ประธาน สนช.เตรียมบรรจุถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” คดีทุจริตจำนำข้าว เข้าที่ประชุมนัดพิเศษ 12 พ.ย. ยันตรวจสอบแล้วถอดถอนได้ ส่วนกรณี “นิคม-สมศักดิ์” ยังไม่ชัด ต้องรอที่ประชุมหารือ 6 พ.ย.
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า ตนได้รับเรื่อง ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้พ้นจากตำแหน่งจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเอกสารประกอบหลายร้อยหน้า ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติการณ์จงใจกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 178 ส่อขัดต่อ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน 2534 มาตรา 11 (1) และยังขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 58 ซึ่งตนและวิป สนช.ได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้วเห็นว่า แม้สำนวนจะอ้างฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกเลิกไปแล้ว แต่สำนวนถอดถอนนี้ยังได้อ้าง การทำความผิดตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน 2534 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ที่ยังคงบังคับใช้อยู่ ดังนั้นจึงสั่งบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมสนช.นัดพิเศษ ในวันที่ 12 พ.ย. เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป ซึ่งตามข้อบังคับที่ 150 ตนจะได้ส่งสำเนาเอกสารไปให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และสมาชิก สนช.ได้รับทราบเพื่อพิจารณาแล้ว
ส่วนกรณีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายพรเพชรกล่าวว่า มีการนัดประชุมกรณีดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 6 พ.ย. เนื่องจาก สนช.ยังคงสงสัยในฐานความผิดของสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคมที่ยังไม่แน่ชัด เพราะฐานความผิดนั้น ผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกเลิกไปแล้ว วิป สนช.จึงมีมติให้นำเข้าสู่การประชุม สนช.ในวันที่ 6 พ.ย. ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจ สนช.หรือไม่
ส่วนการถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ต่างจากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างไรนั้น นายพรเพชรกล่าวว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตรวจสอบแล้วเห็นว่า คำร้อง ข้อกล่าวหา ฐานความผิดนั้นครบถ้วน แม้จะอ้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไป แต่ก็ยังมีฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ยังบังคับใช้อยู่ ตนดำเนินการไปตามข้อบังคับ แต่กรณีนายนิคมและนายสมศักดิ์นั้นยังไม่ชัดว่าสามารถดำเนินการตามข้อบังคับได้หรือไม่ จึงต้องขอความเห็นจากที่ประชุมในวันที่ 6 พ.ย. ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีประเด็นใดต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และการทำงานของ สนช.ไม่ได้ยืดเยื้อ
สำหรับสัดส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สนช.5 คน ล่าสุดมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทั้งสิ้น 11 คน โดยแต่ละคนมีความรู้ความสามารถ มีความเหมาะสม ไม่ขัดต่อคุณสมบัติ ซึ่งวิป สนช.เห็นว่าเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง จะเสนอรายชื่อบุคคลผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทั้ง 11 คน ให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.ได้ลงมติเลือกให้เหลือ 5 คน ในวันที่ 30 ต.ค. เพื่อไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรม โดยผู้ได้รับการเลือกทั้ง 5 คนจะต้องเป็นผู้เสียสละในการทำหน้าที่ทั้ง สนช.และกรรมาธิการยกร่างฯ อีกทั้งยังต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย