xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เรื่องที่ไม่เล่าเช้านี้” ฟ้อง “สรยุทธ” โกง “อสมท”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรยุทธ สุทัศนะจินดา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นคดีความที่ต้องบอกว่า “เพลีย” และ “ละเหี่ยใจ” เป็นอย่างยิ่งสำหรับกรณีนักเล่าข่าวคนดัง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ร่วมกับคณะกระทำความผิดในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำตามความผิดในข้อหา “โกง” ค่าโฆษณา บริษัท อสมท. จำกัด ( มหาชน) วงเงิน 138,790,000 บาท

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะนับตั้งแต่เกิดเรื่องก็ใช้เวลาเกือบสิบปีเลยทีเดียวกว่ากระบวนการจะเดินทางมาถึงขั้นตอนสำคัญคือ “อัยการสูงสุด” มีคำสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 , 8 , 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ 91 กรณีนายสรยุทธ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม กระทำการโฆษณาเกินเวลา ขณะจัดทำรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ระหว่างปี 2548 - 2549 โดยไม่ชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้กับ บริษัท อสมท. จำกัด ( มหาชน) จำนวนเงิน 138,790,000 บาท

วันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยรายละเอียดหลังตั้งโต๊ะแถลงข่าวสั่งฟ้องว่า หลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวน ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดแล้ว ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2556 อัยการสูงสุดได้แจ้งข้อหาไม่สมบูรณ์ เพื่อให้คณะทำงานอัยการ และ ป.ป.ช. ร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์และได้ข้อยุตินั้น ขณะนี้คณะทำงานผู้แทนทั้งฝ่ายอัยการ และ ป.ป.ช. รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ซึ่งเสนออัยการสูงสุดแล้วเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา จึงจะมอบให้คณะทำงานผู้แทนของอัยการสูงสุด นำความเห็นไปประชุมร่วมกับคณะทำงาน ป.ป.ช. อีกครั้งก่อนเพื่อให้ได้ข้อยุติในการดำเนินการฟ้องคดีต่อไปโดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่าคณะทำงาน ป.ป.ช. จะไม่มีความเห็นต่างจากนี้ เนื่องจากในการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ก็สรุปความผิดผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 รายตามที่กล่าวมา

สำหรับอัตราโทษความผิดดังกล่าว นางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การฯ มาตรา 6 ฐาน พนักงานเรียกรับสินบน ระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท, มาตรา 8 ฐาน เป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต โทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 11 ฐานพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท ส่วนนายสรยุทธ เมื่อไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบว่ากระทำผิดจริง ก็ต้องรับโทษ 2 ใน 3

กล่าวสำหรับต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้นั้น เริ่มต้นเมื่อนายสรยุทธ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีนายสรยุทธ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในอัตราร้อยละ 99.9 มีฐานะเป็นผู้มีอำนาจทำการ 1 และนางสาว สุกัญญา แซ่ลิ่ม เป็นผู้มีอำนาจทำการ 2 โดยมีนายสรยุทธ เป็นกรรมการผู้จัดการ มี น.ส.อังคณา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ้ม เป็นกรรมการบริษัท โดยประกอบธุรกิจประเภทการผลิตและสร้างสรรค์งานภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในทุกๆ รูปแบบ รวมทั้งการดำเนินการผลิตและสร้างสรรค์แผ่นพับเอกสารแนะนำองค์กร

ต่อมาบริษัทไร่ส้มฯ ได้ทำสัญญาผลิตรายการกับบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2549 ร่วมกันผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.00-13.00 น. โดย อสมท. ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้บริษัท ไร่ส้มฯ ได้ครั้งละ 5 นาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัท ไร่ส้มฯ จะต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท. ในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท และร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ทุกคืนวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.30-22.00 น. โดย อสมท. ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้บริษัท ไร่ส้มฯ ได้ครั้งละ 2 นาที 30 วินาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัท ไร่ส้มฯ ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท. ในอัตรานาทีละไม่ต่ำ กว่า 2.4 แสนบาท

รายการคุยคุ้ยข่าวของนายสรยุทธโด่งดังเป็นพลุแตกในช่วงเวลานั้น และนั่นเป็นที่มาซึ่งทำให้บริษัทห้างร้านกิจการต่างๆ แห่แหนกันมาซื้อเวลาโฆษณาเป็นจำนวนมาก กระทั่งในที่สุดจึงเกิดการเล่นแร่แปรธาตุเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. ภายหลังมีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ปรากฏว่า นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด (นางชนาภา บุญโต) เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด อสมท. เป็นผู้รับผิดชอบผู้เดียวในการจัดทำคิวโฆษณารวมและเป็นผู้รายงานโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงินจากบริษัท ไร่ส้มฯ ได้ให้ความช่วยเหลือบริษัท ไร่ส้มฯ โดยไม่มีการรายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้มฯ เพื่อเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549

ขณะที่นายสรยุทธ ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารธนชาติ สาขาพระราม 4 จ่ายเงินให้นางพิชชาภา โดยมีการทำเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่ายรวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 739,770 บาท เพื่อตอบแทนที่นางพิชชาภา มิได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้มฯ

