ประชุมสภานิติบัญญัติฯ ผ่านร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ 101 ตุลาการศาลฯ ได้เฮ กมธ.แก้ไขคืนสิทธิ กศป.อยู่ต่ออีก 6 เดือนหลังกฎหมายประกาศใช้
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่... ) พ.ศ. .... ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีการแก้ไขทั้งหมด 8 มาตรา และตัดออก 1 มาตรา ซึ่งนายกล้านรงค์ จันทิก ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่าจากการพิจารณาของคณะกรรมาธิการที่มีบุคคลภายนอกทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้วมกันพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นภายในศาลปกครองด้วยเหตุและผล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเป็นรายมาตรา และมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบตามความที่ คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไข กระทั่งเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 12 ที่กำหนดให้ดำเนินการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (กศป.) ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติให้ตัดออกทั้งมาตรา แต่นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็น เพราะต้องการให้คงมาตรา 12 ไว้
นายวิชัยอภิปรายว่า องค์ประกอบ กศป.เป็นการบัญญติใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯเป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยมีการระบุไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯมาก่อน ดังนั้น องค์ประกอบของ กศป.ที่จะกำหนดขึ้นมาใหม่ตามร่างฯที่สภาฯรับหลักการ และกำลังพิจารณากันอยู่นี้ ก็ควรมีกำหนดให้การเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดด้วย ดังนั้น การตัดมาตรา 12 ออกทั้งมาตราน่าจะไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน องค์ประกอบของ กศป.มีอยู่ไม่ครบตามจำนวน เพราะสัดส่วนจากวุฒิสภา และ ครม.หมดวาระลงไปแล้ว ก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2550 จะสิ้นสุดลง และจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ กศป.ทำหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน จึงน่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบังคับใช้แล้ว
ด้าน นายกล้าณงค์ กล่าวว่า ร่างฯเดิมที่สภาฯมีมติรับหลักการนั้น มีการยกเลิก กศป.ทั้งหมด และจะมีการตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ในระหว่างตั้งขึ้นใหม่นั้น ได้ให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองเข้าไปทำหน้าที่แทน ซึ่งคณะกรรมาธิการเห็นว่า กศป.ชุดนี้ที่ยังเหลือวาระอยู่นั้น จะอยู่ถึงวันที่ 19 เมษายน 2558 หรืออีกราว 6 เดือนเท่านั้น จะต้องหมดวาระไปด้วย เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นการริดรอนสิทธิ กศป.ที่ยังอยู่ในวาระ อย่างไรก็ตาม การที่คณะ กมธ.ตัดมาตรา 12 เพราะต้องการให้ กศป.อยู่ต่อไป จนกว่าจะครบวาระ และเมื่ออยู่ครบวาระแล้ว โดยได้เขียนวิธีการคัดเลือก กศป.ที่ว่างลงได้ไว้ในมาตรา 13 แล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบตามการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก และยังได้มีมติในวาระ 3 เห็นชอบ 169 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่...) พ.ศ. ....ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฏหมายต่อไป
ทั้งนี้ ก่อนที่สภาฯ จะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ได้มีตุลาการ 101 คนเข้าชื่อเพื่อทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เพื่อขอให้ระงับหรือชะลอการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ผ่านรับความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง กระทั่งนายพรเพชรเปิดให้ตุลาการฝ่ายที่เห็นต่าง และเห็นด้วยกับร่างฯ ดังกล่าวเข้าเป็นร่วม กมธ.เพื่อพิจารณา และที่สุดที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติแก้ไขร่างฯ และบังคับใช้เป็นกฎหมายในที่สุด