xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนร้องสปช.-กมธ.ยกร่างฯ "กม.ดิจิตอล"ละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 ก.พ.) น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง พร้อมด้วยตัวแทนองค์กรเครือข่าย สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิโลกสีเขียว และสมาคมตาบอดแห่งประเทศไทย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ต่อชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล
น.ส.สฤณี กล่าวว่า กฎหมายชุดนี้ไม่ใช่กฎหมายทั่วไปที่ว่าด้วยการทำงานของรัฐ แต่เป็นกฎหมายเชิงโครงสร้าง และเชิงปฏิรูป ที่จะยกเครื่องการทำงานด้านทรัพยากรคลื่นความถี่ การสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ รวมทั้งยังเป็นการวางรากฐาน "เศรษฐกิจดิจิตอล" เป็นครั้งแรก ดังนั้นสภาปฏิรูป หรือฝ่ายต่างๆ ควรรับรู้และหาทางแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสี่ยงในการบริหารประเทศ
นอกจากนี้ สาระสำคัญของชุดกฎหมายละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวาง ทั้งสิทธิในการแสดงออก สิทธิส่วนบุคคล คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สปช. ควรเข้ามาพิจารณา และหาแนวทางเพื่อทำงานกับรัฐบาล หรือฝ่ายยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะท้ายที่สุดแล้ว กฎหมายชุดนี้ อาจจะไปละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หลังครม.มีมติเห็นชอบชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล หลายฝ่ายได้แสดงความกังวลต่อชุดกฎหมายดังกล่าวจำนวนมากว่า มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง แม้ว่าภาครัฐจะชี้แจงว่า ยังอยู่ในขั้นตอนรับหลักการเท่านั้น แต่น่าสังเกตว่าชุดร่างกฎหมายนี้ สะท้อนเรื่องความมั่นคงมากว่าการส่งเสริมเศรษฐกิจ สาระของร่างกฎหมายดังกล่าว มีข้อกังวลที่อาจกระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานหลายประการ อาทิ การให้อำนาจหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง การขาดกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ และกลไกคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจน จนอาจคุกคาม หรือรอนสิทธิภาพต่าๆ นอกจากนี้ ยังไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ เช่น คณะกรรมการตาม ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่มีกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากด้านสิทธิเสรีภาพ หรือการคุ้มครองผู้บริโภคเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว
นอกจากนี้ กระบวนการร่างกฎหมายทั้งหมดไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชน แม้ว่า ณ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางภาครัฐ ได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อรวบรวม ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ถือได้ว่ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ที่จะทำให้ประชาชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มเข้ามีมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง
อีกทั้งเครือข่ายพลเมือเน็ตรณรงค์ให้มีการหยุดชุดกฎหมาย "ความมั่นคงดิจิตอล" เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ผ่านเว็บไซต์ change.org และมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 20,678 ราย เพื่อเรียกร้องให้มีการชะลอกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชาชนจากทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายนี้ โดยที่มีกลไก หรือกติการ่วมให้ภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็นได้ในรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า กฎหมายชุดนี้จะ ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และจะสารมารถสร้างเศรษฐกิจดิจิตอล ได้
นางเอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน กล่าวถึงภาพรวมของชุดกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการย้อนกลับของอำนาจในการจัดสรรคลื่น ที่เป็นทรัพยากรของชาติ ให้กลับไปอยู่ในอำนาจของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับแนวทางการปฏิรูปสื่อ และกิจการโทรคมนาคมต่างๆ แม้ว่าที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 การปฏิรูปดังกล่าวจะยังไม่เห็นผลตามเจตนารมณ์มากนัก เพราะการจะปฏิรูปให้สำเร็จ จะต้องใช้เวลา และการให้เวลาถือเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ความจริงใจต่อการปฏิรูปของประเทศ หากกฎหมายชุดนี้ผ่าน ก็สรุปได้เลยว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่แอบอิงอยู่กับอำนาจของหน่วยงานภาครัฐ มากกว่าการทำเพื่อพัฒนาประเทศ รวมถึงยังเป็นการตอกย้ำว่า การปฏิรูปที่ไม่เกิดผลที่ผ่านมา เพราะมีอำนาจดั้งเดิมเขามาแทรกแซงอยู่เสมอ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า การปฏิรูป ถือเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ภายในประเทศไทย
ด้านนายจุมพล กล่าวว่า ตนในนามประธานกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยี เรื่องที่นำมายื่น อยู่ในกระบวนการการศึกษา เพื่อที่จะนำมาเป็นแนวคิดหรือแนวทางในเรื่องของการปฏิรูปสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศในอนาคต รวมถึงเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ ต้องบอกว่าเราได้นำมาพิจารณาแล้ว จึงอยากฝากบอกว่า ไม่ต้องกังวล เราได้รับหนังสือไว้ และพร้อมที่จะนำเอาไปเป็นข้อคิดหรือเป็นแนวในการศึกษาด้วย
ขณะที่ นายคำนูณ กล่าวว่า ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะนำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ไปทำสำเนาแจกให้ กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คนพิจารณาศึกษาต่อไป เพราะเรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ร่วมถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่าง มีความมุ่งหมายที่จะขยายสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนด้วยกันทั้งนั้น เรายินดีที่จะรับไปศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น