กมธ.ยกร่าง รธน.สรุปนายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลภายนอกได้โดยไม่ต้องเป็น ส.ส. หวังแก้ปัญหายามเกิดวิกฤตการเมือง ส่วน ส.ว.ให้มี 200 คน มาจาก 5 ช่องทาง ทั้งอดีตนายกฯ อดีตประธานรัฐสภา อดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้นำเหล่าทัพ ประธานองค์กรวิชาชีพ รวมถึงภาคประชาชน โดยให้เลือกตั้งทางอ้อม พร้อมเพิ่มอำนาจเสนอร่างกฎหมายได้ ตรวจสอบประวัติผู้จะมาดำรงตำแหน่งใน ครม. ขณะเดียวกันยังให้รวมถอดถอนนายกฯ, รมต., ส.ส., ส.ว.ด้วย
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ข้อสรุปที่มานายกรัฐมนตรีจะมีที่มาเหมือนเดิมกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 172 คือมีที่มาจากการเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาฯ เป็นผู้นำความกราบขึ้นบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่จะไม่บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น เพื่อเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลภายนอกเมื่อเกิดเหตุวิกฤตทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น โดยธรรมชาติ และตรรกะทั่วไป เมื่อบัญญัติไว้ว่าให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือกนายกฯ และให้ประธานสภาฯ เป็นผู้นำความกราบขึ้นบังคมทูลฯ โดยทั่วไปนายกฯ น่าจะมาจาก ส.ส.
นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กำหนดให้มีจำนวนไม่เกิน 200 คน ซึ่งที่มาของ ส.ว.จะยึดหลักความหลากของกลุ่มในสังคไทย ไม่ใช่สะท้อนถึงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร โดยเบื้องต้นกำหนดหลักการให้ ส.ว.มีที่มาจาก 5 ช่องทาง ประกอบด้วย 1. มาจากการอดีตผู้นำในอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อาทิ นายกรัฐมนตรี, ประธานรัฐสภา เป็นต้น ที่จะต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง 2. อดีตข้าราชการระดับสูง อาทิ อดีตปลัดกระทรวง, อดีตผู้นำเหล่าทัพ 3. ประธานองค์กรวิชาชีพหรือผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, แพทยสภา 4. กลุ่มภาคประชาชน เช่น สหกรณ์การเกษตร, สหภาพแรงงาน, องค์กรภาคประชาชน โดยทั้ง 4 ช่องทางนี้จะมาจากกระบวนการสรรหาตามสัดส่วนที่จะกำหนดอีกครั้ง และ 5. ให้มีการเลือกตั้งทางอ้อม ผ่านการเลือกสรรคจากสภาวิชาชีพที่หลากหลาย จากนั้นให้นำบุคคลที่ได้รับการสรรหานั้นไปให้ประชาชนลงคะแนนรับรอง ซึ่งวิธีการเลือกตั้งจะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังได้กำหนดให้เพิ่มอำนาจ ส.ว.ด้วย ได้แก่ (1. สามารถเสนอร่างกฎหมายได้ โดยเมื่อร่างกฎหมายผ่านชั้นวุฒิสภาแล้วให้ส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ประเด็นดังกล่าวทาง กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาถึงประเด็นการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ (2. ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ก่อนจะนำความกราบขึ้นบังคมทูล โดยมีข้อเสนอให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และสมัชชาจริยธรรม ได้ตรวจสอบจริยธรรมของ ส.ส. รัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หากพบว่ามีความผิดจริยธรรม สามารถเข้าสู่กระบวนการถอดถอนได้
(3. วุฒิสภาสามารถลงมติร่วมกับ ส.ส.ในกรณีการถอดถอนนายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. , ส.ว. และข้าราชการระดับสูง โดยให้ใช้เกณฑ์คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา ขณะที่อำนาจและหน้าที่ของ ส.ว.ที่มีอยู่เดิม อาทิ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง, การอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ, การตั้งกระทู้ถาม ยังคงไว้เช่นเดิม
“การให้ ส.ว.ตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากนายกฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนั้น เบื้องต้นจะกำหนดให้มีเวลาตรวจสอบประมาณ 2 สัปดาห์ โดยประเด็นนี้จะทำให้เกิดความตระหนักก่อนที่นายกฯ จะเสนอชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีการหารือกันว่า ส.ว.ไม่ควรอยู่ยาว และมีวาระเพียง 3 ปีเท่านั้น โดยประเด็นดังกล่าวจะมีการหารือกันอีกครั้ง”