ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เผย สปช.3 กลุ่มเข้าแจงแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ยังไม่กระทบโครงสร้างหลัก ยันไม่มีธง ย้อนลงมติลับไม่เวิร์ก รับถกโค้งสุดท้ายห้ามสื่อฟัง เพื่อความอิสระ และเลื่อนประชุมนอกสถานที่ หลัง ครม.ยืดเวลาให้ ปัดตั้งธงเขียวตามพื้นที่หนุนร่าง ด้านเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ยื่นหนังสือหนุน เหตุรัฐธรรมนูญร่างนี้ให้ความสำคัญบทบาทภาคพลเมือง ปฏิรูปลดเหลื่อมล้ำ
วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ เปิดให้ตัวแทนกลุ่ม สปช.ที่ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเข้าชี้แจงว่า ขณะนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้เปิดให้ สปช.เข้าชี้แจงไปแล้วจำนวน 3 กลุ่มซึ่งมีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนหลายประเด็น รวมทั้งประเด็นสิทธิพลเมือง ที่มีการเสนอให้ตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมือง การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบโอเพนลิสต์ ซึ่งภาพรวมถือว่ายังไม่กระทบต่อโครงสร้างหลัก เพราะไม่ใช่เป็นการรื้อเสาเอก ทั้งนี้ไม่ทราบว่าทั้ง 315 มาตราจะมีการปรับลดเหลือกี่มาตรา ตนไม่สามารถตอบแทน กมธ.ยกร่างฯ อีก 35 คนได้ และยังไม่มีธงอะไรทั้งสิ้น
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า จากข้อเสนอที่กลุ่ม สปช.ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญมานั้น มีบางกลุ่มเสนอให้การลงมติไม่ไว้วางใจเป็นความลับ ตนได้บอกว่าถ้าเช่นนั้นก็จะเกิดการจ่ายเงินกันแบบมหาศาล และไม่แน่ใจด้วยว่ารัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ ส่วนประเด็นที่เสนอให้มีการตัดกลุ่มการเมือง ก็เป็นเรื่องที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องไปพิจารณาทบทวนต่อไป แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่สามารถตอบแทนได้ เช่น กรณีเสนอให้ตัดกลุ่มการเมืองออก ก็จะเปิดช่องให้มี ส.ส.อิสระ หรือทำให้พรรคการเมืองตั้งง่ายขึ้น จากเดิมต้องมีสมาชิก 5,000 คน อาจจะเหลือพรรคละ 500 คน เพียง 1 ตำบลก็ได้สมาชิกครบแล้ว และอาจจะเหลือสาขาพรรคเหลือภาคละ 1 สาขา ทำให้เกิดพรรคนอมินีขึ้น ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ ต้องไปพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่มเพื่ออุดช่องว่างเหล่านี้
เมื่อถามว่า การพิจารณาช่วงโค้งสุดท้ายมีแนวโน้มว่าจะไม่เปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาใช่หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ให้เข้าฟัง เนื่องจากช่วงโค้งสุดท้ายจะมีการถกกันในรายละเอียดมากขึ้น จึงอยากให้ กมธ.ยกร่างฯ มีความเป็นอิสระ และจากการหารือ กมธ.ยกร่างฯ 36 คน มีเพียง 1 คน ที่ต้องการให้สื่อเข้าฟัง แต่เดิมสื่อมวลชนที่ร่วมรับฟังก็ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว แต่มีบางขั้นตอนที่เข้าสู่กระบวนการของกองบรรณาธิการ ที่ทำให้มีการพาดหัวข่าวผิดเพี้ยนไป อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็จะมีการแถลงผลการพิจารณาได้ข้อสรุปโดยจะไม่ให้โฆษกยกร่างฯ เพียงคนเดียวมาแถลงเหมือนเดิมแล้ว แต่จะมอบหมายให้ทีมโฆษกฯ และ กมธ.ยกร่างฯ ที่รับผิดชอบประเด็นนั้นมาร่วมชี้แจงด้วย
นายบวรศักดิ์กล่าวอีกว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) 2557 ขยายเวลาการทำงานให้ กมธ.ยกร่างฯออกไปอีก 30 วันนั้นก็จะทำให้การทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ เลื่อนออกไปด้วย ดังนั้นการพิจารณาช่วงโค้งสุดท้ายที่จะมีการประชุมนอกสถานที่ เดิมกำหนดวันที่ 22 มิถุนายน - 3 กรกฎาคมนั้น มีแนวโน้มสูงว่าอาจจะต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นวันที่ 14-22 กรกฎาคม
เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มมีธงเขียวปักตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯไม่ได้เป็นคนทำ ธงเขียวนี้เห็นครั้งแรกที่เวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดขอนแก่น ต่อด้วยเวทีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ขณะเดียวกัน มีเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ภาคกลาง และตะวันตก เข้ายื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกมธ.ยกร่างฯเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาให้ความสำคัญกับบทบาทภาคพลเมืองและการสร้างพลเมืองที่มีสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง รวมทั้งการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดยได้กำหนดไว้ในนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการบริหารท้องถิ่น รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้กำหนดที่มา ส.ว.แบบหลากหลาย จากกลุ่มอาชีพ องค์กรภาคเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชน ซึ่งทางเครือข่ายฯ พร้อมจะร่วมผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแม่บทของการปฏิรูปประเทศต่อไป
ด้านนายบวรศักดิ์กล่าวว่า ขอบคุณที่เครือข่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และจะนำความเห็นที่ได้ไปประกอบการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย และหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติและหากมีการเปิดให้ลงประชามติก็ขอความร่วมมือทางเครือข่ายฯช่วยเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ประชาชนรับทราบต่อไป