xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ย้ำร่าง รธน.ต้องยึด 4 เจตนารมณ์เสมือนเสาหลัก หากรื้อทิ้งไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ. ยกร่าง รธน. ย้ำ การร่าง รธน. ต้องยึดเจตนารมณ์ 4 ประการ ประกอบด้วย การแก้ปัญหาในอดีต คือ สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ สร้างการเมืองใสสะอาดและสมดุล พร้อมมองไปในอนาคตด้วยการด้วยการหนุนสังคมมีความเป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข ระบุถ้ารื้อเสาเอกทั้ง 4 ก็จะไม่ตอบปัญหาใดๆ ชี้ คำว่า “พลเมือง” จะทำให้ประชาชนมีจิตสำนึกและพฤติกรรมที่ดีขึ้น

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมงานเสียงปฏิรูปออนไลน์ โดยกล่าวในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยประกาศเจตนารมณ์ไว้ 4 ประการ คือ การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองต้องใสสะอาด ต้องปราศจากคอร์รัปชัน มาถึงวันนี้ยังจะคงหลักการตรงนี้ เพราะในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นเสาเอก ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกับเราสร้างบ้าน เสาเอกจะเป็นโครงสร้างหลักของบ้าน เสาเอกที่นี่ก็อาจจะมีเสา 4 หลัก คงจะต้องยึดไว้ แต่ว่ารายละเอียดของแต่ละเรื่องก็อาจจะปรับปรุงได้ หลังจากพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของ สปช. 8 คำขอ และของคณะรัฐมนตรี 1 คำขอ อันไหนที่คิดว่ามีหลักการที่ดี มีเหตุผลที่หนักแน่นกว่าคณะกรรมาธิการยกร่าง รวมทั้งของประชาชนและพรรคการเมืองด้วยนั้น

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้โดยตรงว่าจะต้องมีลักษณะเป็นคำขอแก้ไข แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวบอกว่าเราต้องฟังเสียงเขาด้วย ก็จะต้องมาดูรายละเอียด แต่ปรากฏว่าเรื่องบางเรื่องถ้าคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมีเหตุผลหนักแน่นกว่า เราก็อาจจะทบทวนได้ ไม่มีปัญหา แต่ว่าเสาเอกคงจะต้องอยู่ เพราะถ้ารื้อเสาเอกเลยมันก็ไม่ตอบปัญหา ก็กลายเป็นเขียนโดยใครจะขอให้เขียนอะไรก็เขียนได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ เพราะกรรมาธิการยกร่างฯ มองว่าเราต้องแก้ปัญหาในอดีตและเราก็ต้องสร้างอนาคตให้ลูกหลาน เจตนารมณ์ 4 ข้อของร่างแรก 2 ข้อเป็นการแก้ไขในอดีต อีก 2 ข้อเป็นการมองไปอนาคต

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าดูให้ดี ด้านแรก สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ ด้านที่สอง คือ การเมืองใสสะอาดและสมดุล ด้านที่สาม คือ หนุนสังคมมีความเป็นธรรม ด้านสุดท้าย คือ นำชาติสู่สันติสุข 2 ข้อที่เป็นปัญหาในอดีต คือ การนำชาติสู่สันติสุข คือ ยุติข้อขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัญหาในอดีต ทำการเมืองให้ใสสะอาด สมดุล ก็คือ ปัญหาในอดีต เพราะว่าคนเขารู้สึกว่าการเมืองไม่ใสสะอาด และในอดีตการเมืองก็ไม่ค่อยสมดุลเท่าไหร่ เสียงข้างมาสามารถว่ากันไปตามความประสงค์ของเสียงข้างมากโดยไม่ต้องฟังเสียงข้างน้อย นี่คือ เหลียวหลังไปแก้ปัญหาในอดีต แต่ว่าการแลหน้าก็ต้องจำเป็นจะไปแก้แต่อดีตโดยไม่มองไปข้างหน้าก็ไม่ได้ เพราะบ้านเมืองต้องไปแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในโลก เพราะฉะนั้นอีก 2 ข้อจึงเป็นการมองไปข้างหน้า ก็คือการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่

