xs
xsm
sm
md
lg

โพลให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง "บวรศักดิ์"ลั่นคง4เสาหลักในรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรุงเทพโพล โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทยหลังผ่าน 1 ปี คสช.”โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,014 คน พบว่า คะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ที่ร้อยละ 29.2 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนมี.ค.58 ร้อยละ 8.7 (จากเดิมร้อยละ 20.5) ขณะที่พรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 25.8 เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน ร้อยละ 7.3 (จากเดิมร้อยละ 18.5) รองลงมาคือ พรรคชาติไทยพัฒนา อยู่ที่ร้อยละ 0.8 (จากเดิมร้อยละ 1.7) และพรรครักประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 0.5 (จากเดิมร้อยละ 0.9)
เมื่อถามถึง "ระยะเวลาที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับการเลือกตั้ง ควรเป็นอย่างไร หลังผ่าน 1 ปี คสช." ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.1 คิดว่า การเลือกตั้งควรเกิดเมื่อประเทศปฏิรูปแล้วในทุกด้าน ขณะที่ ร้อยละ 32.0 คิดว่า การเลือกตั้งไม่ควรเกิน 1 ปีนับจากนี้ ส่วนที่เหลือร้อยละ 6.9 ยังไม่แน่ใจ
นอกจากนี้เมื่อถามว่า "อยากให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เป็นอย่างไร" ส่วนใหญ่ร้อยละ 46.9 อยากเลือกแบบโอเพ่นลิสต์ คือ เลือกทั้งพรรค และเลือกผู้สมัคร ขณะที่ ร้อยละ 39.7 อยากเลือกแบบเดิม คือเลือกพรรคอย่างเดียว ส่วนที่เหลือร้อยละ 13.4 ยังไม่แน่ใจ
สุดท้ายเมื่อถามว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลงานการแก้ปัญหาประเทศในเรื่องใดเด่นชัดมากที่สุด หลังผ่าน 1 ปี คสช. ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.0 เห็นว่า เป็นเรื่องการคอร์รัปชัน รองลงมาคือ เรื่องความแตกแยกในสังคม (ร้อยละ 48.3) และเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ (ร้อยละ 30.4)

