xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯห่วงขาดแคลนน้ำมัน โยนแม่น้ำ 5 สาย หาทางยุติปมสัมปทานให้ทุกฝ่ายพอใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายกฯกำชับเสนอทางออกเปิดสัมปทานรอบ 21 มาด้วย อย่ามัวแต่ห้าม ติง สปช. จะปฏิรูปเรื่องไหนให้นึกถึงความเป็นไปได้และทันเวลา พร้อมเสนอ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขเซ็นเซอร์สื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต ซึ่งใช้เวลาในการหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งถึงกรณีกระแสคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21ของรัฐบาล ว่า “มีแต่คนบอกว่าไม่ให้เปิดประมูลแล้วจะเอาที่ไหนมาใช้ บอกแต่ห้ามทำ แต่ไม่มีการเสนอทางออกมาให้ด้วย ยิ่งเฉพาะประเทศไทยไม่มีบริษัทที่จะสำรวจเกี่ยวกับพลังงานทั้งเอกชนและรัฐบาลก็ไม่มี แล้วจะให้ทำยังไง ก็ให้ไปคิดกัน”

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องประเด็นพลังงานขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงท่าที และนโยบายของรัฐบาล อย่าสร้างแรงกดดันให้กระทบต่อรัฐบาล ทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องพลังงาน และข้อมูลในเรื่องพลังงานควรพิจารณาจากข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ อย่าใช้ความเชื่อด้านพลังงานมาเป็นแนวทางในการทำงาน

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศ ว่า “มีการเสนอมามากเกินไป ไม่ใช่ใครคิดอะไรได้ ก็เสนอกันเข้ามา ขอให้ดูกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ ให้เสนอแต่เรื่องที่สามารถทำได้กับเวลาที่มี และขอให้บอกมาด้วยว่า ปัญหาที่มีคืออะไร มีอะไร แก้อย่างไร ขอให้บอกวีธีแก้ไขและเนวทางมาด้วย เพราะการปฏิรูปสามารถทำได้ ทั้งการปฏิรูปที่ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย หรือถ้าต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องรองรับ ก็ให้รีบเสนอมา เพื่อจะได้นำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านความมั่นคง กล่าวต่อที่ประชุมในฐานะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเสนอต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ไปแก้ไขเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อ ซึ่งเดิม กมธ.ยกร่างฯ ได้ยึดตามแนวทางรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้รัฐบาลสามารถเซ็นเซอร์ข่าวสารได้ในภาวะสงคราม และตัดถ้อยคำ “ในภาวะการรบ” ออก

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้ยกเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง โดยขอให้ กมธ.ยกร่างฯเพิ่มถ้อยคำเหตุการณ์ความไม่สงบเข้าไปด้วย โดยให้รัฐบาลสามารถเซ็นเซอร์ได้ เพราะไม่เช่นนั้น หากมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกไป อาจทำให้สถานการณ์หรือเหตุการณ์ทวีความยุ่งยากยิ่งขึ้น

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า อยากให้ไปดูว่าจะสามารถมีข้อยกเว้นในการเซ็นเซอร์สื่อ ในภาวะเหตุการณ์ความไม่สงบได้หรือไม่ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ บางส่วนได้ดูข้อกฎหมายแล้วพบว่า หากรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึก ทหารสามารถสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายแจกเผยแพร่สื่อได้อยู่แล้ว อีกทั้งในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ก็มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจขอความร่วมมือในเรื่องนี้ได้เช่นกัน แต่เรื่องนี้ก็จะถูกสังคมและสื่อมองได้ว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพได้


กำลังโหลดความคิดเห็น