“ตราบใดที่พลเมืองยังเป็นเพียงราษฎร ยังไม่สนใจการเมือง สนใจแต่การบ้าน ปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง การซื้อสิทธิขายเสียงก็ไม่หมด การบริหารบ้านเมืองจะเกิดปัญหาแบบนี้ ต้องเพิกถอนโฉนดกันทีหนึ่งเป็นพันๆ ไร่ เพราะราษฎรไม่เกี่ยว ข้าราชการเท่านั้นที่ทำ สร้างตึกสูงกันมหาศาล ศาลปกครองสั่งให้รื้อ เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับส่วนร่วมของพลเมือง เราก็ต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ที่ไม่ได้ใช้เวลาเพียงแค่ข้ามคืน แต่ต้องปลูกฝังความเป็นพลเมือง เพื่ออนาคต และก็นำการเมืองภาคพลเมืองมาเป็นเครื่องมือถ่วงดุลการเมืองภาคนักการเมือง วันหน้าลองคิดดูว่า ถ้าคนอายุ 70 80 ยังสามารถบริหารบ้านเมืองได้ แต่คนอายุ 30 - 45 ไม่มีบทบาทเลย ไม่มีความเป็นพลเมือง บ้านเมืองไปข้างหน้าไม่ได้”

“การมองไปข้างหน้าอีกอันหนึ่งก็คือ การหนุนสังคมที่เป็นธรรม เรารู้สึก และความรู้สึกนั้นก็ถูกต้อง เพราะมีสถิติข้อมูลสนับสนุนว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของคนในชาติเหมือนก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ ทีเหมือนเรือไททานิคชนจนจม จริงๆ พื้นฐานเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคม คนมั่งมีก็มีมหาศาล คนที่ไม่มีก็ไม่มีเลย การจัดสรรทรัพยากร การจัดสรรความมั่นคง ของประเทศมันไม่เป็นธรรม ไม่สมดุล ก็จะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปที่เขาตั้งสภาปฏิรูปขึ้นมา จำเป็นที่จะต้องมาปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมและเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งมันปะทุขึ้นมา และกลายเป็นสังคมที่คนรวยก็รวยล้นฟ้า ดื่มไวน์ขวดละหลายๆ แสน ซึ่งความจริงสามารถเลี้ยงหมู่บ้านบางหมู่บ้านได้เลย ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข เพราะฉะนั้น 2 เหลียวหลัง 2 แลหน้าจึงต้องเกิดขึ้น”

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กระแสการตัดเรื่องของพลเมืองในร่างรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น ตนคิดว่าไม่จำเป็นว่าต้องคงเรื่องนี้ไว้ แต่ต้องให้เหตุผลว่าทำไมถึงต้องตัดออก ถ้าเหตุผลเขาดีกว่าก็เอาออก ไม่ว่ากัน แต่ถ้าเหตุผลมันเป็นเพียงแค่ข้อสังเกตไม่ได้เป็นคำขอแก้ไข อย่างเช่นของคณะรัฐมนตรี ที่ระบุว่า เราแยกระหว่างประชาชน ปวงชนชาวไทย พลเมือง บุคคล ถ้ายังคงคำนี้ไว้ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน ก็ต้องอธิบายได้ แต่บางคำขอแก้ไขเพิ่มเติมอาจจะบอกว่าให้กลับไปใช้คำว่าประชาชน ถ้ามีเหตุผลมากเราก็ฟัง แต่ถ้าไม่มีเหตุผลเป็นเพียงถ้อยคำ ทำให้สับสน ตนก็อธิบายได้ว่าไม่มีความสับสน อย่าไปดูถูกคนไทยเพราะส่วนใหญ่เวลาอธิบายให้ฟัง เขาเข้าใจเลยว่าวัฒนธรรมไพร่เป็นอย่างไร วัฒนธรรมราษฎรเป็นอย่างไร และคำว่าพลเมืองเป็นอย่างไร

“การเปลี่ยนคำไม่ได้เปลี่ยนเพราะสนุก แต่เปลี่ยนเพื่อจะสื่อว่าสำนึกและพฤติกรรมว่า ประชาชนที่เป็นราษฎรจะต้องเปลี่ยนเป็นสำนึกของพลเมืองสร้างการปลูกฝัง อบรม นี่คือ ขั้นตอนของการซื้อเสียงที่แท้จริง ถ้าเรายังคิดใช้คำว่าพลเมือง ราษฎรอยู่ก็จะเหมือนเดิม ถ้าเราพูดถึงพลเมือง แปลว่า เราต้องคิดถึงพลเมืองศึกษา หรือ Civic Education ว่าจะต้องอบรม ปลูกฝังกันในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม หรืออย่างไร ต้องทำในครอบครัวอย่างไร อย่างเช่นการเลือกร้านกินข้าวกันในครอบครัว ต่อไปพ่อแม่จะเป็นฝ่ายเลือกเองไม่ได้ แต่ต้องถามลูกด้วยว่าอยากกินอะไร เสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไรก็ต้องว่ากันตามนั้น ฝึกกันตั้งแต่ในบ้าน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องคำ”


กำลังโหลดความคิดเห็น