xs
xsm
sm
md
lg

ระดมความเห็นร่าง กม.พุทธฯ ใหม่ หวั่นรัฐใช้เป็นฐานการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ...
“คปก.” ชง สนช.-สปช.-นายกฯ เบรกร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ... หวั่นเปิดช่องรัฐ ใช้การเมืองแทรกแซงกิจการศาสนา ระบุตั้ง “พระวินยาธิการ” เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นเรื่องที่ผิดเจตนารมณ์ของการบวชในพุทธศาสนาอย่างมาก ด้าน “เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด” ทั่วประเทศ เตรียมระดมความเห็น เผยกฎหมายโทษหนัก “แผงพระมั่ว-หมิ่นพุทธฯ” ถึงติดคุก

วันนี้ (25 พ.ค.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานได้ทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ...” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

คปก.มีความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ที่กำหนดว่าให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนานั้นจะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐศาสนา และทำให้หลักธรรมของพุทธศาสนากลายเป็นอุดมการณ์หนึ่งของรัฐ

“และยังเป็นการเปิดช่องให้รัฐใช้เป็นกลไกควบคุม แทรกแซงกิจการศาสนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองได้ ดังนั้นการปกครองคณะสงฆ์ต้องให้คณะสงฆ์ปกครองดูแลกันเอง”

ที่สำคัญ คปก.ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดให้มี “พระวินยาธิการ” และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดเจตนารมณ์ของการบวชในพุทธศาสนาอย่างมาก เนื่องจากบทบาทในการตีความและควบคุมการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยควรเป็นบทบาทขององค์กรทางศาสนา

http://ilaw.or.th/sites/default/files/Protection%20Buddhism%20Act.pdf (ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ....)

พศ.ถามความเห็น“เจ้าคณะภาค- เจ้าคณะจังหวัด”ทั่วปท.

ด้าน นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า ตนได้รับทราบกรณีนี้แล้ว โดย พศ.จะหารือเรื่องดังกล่าว กับคณะทำงาน 3 ชุดที่มหาเถรสมาคม(มส.) ที่ตั้งขึ้นมาดูแลข้อกฏหมายและการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย พระพรหมบัณฑิต(ประยุร ธมฺมจิตฺโต) พระพรหมโมลี(สุชาติ ธมฺมรตโน) และพระพรหมมุนี(สุชิน อคฺคชิโน) กรรมการมส. ในการวิเคราะห์ผลกระทบ ข้อดี ข้อเสีย ที่จะเกิดขึ้นกับการใช้ร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้ เพื่อสรุปแนวทางเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

“จะมีการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม วันที่ 17-18 มิ.ย.58 จะมีการฟังความเห็นจากพระสังฆาธิการกอ่น ซึ่งสอดคล้องกับ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้เน้นย้ำว่า หากเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ก็ควรจะต้องถามความเห็นคณะสงฆ์ก่อนที่จะมีการดำเนินการทุกครั้ง” ผอ.พศ.กล่าว

ที่มาของ ฯร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์-คุ้มครองพระพุทธศาสนา

สำหรับ “ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ.... เป็นความพยายามผลักดันของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงรัฐบาลพลเรือนทุกชุดแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2557 ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านวาระรับหลักการของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และวาระรับหลักการโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

เหตุผลของการให้มีกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เนื่องจาก “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน ซึ่งมีพุทธบริษัทสี่ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ได้ใช้หลักธรรมในการสร้างศีลธรรมปัญญาและความเข้มแข็งของคนในชาติ จึงสมควรที่รัฐและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมมือร่วมใจในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงดำรงอยู่สืบไป รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต”

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายมีดังนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอีก 25 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ และพระภิกษุ โดยมีแนวทางในการอุปถัมภ์และคุ้มครอง (มาตรา 5) ที่สนใจคือ

(1) ส่งเสริมสนับสนุนคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานทางพระพุทธศาสนา (2) จัดให้มีการสอดส่องดูแลและปกป้องกิจการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มิให้มีการกระทำละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำลาย ลอกเลียน ดัดแปลง หรือทำให้วิปริตผิดเพี้ยนไป และ (3) ส่งเสริมและสนับสนุนการนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา มาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมศีลธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความสามัคคีของพุทธศาสนิกชน

นอกจากนี้ให้มีคณะกรรมการในจังหวัดเรียกว่า “คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด” ให้ตั้งกองทุนเพื่อนำเงินสนับสนุนการอุปถัมภ์และคุ้มครอง เพื่อให้ภารกิจการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นไปได้ด้วยความราบรื่น ให้จัดตั้ง “กองทุนอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” โดยให้มีกรรมการบริหารกองทุนจำนวน 7 คน ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ สำหรับเงินและทรัพย์สินของกองทุน ประกอบด้วย (มาตรา 21)

(1) เงินประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น (3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้(4) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์กรการระหว่างประเทศ(5) ดอกผลหรือรายได้ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน และ (6) รายได้อื่นๆ ทั้งนี้ รายได้หรือผลประโยชน์จากการดำเนินการหรือการจัดหาประโยชน์ของกองทุน ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

สำหรับโทษตาม ร่าง พ.ร.บ.ฯ นิยาม “การกระทำให้เกิดความเสียหายทางพระพุทธศาสนา” ว่าคือ การกระทำที่บุคคลใด กระทำให้กระทบต่อความศรัทธาของพระพุทธศาสนา รวมถึงพระภิกษุที่กระทำผิดทางพระวินัยด้วย โดยมีบทลงโทษที่น่าสนใจคือ (1) ผู้ใดทำให้หลักศาสนธรรมผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก ต้องระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (2) พระภิกษุ สามเณร ทำการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งผู้ที่ร่วมกับทำความผิด ผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัตินั้นๆ หนึ่งในสาม

(3) ผู้ใดประกอบการค้า สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา พระเครื่องหรือวัตถุมงคลใดๆ ไม่ดำเนินการจัดวางไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (4) พระภิกษุที่มีอำนาจหน้าที่ในการบรรพชาอุปสมบท จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำการบรรพชาอุปสมบทให้แก่ผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(5) พระภิกษุ สามเณรใด ที่มีพฤติการณ์เบี่ยงเบนทางเพศกระทำการใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 “เสนอหมิ่นศาสนามีความผิดในรธน.”

อีกด้าน ที่รัฐสภา นายสุเทพ สุวรรณเกต นายกสภานักวิชาการสมัชชามวลชน เพื่อความมั่นคงภายในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พร้อมด้วยตัวแทนสมาคมฯและผู้นำทุกศาสนา ยื่นหนังสือต่อ นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อให้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรจุให้การหมิ่นศาสนามีความผิด ไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประเทศไทยมีสังคมแบบพหุศาสนาและวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และความเชื่อทางศาสนา จึงมีความเปราะบางอย่างยิ่ง จึงควรต้องกำหนดให้การดูหมิ่นทุกศาสนามีความผิดไว้ในรัฐธรรมนูญ.



มาตราว่าด้วยการจัดตั้ง “พระวินยาธิการ” เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา  คปก.เห็นว่า เป็นเรื่องที่ผิดเจตนารมณ์ของการบวชในพุทธศาสนาอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น