xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภชัย” ชี้ทำประชามติ ผู้ลงคะแนนต้องมาใช้สิทธิเกินกึ่ง แนะถามแค่ “รับ-ไม่รับ” ง่ายสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศุภชัย สมเจริญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กกต.ระบุการทำประชาติร่างรัฐธรรมนูญควรถามแค่ “รับ-ไม่รับ” ร่างฯ ทั้งฉบับจะง่ายกว่าการแยกประเด็น ส่วนหลักเกณฑ์ควรให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งจึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคม เผยส่งความเห็นเสนอร่างแก้ไขฯ ให้รัฐบาลแล้วในหลายประเด็น

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า กกต.ได้เตรียมความพร้อมเรื่องของกฎหมายรองรับการทำประชามติไว้แล้ว แต่ต้องรอความชัดเจนว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะมีความเห็นอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกำหนดประเด็นที่จะทำประชามติซึ่งมองว่าการทำประชามติโดยถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะง่ายกว่าการถามหลายประเด็นพร้อมกัน และยืนยันการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันธ์กับรัฐบาล ส่วนบรรยากาศในขณะนี้ เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการทำประชามติ เพราะประชาชนได้รับทราบรายละเอียดของการร่างรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะใช้งบประมาณใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา แต่ไม่อยากให้กังวลเรื่องความคุ้มค่า เพราะการให้ข้อมูลกับประชาชนในเรื่องเนื้อหามีความสำคัญกว่า และจะเป็นทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แตกต่างจากเดิมอย่างไร

ประธาน กกต.กล่าวด้วยว่า ได้ส่งความเห็นของ กกต.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รวบรวมคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว โดย กกต.ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ที่จะต้องใช้บัตรเลือกตั้งขนาดใหญ่ ใช้เวลานับคะแนนนานและที่สำคัญหากมีการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถนับคะแนนได้ก็จะมีผลต่อการรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อที่ต้องนับรวมทั้งประเทศ อาจส่งผลต่อการเปิดประชุมสภานัดแรกด้วย รวมทั้งเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งที่ กกต.เสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่ กกต.เสนอ ทั้งนี้ยังเชื่อมั่นว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรับฟังความเห็นของ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติ และปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญใหม่

นายศุภชัยกล่าวว่า การจะให้ทำประชามติต้องไปแก้ไขที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งโดยปกติแล้วหากไม่มีเหตุการณ์อะไร หลักเกณฑ์การทำประชามตินั้นอันดับแรกต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทั้งหมด และหากรับร่างก็จะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากของผู้ที่มาใช้สิทธิ จึงจะถือว่าเป็นความเห็นของประชาชนทั้งประเทศ หรือถ้าหากคะแนนออกมาว่าไม่รับก็อาจดำเนินไปตามแนวทางที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเสนอ ส่วนการจะไปแก้ไขกฎหมายที่ไม่ใช่หลักเกณฑ์การทำประชามติดังที่กล่าวไปนั้น แม้จะสามารถทำได้แต่ก็ไม่ควร เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นเป็นที่ยอมรับในสากล

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ในขณะนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ แม้จะเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ คสช.ก็ได้มีประกาศให้ยกเว้นให้ พ.ร.ป.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ส่วนหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อกำหนดให้ทำประชามติ แต่พบว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ อาจทำให้เกิดปัญหาข้อจำกัดเวลาที่ปฏิบัติใช้จริง ก็เป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะต้องนำกฎหมายลูกนี้ไปปรับแก้ไขลดข้ออุปสรรค

ส่วน กกต.นั้นเป็นองค์กรในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายมาให้ใช้อย่างไรก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น อย่างไรก็ตาม กกต.ไม่สามารถออกระเบียบของสำนักงาน กกต.มาแก้ไขข้อจำกัดที่อาจเกิดในกฎหมายลูกได้ เนื่องจากระเบียบสำนักงานจะมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น