xs
xsm
sm
md
lg

แม่น้ำ3สายถกผลงาน1ปี ปฏิรูปไม่ชัดอาจต้องเลื่อนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวถึงการจัดสัมมนาร่วม คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ ว่า การสัมมนาในครั้งนี้ สนช. จะเป็นเจ้าภาพ โดยรูปแบบคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คน จะรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมา จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะรายงานความคืบหน้าการทำงาน สนช. ในการพิจารณาและเห็นชอบ กฎหมาย และเรื่องการถอดถอนบุคคลทางการเมืองที่ผ่านมา และที่กำลังจะดำเนินการ รวมถึงการพิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศของสปช. ในด้านต่างๆ ที่จะเสนอต่อสนช.หลังเดือนมิ.ย. ซึ่ง สนช.จะต้องรับภาระหนักจึงต้องมีการปรึกษาหารือกัน และวางแนวทางพิจารณากฎหมายให้ทัน
ทั้งนี้ ในส่วนของ สปช. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. จะรายงานความคืบหน้าการทำงานด้านการปฏิรูปประเทศของ กมธ. ปฏิรูปสปช. ทั้ง 18 คณะ และการจัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเวทีต่างๆ รวมถึงการทำงานของศูนย์รับเรื่องราวการร้องเรียนที่ได้ดำเนินการมาแล้วประมาณ 7 เดือน
ทั้งนี้ การอภิปรายจะเปิดให้สมาชิกซักถามอย่างเต็มที่ แต่จำเป็นต้องจัดหมวดหมู่ และหัวข้อการซักถาม เนื่องจากต้องจัดสรรเวลาให้กับสมาชิกสนช. ได้ซักถามด้วย คาดว่ารูปแบบอาจจะให้ตัวแทน กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ จัดสรรบุคคล ประเด็นเพื่อให้ครอบคลุม ซึ่งคาดว่าเบื้องต้นคาดว่าสมาชิกอาจจะซักถามในประเด็นความชัดเจนเรื่องการทำประชามติ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องรอฟังความเห็นของที่ประชุมวิปฯ อีกครั้งที่จะประชุมในวันที่ 3 มิ.ย. เวลา11.30 น. อีกครั้งถึงรูปแบบการสัมมนาดังกล่าว
"การสัมมนาดังกล่าว เป็นการยกระดับการทำงานร่วมกันในช่วงที่ได้เดินหน้าทำงานตามโรดแมปมาได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งการทำงานหลังจากนี้จะต้องกระชับความร่วมมือ ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัด" นายอลงกรณ์ กล่าว

**คาดกมธ. ยอมแก้ไขหลายมาตรา

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสปช. กล่าวถึงการเตรียมการของผู้ยื่นคำขอเสนอความเห็นแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 8กลุ่ม ของสปช. ต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 2-6 มิ.ย.นี้ว่าได้มีการเตรียมการในการชี้แจงต่อกรรมาธิการฯกลุ่มละ 3-5 คน ใครยื่นเรื่องใด ก็ต้องชี้แจงในเรื่องนั้น มีการทำการบ้านกันแล้วเพราะมีการประชุมกันว่าจะใครจะชี้แจงประเด็นไหน จึงเชี่อว่าการตอบโต้เรื่องจุดอ่อนจุดแข็ง กรรมาธิการฯ จะมีเหตุผลหักล้าง ทางผู้ขอแปรญัตติก็ต้องทำการบ้านเพื่อชี้แจงกลับให้ได้ และหักล้างเหตุผลของฝ่ายกรรมาธิการฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะทำให้ รัฐธรรมนูญสอดคล้องกับการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาประเทศมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็มีจุดอ่อนจุดแข็งทั้งสิ้น จึงต้องพิจารณาถึงเป้าหมายในการแก้ปัญหาประเทศมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าบรรยากาศในการชี้แจงของผู้ยื่นคำขอกับกรรมาธิการยกร่างฯ จะไม่เกิดความขัดแย้ง เพราะทั้งสองฝ่ายคงพยายามไม่ทะเลาะให้บานปลายจนเสียความรู้สึกกัน จึงน่าจะพูดด้วยเหตุผล ถ้ารุนแรงก็น่าจะเป็นเนื้อหาวิชาการ ไม่ใช่ห้ำหั่น หรือใช้วาจาเสียดสีกัน
ทั้งนี้ ยังเห็นว่าประเด็นหลักๆ ที่กรรมาธิการฯจะไม่เปลี่ยนแปลง คือ 1 . ระบบการเลือกตั้ง เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯ จะยืนยันเรื่องโอเพ่นลิสต์ 2. นายกฯคนนอก ก็เชื่อว่าจะไม่เปลี่ยนเช่นกัน เนื่องจากให้เหตุผลว่า เขียนเพื่อแก้วิกฤตการเมือง โดยยกเอาอดีตที่มีปัญหามาเป็นบทเรียน 3. เรื่องวุฒิสภา อาจมีการปรับเปลี่ยนแบบประนีประนอม คือ จากการสรรหา ให้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม แต่สิ่งที่กรรมาธิการฯ อาจจะยอมแก้ไขคือ มาตรา 181-182 รวมทั้งเรื่องกรรมการปรองดอง ที่เสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ แต่ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองฯ อภัยโทษให้กับบุคคลที่ ให้ข้อเท็จจริง หรือสำนึกผิดต่อกรรมการ เพราะกลายเป็นช่องว่างให้เกิดปัญหาตามมา
"ผมยังเชื่อว่าจะแก้มาก แต่ประเด็นเนื้อหาหลักจะไม่แก้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาถึงเสียงส่วนใหญ่ของ สปช. หลังจากมีการปรับแก้แล้วว่าร่างสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร เช่น เรื่องระบบเลือกตั้งแม้ไม่เปลี่ยน ผมยังเชื่อว่า สปช.รับได้ แต่ถ้าไม่แก้ไข 181-182 ที่มาสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯ อำนาจคณะกรรมการปรองดอง น่าจะเป็นเรื่องที่ สปช.ไม่ยอมรับ เพราะเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนเห็นว่ามีปัญหา ถ้าเป็นไปในทิศทางนี้ ผมเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านความเห็นชอบจาก สปช." นายวันชัย กล่าว