** แก้รธน.ต้องคงหลักการ 4 ข้อ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับทีมงานเสียงปฏิรูปออนไลน์ โดยกล่าวในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่เคยประกาศเจตนารมณ์ไว้ 4 ประการ คือ การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองต้องใสสะอาด ต้องปราศจากคอร์รัปชัน มาถึงวันนี้ ยังจะคงหลักการตรงนี้ เพราะในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นเสาเอก ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เหมือนกับโครงสร้างหลักของบ้าน ที่จะต้องยึดไว้ แต่ว่ารายละเอียดของแต่ละเรื่อง ก็อาจจะปรับปรุงได้ หลังจากพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของ สปช. 8 คำขอ และของคณะรัฐมนตรี 1 คำขอ อันไหนที่คิดว่ามีหลักการที่ดี มีเหตุผลที่หนักแน่นกว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เราก็อาจจะทบทวนได้ ไม่มีปัญหา แต่ว่าเสาเอกคงจะต้องอยู่ เพราะถ้ารื้อเสาเอกเลย มันก็ไม่ตอบปัญหา ก็กลายเป็นเขียนโดยใครจะขอให้เขียนอะไร ก็เขียนได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ หลักสำคัญคือ เราต้องแก้ปัญหาในอดีต และเราก็ต้องสร้างอนาคตให้ลูกหลาน เพราะเจตนารมณ์ 4 ข้อ ของร่างแรก 2 ข้อ เป็นการแก้ไขในอดีต อีก 2 ข้อ เป็นการมองไปอนาคต
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าดูให้ดี ด้านแรก สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ ด้านที่สอง คือ การเมืองใสสะอาดและสมดุล ด้านที่สาม คือ หนุนสังคมมีความเป็นธรรม ด้านสุดท้ายคือ นำชาติสู่สันติสุข
จาก 2 ข้อที่เป็นปัญหาในอดีต คือ การนำชาติสู่สันติสุข คือ ยุติข้อขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัญหาในอดีต ทำการเมืองให้ใสสะอาด สมดุล ก็คือปัญหาในอดีต เพราะว่า คนเขารู้สึกว่าการเมืองไม่ใสสะอาด และในอดีตการเมืองก็ไม่ค่อยสมดุลเท่าไหร่ เสียงข้างมาสามารถว่ากันไปตามความประสงค์ของเสียงข้างมาก โดยไม่ต้องฟังเสียงข้างน้อย นี่คือ เหลียวหลังไปแก้ปัญหาในอดีต
แต่ว่าการแลหน้าก็ต้องจำเป็น จะไปแก้แต่อดีตโดยไม่มองไปข้างหน้าก็ไม่ได้ เพราะบ้านเมืองต้องไปแข่งขันกับประเทศต่างๆในโลก เพราะฉะนั้นอีก 2 ข้อ จึงเป็นการมองไปข้างหน้า ก็คือ การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ตราบใดที่พลเมืองยังเป็นเพียงราษฎร ยังไม่สนใจการเมือง สนใจแต่การบ้าน ปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง การซื้อสิทธิขายเสียง ก็ไม่หมด การบริหารบ้านเมือง จะเกิดปัญหาแบบนี้ ต้องเพิกถอนโฉนดกันทีหนึ่งเป็นพันๆไร่ เพราะราษฎรไม่เกี่ยว ข้าราชการเท่านั้นที่ทำ สร้างตึกสูงกันมหาศาล ศาลปกครองสั่งให้รื้อ เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับส่วนร่วมของพลเมือง เราก็ต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ที่ไม่ได้ใช้เวลาเพียงแค่ข้ามคืน แต่ต้องปลูกฝังความเป็นพลเมือง เพื่ออนาคต และก็นำการเมืองภาคพลเมืองมาเป็นเครื่องมือถ่วงดุลการเมืองภาคนักการเมือง วันหน้าลองคิดดูว่า ถ้าคนอายุ 70-80 ยังสามารถบริหารบ้านเมืองได้ แต่คนอายุ 30 –45 ไม่มีบทบาทเลย ไม่มีความเป็นพลเมือง บ้านเมืองไปข้างหน้าไม่ได้
"การมองไปข้างหน้าอีกอันหนึ่งก็คือ การหนุนสังคมที่เป็นธรรม เรารู้สึก และความรู้สึกนั้น ก็ถูกต้อง เพราะมีสถิติข้อมูลสนับสนุนว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของคนในชาติ เหมือนก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ ทีเหมือนเรือไททานิก ชนจนจม จริงๆ พื้นฐานเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคม คนมั่งมีก็มีมหาศาล คนที่ไม่มีก็ไม่มีเลย การจัดสรรทรัพยากร การจัดสรรความมั่นคง ของประเทศมันไม่เป็นธรรม ไม่สมดุล ก็จะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปที่เขาตั้งสภาปฏิรูปขึ้นมา จำเป็นที่จะต้องมาปฏิรูป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมและเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ความขัดแย้ง มันปะทุขึ้นมา และกลายเป็นสังคมที่คนรวยก็รวยล้นฟ้า ดื่มไวน์ขวดละหลายๆ แสน ซึ่งความจริงสามารถเลี้ยงหมู่บ้านบางหมู่บ้านได้เลย ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข เพราะฉะนั้น 2 เหลียวหลัง 2 แลหน้า จึงต้องเกิดขึ้น" นายบวรศักดิ์ กล่าว

** ใช้คำว่า"พลเมือง"เพื่อสร้างจิตสำนึก

นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า กระแสการตัดเรื่องของพลเมือง ในร่างรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น ตนคิดว่าไม่จำเป็นว่าต้องคงเรื่องนี้ไว้ แต่ต้องให้เหตุผลว่า ทำไมถึงต้องตัดออก ถ้าเหตุผลเขาดีกว่า ก็เอาออก ไม่ว่ากัน แต่ถ้าเหตุผลมันเป็นเพียงแค่ข้อสังเกต ไม่ได้เป็นคำขอแก้ไข อย่างเช่น ของคณะรัฐมนตรี ที่ระบุว่า เราแยกระหว่างประชาชน ปวงชนชาวไทย พลเมือง บุคคล ถ้ายังคงคำนี้ไว้ ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน ก็ต้องอธิบายได้ แต่บางคำขอแก้ไขเพิ่มเติม อาจจะบอกว่าให้กลับไปใช้คำว่า ประชาชน ถ้ามีเหตุผลมากเราก็ฟัง แต่ถ้าไม่มีเหตุผลเป็นเพียงถ้อยคำ ทำให้สับสน ตนก็อธิบายได้ว่า ไม่มีความสับสน อย่าไปดูถูกคนไทย เพราะส่วนใหญ่เวลาอธิบายให้ฟัง เขาเข้าใจเลยว่า วัฒนธรรมไพร่เป็นอย่างไร วัฒนธรรมราษฎรเป็นอย่างไร และคำว่าพลเมือง เป็นอย่างไร
"การเปลี่ยนคำไม่ได้เปลี่ยนเพราะสนุก แต่เปลี่ยนเพื่อจะสื่อว่า สำนึกและพฤติกรรมว่า ประชาชนที่เป็นราษฎรจะต้องเปลี่ยนเป็นสำนึกของพลเมืองสร้างการปลูกฝัง อบรม นี่คือขั้นตอนของการซื้อเสียงที่แท้จริง ถ้าเรายังคิดใช้คำว่าพลเมือง ราษฎรอยู่ก็จะเหมือนเดิม ถ้าเราพูดถึงพลเมือง แปลว่า เราต้องคิดถึงพลเมืองศึกษา หรือ Civic Education ว่า จะต้องอบรม ปลูกฝังกันในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม หรืออย่างไร ต้องทำในครอบครัวอย่างไร อย่างเช่น การเลือกร้านกินข้าวกันในครอบครัว ต่อไปพ่อแม่จะเป็นฝ่ายเลือกเองไม่ได้ แต่ต้องถามลูกด้วยว่าอยากกินอะไร เสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไรก็ต้องว่ากันตามนั้น ฝึกกันตั้งแต่ในบ้าน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องคำ" นายบวรศักดิ์ กล่าว

