xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” แจงที่มา ส.ว.สรรหา หวังให้เป็นพหุนิยม “มนูญ” ชงทำประชามติปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แจงเหตุผลที่มา ส.ว.สรรหาจากหลายสาขาอาชีพ หวังให้เป็นสภาพหุนิยมที่มีความหลากหลาย ไม่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ยันไม่เคยคุยกับนายกฯ เป็นการส่วนตัว ด้าน “มนูญ” เผยเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 68 ประเด็น ตัดทิ้งกลุ่มการเมือง โอเพนลิสต์ เสนอประชามติปฏิรูปก่อนเลือกตั้งอีก 2 ปี

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงระบบการเลือกที่มา ส.ว.ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า มาจากความคิดที่ว่าจะมีสภาเดียว หรือสองสภา สภาเดียวประหยัด เร็ว แต่เวลามีกระแสมาแล้วเสียงข้างมากอยากได้มันฟุบเลย ไม่มีอะไรคานเลย ลองนึกถึงกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้าคราวที่แล้วมีสภาเดียว เสร็จสรรพเรียบร้อย เราจึงอยากจะมีสองสภาเพื่อให้มีเวลาคิด ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน และเมื่ออยากจะมีต้องดูว่าสภาที่ 2 เหมือนกันหรือสะท้อนสภาที่ 1 หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่ต้องมีสองสภา เพราะฉะนั้นข้อเสนอให้เลือกตั้งทั้งสภา อย่างปี 40 ส.ว.ชุดแรกออกมาดูดีมาก แต่พอชุดที่ 2 เชื่อมโยงการเมืองทั้งนั้น เพราะมันต้องใช้ฐานของการเมือง เมื่อเป็นอย่างนี้ต้องการสภาที่ไม่ใช่กระจกสะท้อนสภาที่หนึ่ง หรือสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องมีวิธีที่ได้มาต่างกัน

“สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาของนักการเมืองลงผูกกับพื้นที่ เป็นสภาที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อนุมัติเงินงบประมาณ เวลาขัดกันทางด้านกฎหมาย สภาฯ ก็เป็นคนชี้ขาด แต่วุฒิสภาจะต้องเป็นสภาฐานะอาชีพ ประเทศนี้ไม่ได้เจริญด้วยพรรคการเมืองอย่างเดียว มันมีกลุ่มอาชีพหลากหลาย เพราะฉะนั้นกลุ่มอาชีพก็เป็นฐานสำคัญอีกอันหนึ่ง เราถึงได้ออกแบบให้มีการเลือกกันเอง ให้มีการสรรหา แล้วก็ให้มีการคัดกรองและนำไปให้ประชาชนเลือก 77 จังหวัด นี่คือที่มาของแนวความคิดว่า สภาที่ 2 ต้องเป็นสภาพหุนิยม เป็นสภาที่มีความหลากหลาย ต้องไม่ผูกกับพรรคการเมือง ไม่ผูกกับพื้นที่โดยตรง แต่ผูกกับอาชีพที่จะเข้ามาสะท้อนความต้องการของคนที่หลากหลายทุกกลุ่มในสังคม”

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะรัฐมนตรีเสนอให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลายมาตรา สามารถประมาณการได้หรือไม่ว่าสุดท้ายแล้วร่างรัฐธรรมนูญจะเหลือกี่มาตรา นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่สามารถประมาณได้ เพราะยังไม่ได้พิจารณา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแจงคำขอแก้ไขเท่านั้น ต้องรอคำชี้แจงก่อน หลังจากนั้นกรรมาธิการก็จะพูดถึงหลักการ เราไม่ต้องการที่จะคุยเรื่องหลักการก่อนที่จะได้ฟังคำชี้แจงทั้ง 9 คำขอ แล้วก็ต้องถามว่าทำไมถึงเสนอแบบนี้ อย่างกรรมาธิการการเมืองที่เสนอให้ใช้วิธีเลือกตั้งคล้ายกับปี 50 ก็ต้องถามเหตุผลว่าจะแก้ปัญหาความเป็นธรรมได้อย่างไร จะตอบปัญหาเรื่องพรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงเกินจริงได้อย่างไร ซื้อเสียง ก็ต้องถามกันก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บ้างหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ได้มีการติดต่อพูดคุย ส่วนนายวิษณุเจอกันตามสถานที่ต่างๆ ก็มีไต่ถามกันเป็นเรื่องธรรมดา จึงได้รู้ว่า ครม.ก็มีคำขอเป็นความคิดของ ครม.เป็นการรับฟังจากส่วนราชการอื่นๆ จากศาลหรือองค์กรอิสระ ซึ่งคำขอของ ครม.นั้นมี 2 ทาง คือเป็นข้อสังเกตให้คณะกรรมาธิการนำไปประกอบคำพิจารณา ไม่ใช่คำขอแก้ไข บางอันก็เป็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจริงๆ ให้ตัดตรงนั้นตรงนี้ ก็ได้ถามนายวิษณุซึ่งท่านก็ได้บอกว่าน้ำหนักมันไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่ได้เป็นการถามแบบทางการ ไปนั่งกินข้าวด้วยกันก็พูดคุยกัน ส่วนกับท่านนายกฯ ถ้าไม่ได้ประชุมแม่น้ำ 5 สายก็ไม่ได้คุยกันเลย ตนไม่ได้มีเบอร์ส่วนตัวของท่าน และไม่คิดว่าจะต้องโทร.ถามอะไรกัน

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงภายหลังเข้าชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.กลุ่มที่ 3 ต่อกรรมาธิการยกร่างฯว่า คำขอแก้ไขกลุ่มตนมีทิ้งสิ้น 68 ประเด็น มีสาระสำคัญได้แก่ ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองทิ้งทุกมาตรา ไม่เห็นด้วยกับการลงคะแนนบัญชีรายชื่อแบบโอเพนลิสต์ แต่เห็นด้วยกับรูปแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ส่วน ส.ว.ขอให้ปรับลดจำนวนลงเหลือ 150 คน โดยมาจากการสรรหา 73 คน และเลือกตั้งจังหวัดละคน 77 คน

ขณะที่มาตรา 193 ที่ว่าด้วยการเห็นชอบหนังสือสัญญาของรัฐสภา เห็นว่ามีการกำหนดเนื้อหาไว้กว้างขวาง ครอบคลุมการทำสัญญาระหว่างประเทศมากเกินไป อาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้ จึงขอปรับแก้ให้ ครอบคลุมเฉพาะการทำสัญญาเพื่อเปิดเสรีทางการค้า และสัญญาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของรัฐเท่านั้น

สำหรับมาตรา 308 ในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งอีก 2 ปี ก็เสนอให้มีการเพิ่มเติมว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจาก สปช.แล้ว ก็ให้มีการทำประชามติถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น