xs
xsm
sm
md
lg

คำนูณงงจุดยืนกปปส. กลับลำไม่เอานายกฯคนนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (5 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn ถึงเรื่องการเปลี่ยนท่าที่ของ กปปส. ต่อประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
“ข้อสรุปเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีเสียใหม่ โดยไม่บัญญัติบังคับว่าจะต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น ก่อให้เกิดเสียงไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางพอสมควร โดยเฉพาะจากนักการเมือง แม้แต่โฆษก กปปส. ก็ไม่เว้น !
โดยบอกในทำนองว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่าได้อ้าง กปปส. !!
ประเด็นนี้ ผมฟังจากข่าวค่ำของ ช่อง 9 อสมท คืนนี้เอง (4ม.ค.) หากผิดพลาดไม่ครบถ้วนประการใด ต้องขออภัย
แต่ก่อนหน้านี้ หัวหน้าพรรคของท่านโฆษก กปปส. ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ในระดับหนึ่งมาแล้ว !!
การที่ฟากฝั่งหนึ่งไม่เห็นด้วยกับประเด็นเปิดกว้างไม่บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น พอเข้าใจได้ เพราะเป็นจุดยืนเดิมมาโดยตลอดช่วงวิกฤตเกือบ 10 ปีมานี้ จุดยืนที่เห็นว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง อะไรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาธิปไตยทั้งสิ้น จุดยืนนี้ถูกหรือผิด หรือมีที่มาอย่างไรเป็นเรื่องหนึ่ง ณ ที่นี้เพียงแต่บอกว่าฟากฝั่งนี้ยืนอย่างนี้มาโดยตลอด ครั้งนี้ยืนอยู่จุดเดิมอีก จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก แต่กับอีกฟากฝั่งหนึ่งมามีความเห็นตรงกันกับฟากฝั่งที่ต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอดนี่ผมยังต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจอยู่
ผมไม่เคยได้ยินกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคนใดอ้าง กปปส. ได้ยินแต่ว่าการกำหนดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีให้เปิดกว้างไว้ย่อมจะดีกว่า เพราะในบางสถานการณ์ ประเทศอาจมีความจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากส.ส. แล้วก็ยกตัวอย่างเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่มีการเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรี ที่เป็นคนกลาง และไม่ได้มาจากส.ส. เพื่อแก้ไขวิกฤต แต่ไม่สำเร็จ เพราะทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2540 บังคับไว้ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เท่านั้น
ช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระบวนการเรียกร้องที่อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม 2549 กล่าวว่า สามารถทำได้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะมีมาตรา 7 รองรับไว้ แต่หลังจากปรากฏกระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เหตุผลเรื่อง มาตรา 7 เป็นอันตกไป ไม่มีใครพูดถึงอีก
ในช่วงก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีข้อเรียกร้องให้รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 รักษาการประธานวุฒิสภา ใช้ความกล้าหาญ ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อผู้เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้งประกาศบนเวที และนำมวลมหาประชาชน กปปส. เดินขบวนมาถึงรัฐสภา เพื่อให้กำลังใจ และให้แก้วิกฤตด้วยวิธีดังกล่าว โดยเลขาธิการ กปปส.ได้เข้าพบรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นการเฉพาะด้วย
การเรียกร้องให้รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เสนอชื่อบุคคลผู้เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่หลังเดือนธันวาคม 2556 เป็นต้นมา ก็เท่ากับ ต้องเสนอผู้ที่ไม่ได้เป็นส.ส. สถานเดียว เพราะขณะนั้นไม่มีส.ส.เหลืออยู่สักคนเดียว เพราะมีการยุบสภาแล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับช่วง เดือนมีนาคม 2549
โฆษก กปปส. ควรถามเลขาธิการ กปปส. ในข้อเสนอที่ประกาศออกมาหลายครั้งหลายหน เช่นเดียวกับควรถามหัวหน้าพรรคของท่าน ถึงเหตุการณ์ในช่วงเดือนมีนาคม 2549 ว่า ท่านเคยแสดงความเห็นไว้อย่างไร และข้อเสนอนั้นเป็นไปไม่ได้ในเวลาต่อมา เพราะอะไร
ก็จะได้ความจริงในอดีต 2 ครั้งว่า ในบางสถานการณ์ประเทศมีความจำเป็นต้องได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากส.ส.หรือไม่ อย่างไร และสถานการณ์นั้น หมดไปแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีทางเกิดขึ้นอีกแล้วอย่างนั้นหรือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกคน จะได้รับฟังให้ชัดเจน แล้วนำไปประกอบการพิจารณา
หมายเหตุ : ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นในฐานะส่วนตัว "
กำลังโหลดความคิดเห็น