**จี้แก้ปมนายกฯคนนอก-ส.ว.สรรหา

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการชี้แจงคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันที่ 4 มิ.ย.ว่า กมธ.ทั้งสองคณะ จะส่งตัวแทน 5 คนไปชี้แจง โดยประเด็นหลักๆ คือ การคัดค้านเรื่องนายกฯ คนนอก การตัดทิ้งกลุ่มการเมือง การตัด มาตรา 181-182 การลดอำนาจ ส.ว.สรรหา เชื่อว่า ประเด็นที่ทักท้วงไป จะได้รับการแก้ไขทบทวนและแก้ไขจาก กมธ.ยกร่างฯ เพราะเนื้อหาที่เสนอไป มีความใกล้เคียงกับประเด็นที่ ครม.และฝ่ายต่างๆ คัดค้านเช่นกัน
นายดิเรก กล่าวว่า เท่าที่ดูเบื้องต้นเชื่อว่า ประเด็นที่กมธ.ยกร่างฯ จะไม่ยอมแก้ไขคือ นายกฯ คนนอก และการมีส.ว.สรรหา แต่ไม่ได้หมายความว่า กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ จะดึงดันคว่ำร่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้ามีนายกฯ คนนอก หรือ ส.ว.สรรหา หากกมธ.ยกร่างฯได้ทบทวนผ่อนปรนเนื้อหาลงมาบ้าง เราก็ยินยอมยกมือผ่านให้ เช่น กรณีนายกฯ คนนอก หากกมธ.ยกร่างฯ ยอมนำเรื่องนายกฯคนนอกไปเขียนในบทเฉพาะกาล โดยใช้เสียง สภาผู้แทนราษฎร รับรอง 2 ใน 3 ไม่ใช่นำเรื่องนายกฯ คนนอกไประบุอยู่ในเนื้อหารัฐธรรมนูญ หรือกรณี ส.ว.สรรหา ถ้ามีการแก้ไขลดอำนาจ ส.ว.สรรหา ไม่ให้มีอำนาจถอดถอน เสนอกฎหมาย หรือ กลั่นกรองประวัติ ครม. เราก็ยอมรับในเนื้อหาได้ ไม่ขัดข้อง เชื่อว่า หากกมธ.ยกร่างฯ ยอมผ่อนปรนเรื่องนายกฯคนนอก และส.ว.สรรหาลง มีโอกาสที่ สปช. จะลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญให้ แต่ถ้า กมธ.ยกร่างฯ ยังยืนยันในหลักการเดิมทั้งหมด โดยไม่มีเหตุผลรองรับ ก็จะไม่ยกมือผ่านให้

**ร่างรธน.ต้องนึกถึงประชาชนเป็นหลัก

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง รธน. กับประชาชน ซึ่งเป็นเสียงหลักที่กรรมาธิการยกร่างฯต้องรับฟัง การพิจารณายกร่างฯ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก สำหรับคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ร่างรธน.นั้น หากความเห็น สปช., ครม. ส่วนใดที่ไม่ได้ลิดรอนสิทธิ และไม่ลิดรอนในหลักการ อันจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ประชาชน ทางกมธ.ยกร่างฯ จะแก้ไขปรับปรุงให้ หากกระทบประชาชน กมธ.จะต้องพิจารณาโดยต้องคำนึงถึงหลักการณ์คือ เสียงประชาชนหลายสิบล้านคนเป็นสำคัญ กรณีที่ สนช.เสนอเปลี่ยนนิยาม คำว่า พลเมือง เป็น บุคคล นั้น จะกระทบต่อหลักการณ์ของกรรมาธิการยกร่างฯ แน่นอน เพราะต้องการให้มีความชัดเจน สะท้อนให้เห็นความสำคัญ ในการทำหน้าที่ของประชาชนในฐานะพลเมือง ซึ่งมองว่าถูกต้องแล้ว โดยเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณา ส่วนเรื่องโครงสร้างทางการเมืองที่เสนอ เป็นสิ่งที่ต้องรับฟัง และเห็นด้วยที่ต้องปรับในหลายประเด็น
กำลังโหลดความคิดเห็น