เดือนกรกฎาคม 2549 นางบุณฑนิก บูลย์สิน รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการตลาด 1 ได้สังเกตพบว่า รายการข่าวเที่ยงคืน มีการออกอากาศล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด จึงได้ทำการตรวจสอบและได้เรียกนางพิชชาภามาสอบถามต่อหน้าทุกคน ซึ่งนางพิชชาภาได้รับสารภาพต่อหน้าทุกคนว่า บริษัท ไร่ส้มฯ มีการโฆษณาเกินเวลา และไม่มีการรายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจริง และนางพิชชาภาได้ใช้น้ำยาลบคำผิดเฉพาะคิวโฆษณาเกินเวลาในส่วนของบริษัท ไร่ส้มฯ ในใบคิวโฆษณารวมของ อสมท. เพื่อปกปิดความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามคำแนะนำของนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานของบริษัท ไร่ส้มฯ ก่อนที่จะเกิดการตรวจสอบเรื่องนี้ขึ้น

หลังจากนั้นบริษัท ไร่ส้มฯ ได้มีการชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้กับ อสมท. ในวันที่ 31 สิงหาคม 2549 และวันที่ 15 กันยายน 2549 เป็นจำนวนเงิน 103,953,710 บาท โดยบริษัท ไร่ส้มฯ ขอหักส่วนลด 30% จากยอดทั้งหมดจำนวน 138,790,000 บาท แต่ อสมท. ไม่ยินยอมให้หักส่วนลด 30% เนื่องจากบริษัท ไร่ส้มฯ มิได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำกันไว้ และไม่ได้ชำระเงินให้ถูกต้องตามสัญญา อสมท. จึงคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 138,790,000 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2549 เป็นจำนวนเงิน 4,464,197 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม 9,715,300 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 152,969,497 บาท ซึ่งบริษัท ไร่ส้มฯ ยินยอมชำระเงินดังกล่าวให้ อสมท. ในวันที่ 20 ตุลาคม 2549

ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าการกระทำของนางพิชชาภา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 การกระทำของนางอัญญา อู่ไทย ซึ่งเป็นหัวหน้างานและเป็นผู้บังคับบัญชาในฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า สำนักกลยุทธการตลาด อสมท. มีมูลความผิดทางวินัย

การกระทำของนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ซึ่งได้ใช้ให้นางพิชชาภา ไม่ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญา ให้กับผู้บังคับบัญชาทราบ และบริษัท ไร่ส้มฯ (ในฐานะนิติบุคคล) มีมูลความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยและให้ส่งรายงานเอกสาร และความเห็นไปยัง อสส. เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น

หลัง ปป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายสรยุทธที่บัดนี้ย้ายไปทำงานที่ช่อง 3 ได้ชี้แจงผ่านรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ว่า น้อมรับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. แต่ต้องการไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาล หลังจากนั้นวันที่ 31 ตุลาคม 2555 นายสรยุทธ ได้ส่งหนังสือขอปฏิเสธการเดินทางมาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมาธิการ โดยอ้างว่า เรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บริษัท ไร่ส้มฯ จึงจำเป็นต้องสงวนข้อมูลข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดี พร้อมชี้แจงต่อกระแสทวงถามด้านจริยธรรม

ขณะเดียวกันก็ใช้สิทธิยื่นฟ้องศาลปกครองเรียกร้องเงินกรณีค่าโฆษณาส่วนเกินจาก อสมท.กว่า 253 ล้านบาทด้วย

อย่างไรก็ดี หลังจาก ป.ป.ช. ส่งสำนวนการไต่สวนคดีนี้ให้กับ อสส. ปรากฏว่า อสส. เห็นว่าสำนวนคดีนี้ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็น ขณะที่นายสรยุทธ ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส. ด้วย ทำให้คณะทำงานทั้งสองฝ่ายไม่สามารถที่จะหาข้อยุติร่วมกันได้ เนื่องจาก ป.ป.ช. เห็นว่าสำนวนการไต่สวนคดีนี้มีความสมบูรณ์แล้ว

หลังจากนั้นได้มีการประชุมคณะทำงานร่วมฯทั้งสองฝ่ายพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีนี้ ยืดเยื้อยาวนานกว่าปีเศษ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557 มีการประชุมนัดสุดท้าย โดยนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุฯไต่สวนคดีนี้ เห็นว่า การประชุมในครั้งนี้ได้ข้อยุติสมบูรณ์แล้ว เห็นควรให้ อสส. เป็นผู้ฟ้องคดีได้ ก่อนจะส่งสำนวนการไต่สวนฉบับล่าสุดให้แก่ อสส.

และเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 อสส. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีนี้ของ ป.ป.ช. แล้วมีความเห็นตรงกันกับ ป.ป.ช. ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน (พนักงาน อสมท. 2 คน-นายสรยุทธ 1 คน-บริษัท ไร่ส้มฯ) มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจริง จึงให้คณะทำงานฝ่าย อสส. นำความเห็นนี้กลับไปยังคณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช. พิจารณาข้อยุติอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น