีความเข้าใจองค์กรตำรวจมากที่สุด เป็นหลักสำคัญในการวางแนวทางการปฏิรูป ควบคู่ไปกับร่างแผนการปฏิรูปของกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ที่จัดทำไว้แล้ว เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด”เป็นข้ออ้างที่แทบจะฟังไม่ขึ้น
เพราะรู้กันดีว่า ถ้าไม่ทำในรัฐบาลชุดนี้ ไม่มีโอกาสอีกแล้วที่จะมีใครกล้าทำ ขนาดรัฐบาลที่มีอำนาจล้นฟ้ายังไม่กล้าแตะต้อง “อาณาจักรสีกากี”ต่อให้มีการบัญญัติให้รัฐบาลหน้ามาทำก็หวังว่า ใครจะเล่นด้วย ที่มีการประชดประชันกันว่า “ชาติหน้า”ถึงจะทำได้นั้นใกล้เคียงที่สุด
การไม่ทำของ“บิ๊กตู่”คราวนี้ ถือว่าสร้างผลลบมากกว่าบวก ในอนาคตถ้ายุทธจักรสีกากีสร้างปัญหามากมาย ให้กับสังคม ระวังจะมีเสียงค่อนแคะว่า“สมัยบิ๊กตู่ ทิ้งขยะกองโตเอาไว้”