xs
xsm
sm
md
lg

ร่างรัฐธรรมนูญหมูกระทะ “วิษณุ” เผยเลือกของชอบจากฉบับก่อน - ถ้าเอาประชามติบวกเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เผยการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงมาตรา 35 ของฉบับชั่วคราว วิธีตั้งโจทย์เอาฉบับก่อนๆ มาดู ชอบอันไหนเอาไปเป็นกรอบ อันที่ไม่พอใจอย่าไปเขียน ร่างให้เสร็จใน 120 วัน แต่ถ้าจะประชามติก็บวกเพิ่ม แต่ตั้งแง่กลัวบ้านเมืองแตกแยก ส่วนร่าง พ.ร.บ.ชุมนุม สตช. ยังไม่ส่งมา คาดน่าจะอยู่ในมือ “ประวิตร” ปัดปรับ ครม. ชุดเล็ก รับ รมช.เกษตรดูแลปัญหายางพารา บอกให้ไปถามนายกฯ

วันนี้ (9 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ว่า ต้องยึดโยงมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำร่างครอบคลุมที่กำหนดกว่า 10 เรื่อง รวมถึงทบทวนถึงความจำเป็นขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

โดยกำหนดกรอบภายใน 60 วัน นับแต่การประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดแรกวันที่ 21 ต.ค. และนับจากวันที่ 21 ต.ค. ใน 15 วัน ต้องส่งชื่อกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 5 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 คน และ สปช. 20 คน โดยประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ คสช. เป็นผู้เสนอมา 1 คน ทั้งนี้ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไปจาก ครม. จะต้องไม่เป็นรัฐมนตรี หรือถ้าจะเป็นต้องลาออก และกรอบร่างอีกทางรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งหมดนำมาเป็นโจทย์เพื่อหาคำตอบ เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบังคับโจทย์ แต่ไม่ใช่ใบสั่ง วิธีตั้งโจทย์คือ รัฐธรรมนูญถาวรฉบับก่อนๆ มาดู อะไรที่ชอบใจก็นำไปกำหนดเป็นกรอบ อะไรที่ไม่พอใจให้โจทย์ไปว่าอย่าไปเขียน

เมื่อถามว่า เริ่มพูดถึงที่มานายกรัฐมนตรี จะมาจากเลือกตั้งหรือเป็นคนนอก นายวิษณุ ตอบว่า เป็นเรื่องที่ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าสนใจ เชื่อว่าในที่สุด สปช. จะถกเรื่องนี้และนำไปใส่ในกรอบพิจารณาร่าง รวมถึงที่มาของ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ เมื่อถามว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรไม่สามารถร่างแล้วเสร็จภายใน 1 ปี รัฐบาลจะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บังคับร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ 120 วัน เป็นการดำเนินการเสร็จขั้นที่ 1 แต่ละขั้นตอนกำหนดระยะเวลาชัดเจน จะเบี้ยวไม่ได้ ยกเว้นถ้าทำประชามติก็ต้องบวกเวลาเพิ่ม สำหรับการลงประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำ เพราะคิดว่าหากมีการบังคับก็จะต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เมื่อทำแล้วมีทั้งผลดี ผลเสีย ซึ่งผลดีคือจะเป็นการตอบความในใจของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วม ผลเสียคือหากมีการทำประชามติอาจต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมืองได้

นายวิษณุ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ. ชุมนุมในที่สาธารณะ ว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังไม่ได้ส่งมา คิดว่า สตช. คงไปแก้อะไรเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในระยะหลัง เพราะตอนทำกฎหมายในระยะแรกมันเป็นช่วงเวลาหลายปีมาแล้วประมาณ 4-5 ปี ซึ่งเมื่อ สตช. ปรับปรุงเสร็จก็ส่งกลับคืนมา ซึ่งโดยช่องทางแล้วก็ต้องส่งกลับคืนมาที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับ สตช. จากนั้นจึงจะส่งมาที่ ครม. ซึ่งตนอาจจะต้องให้ความเห็นในช่วงนี้ โดยเฉพาะสิ่งที่ สตช. แก้นั้นผูกพันกับหลายมาตราอื่นหรือไม่ ซึ่งอาจต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยดูอีกที แต่ถ้าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ไม่กระทบอะไรก็เสนอเข้าสภาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เข้าใจว่า สตช. น่าจะส่งมาที่ พล.อ.ประวิตร แล้ว เพราะเจอกันเมื่อวันประชุมร่วมได้รับการยืนยันจาก สตช. ว่าเสร็จแล้ว พร้อมส่งให้รัฐบาลแล้ว

นายวิษณุ กล่าวถึงกระแสข่าวจะมีการปรับ ครม. โดยจะมีการรับ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพิ่มขึ้น ว่า ตนไม่ทราบ แต่เห็นจากข่าวนี้จากหนังสือพิมพ์ แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ตนไม่ทราบไม่รู้ว่ากระทรวงเกษตรฯ เสนอตามที่เป็นข่าวหรือไม่ หรือเสนอแล้วนายกรัฐมนตรีจะว่าอย่างไร ตนไม่ทราบ ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามข่าวเห็นว่าจะเสนอให้นายอำนวย ปะติเส มาเป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ เพื่อดูแลปัญหาเรื่องยางพารา รองนายกฯ กล่าวว่าไม่ทราบ คงต้องไปถามนายกฯ เพราะอำนาจอยู่ที่นายกฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น