** อย่าย่ามใจว่าร่างรธน.ผ่านประชามติ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวถึงการพิจารณาทบทวนแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า ไม่อยากให้กมธ.ยกร่างฯ สำคัญตัวเองผิดว่า มีอิสระเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ จึงไม่ฟังความเห็นของ สปช. ทำให้คำแปรญัตติแก้รัฐธรรมนูญมีมากมายก่ายกอง ถ้ากมธ.ยกร่างฯ ยังมั่นใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นจาก สปช. และผ่านการทำประชามติ บอกได้เลยว่า กมธ.ยกร่างฯ เข้าใจผิด เพราะการทำประชามติเกี่ยวข้องกับคน 40-50 ล้านคน ไม่ใช่ แค่คนกลุ่มเล็กๆ มีหลักร้อย หลักพัน ตามที่กมธ.ยกร่างฯไปจัดสัมมนารับฟังความเห็น
" ประชาชนส่วนใหญ่รับฟังคนใกล้ชิดคือ ฝ่ายการเมือง ยิ่งพรรคการเมืองแสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการให้แก้ไขประเด็นใด แต่กมธ.ยกร่างฯไม่ยอมแก้ไขให้ แล้วยังบอกว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์เป็นพวกเสียผลประโยชน์ จะยิ่งเป็นการสร้างแรงต้าน แล้วจะยังเชื่อมั่นว่า ประชามติจะผ่านได้อย่างไร"
นายเสรี กล่าวว่า ผลการทำประชามติปี 50 ที่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 21 ล้านเสียง ต่อ 19 ล้านเสียง ถือว่าไม่มาก ซึ่ง 21 ล้านเสียง เป็นผลมาจากที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)ลงพื้นที่หาเสียง รวมทั้งรัฐบาล หน่วยราชการ และทหารในขณะนั้นช่วยผลักดันเต็มที่จนได้ 21 ล้านเสียง แต่บรรยากาศทำประชามติขณะนี้ ถ้าไปทำประชามติ โดยที่ยังขัดแย้งกับพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค และสปช.ก็ไม่ช่วยเพราะได้แปรญัตติคัดค้านมากมาย ขณะที่ท่าทีรัฐบาลและคสช. ในภาวะที่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ก็ให้ลองคิดดูว่า คสช.อยากให้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่
"ผมเชื่อว่า คสช.คงรอดูสถานการณ์อยู่ ถ้าสถานการณ์ไม่ดีจะให้ผ่านทำไม สู้วางตัวอยู่เฉยๆ ไม่ต่อต้าน ไม่ช่วยผลักดัน โดยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเองว่า จะเอาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้กมธ.ยกร่างฯเหมือนถูกลอยแพ ผิดกับรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ทหารออกมาช่วยเต็มที่ ดังนั้นโอกาสที่รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติจึงยาก ดังนั้นทางออกคือ กมธ.ยกร่างฯต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย"

**ปฏิรูปไม่ชัด อาจต้องเลื่อนเลือกตั้ง

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นการปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรรมก่อนจะมีการเลือกตั้ง กระแสนี้เริ่มก่อตัวเหตุเพราะไม่มั่นใจว่าเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น ไม่กลับไปเผชิญหน้า และแตกแยก เหมือนที่ผ่านๆ มา
ทั้งนี้ มีบางส่วนถึงขั้นยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารได้ เพราะถึงอย่างไร ก็ดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา ความรู้สึกเช่นนี้มองข้ามไม่ได้ และ คสช.อาจได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ระยะยาวกระแสนี้อาจแสดงตน และกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับได้เช่นกัน
การที่รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับปัญหาที่สะสมมานานในรัฐบาลก่อนๆ อาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หลังเลือกตั้ง ปัญหาเหล่านี้อาจวนกลับมาอีก ฉะนั้นรัฐบาลและ คสช. ต้องกล้าวางรากฐาน หรือปฏิรูปในระดับโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ
ส่วนกระแสที่อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปเลือกตั้งตามกำหนดเดิมนั้น อาจตกไปเป็นกระแสรอง ถ้าการปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ ไม่เป็นรูปธรรม และบรรดาพรรคการเมืองยังไม่ปฏิรูปตัวเอง หรือส่งสัญญาณในทางบวก และมีหลักประกันว่าการเมืองไทย จะไม่กลับไปเป็นการเมืองที่เผชิญหน้ากันอีก
จึงมีความจำเป็นที่แม่น้ำทั้ง 5 สาย บรรดาพรรคการเมือง และสถาบันทางการเมืองต้องหาจุดร่วมลงตัวของการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งให้ได้ และต้องถึงขั้นทำให้เป็นสัญญาประชาคมก่อนเลือกตั้งด้วยซ้ำ ไม่เช่นนั้น การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้อาจไม่ตอบโจทย์การเมือง และอาจหนีความวุ่นวายเดิมๆ ไม่พ้นได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น